วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วิธีปฏิบัติที่ง่ายแต่ละกิเลสและบรรลุธรรมได้

บางทีบุคคลทั้งหลายไม่สามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้ อาจเป็นเพราะขาดคุณสมบัติบางอย่างจริงๆ เช่นไม่ได้อบรมปัญญามาจริงๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจธรรม ก็นับว่าน่าเสียดายเพราะคงหากัลยาณมิตรมาช่วยแนะนำได้ไม่ง่ายนัก บางทีหนังสือดีๆอาจช่วยได้แต่ก็ต้องใช้เวลาบ้าง แต่ว่ามีบางท่านมีศักยภาพในการบรรลุธรรม เพราะมีสติปัญญาดี ผมพบคนแบบนี้มากแน่ครับ ในมหาวิทยาลัยต่างๆนั่นเอง การเรียนเรื่องทางโลกช่วยขัดเกลาสติปัญญามนุษย์ได้อย่างดี ปัญหาคือทัศนคติของคนเหล่านั้นในการใช้ชีวิตยังไม่สอดคล้องกับการที่จะบรรลุธรรมในพระบวรพุทธศาสนา พระสูตรในวันนี้มีใจความสำคัญที่เทวตาสูตรที่4 ท่านพระสารีบุตรได้แนะนำทัศนคติพื้นฐานที่จะนำไปสู่การบรรลุธรรมได้แบบง่ายๆครับ ดังนี้

1.ประการแรกต้องมีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การรักษาศีล ความไม่เป็นคนกระด้าง ยอมรับในการดำรงอยู่โดยสงบสุขของผู้อื่น และความเป็นผู้
มีมิตรดีด้วยตนเองก่อน
2.บางท่านสงสัยว่าทำไมต้องเป็นตามข้อแรก ขออธิบายว่า พุทธธรรมนั้นมีรากฐานบนเงื่อนไขตามข้อแรกทั้งนั้น ถ้าท่านผู้อ่านประพฤติตามข้อแรกได้ ธรรมทั้งหลายจะดูสอดคล้องกับอุปนิสัยของท่านผู้อ่านไปเสียหมด สามารถปฏิบัติธรรมโดยไม่ลำบากเลยครับ ถึงท่านผู้อ่านไม่ศึกษาพระไตรปิฎกต่อไปก็สามารถมีชีวิตโดยผาสุกไปตลอดทั้งชีวิตแล้วครับ แต่ถ้าท่านผู้อ่านต้องการความก้าวหน้าทางธรรมไปอีกระดับก็ให้กล่าวธรรมตามข้อแรกให้ผู้อื่นได้ทราบ
3.ชักชวนผู้อื่นปฏิบัติตามข้อแรก
4.กล่าวสรรเสริญผู้ปฏิบัติตามธรรมข้อแรกตามความเป็นจริง

จะเห็นว่าเป็นแนวการปฏิบัติที่เรียบง่ายมากๆ แต่รวมเอาใจความสำคัญของพระสูตรอื่นๆในวรรคนี้ไว้ทั้งหมด แม้เนื้อหาพระสูตรอื่นนั้นดูจะปฏิบัติยากกว่าครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เทวตาวรรคที่2 ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

************************************************
เทวตาวรรคที่ ๒
อนาคามิสูตร
[๓๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้แล้ว ย่อม เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ความเป็นผู้ไม่มีหิริ ๑ ความเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑ ความ เป็นผู้เกียจคร้าน ๑ ความเป็นผู้มีสติเลอะเลือน ๑ ความเป็นผู้มีปัญญาทราม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้ไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ความเป็นผู้ไม่มีหิริ ๑ ความเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑ ความเป็นผู้เกียจคร้าน ๑ ความเป็นผู้มีสติเลอะเลือน ๑ ความเป็นผู้มีปัญญาทราม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ฯ
จบสูตรที่ ๑
อรหัตตสูตร
[๓๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้แล้ว ย่อม เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ถีนะ ๑ มิทธะ ๑ อุทธัจจะ ๑ กุกกุจจะ ๑ ความไม่มีศรัทธา ๑ ความประมาท ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้ไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำ ให้แจ้งซึ่งอรหัต ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ถีนะ ๑ มิทธะ ๑ อุทธัจจะ ๑ กุกกุจจะ ๑ ความไม่มีศรัทธา ๑ ความประมาท ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละ ธรรม ๖ ประการนี้ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ฯ
จบสูตรที่ ๒
มิตตสูตร
[๓๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรลามก มีสหายลามก มีเพื่อนฝูง ลามก เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้มิตรลามกและประพฤติตามมิตรลามกเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุไม่บำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญเสขธรรม ให้บริบูรณ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ไม่บำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จัก บำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ไม่บำเพ็ญศีลทั้งหลาย ให้บริบูรณ์แล้ว จักละกามราคะ รูปราคะ หรืออรูปราคะ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะ มีได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนฝูงดี เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้มิตรดี และประพฤติตามมิตรเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ บำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์ ข้อนี้ย่อมเป็น ฐานะที่จะมีได้ บำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์แล้ว จักละกามราคะ รูปราคะ หรืออรูปราคะ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ
จบสูตรที่ ๓
ฐานสูตร (อารามสูตร)
[๓๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ยินดีในการ คลุกคลีด้วยหมู่ ประกอบความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ชอบคณะ ยินดีคณะ ประกอบความยินดีในคณะ จักเป็นผู้อยู่รูปเดียว ยินดียิ่งในวิเวก ข้อนี้ไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้ เมื่อไม่อยู่รูปเดียว ยินดียิ่งในวิเวก จักถือนิมิตแห่งจิต ข้อนี้ไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้ เมื่อไม่ถือนิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฐิให้สมบูรณ์ ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ไม่บำเพ็ญสัมมาทิฐิให้สมบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญสัมมาสมาธิ ให้สมบูรณ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ไม่บำเพ็ญสัมมาสมาธิให้สมบูรณ์แล้ว จักละสังโยชน์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ไม่ละสังโยชน์แล้ว จักกระทำให้แจ้ง ซึ่งนิพพาน ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีในการคลุกคลี ด้วยหมู่ ไม่ประกอบความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ชอบคณะ ไม่ยินดีคณะ ไม่ประกอบความยินดีคณะ จักเป็นผู้อยู่รูปเดียวยินดียิ่งในวิเวก ข้อนี้ย่อมเป็น ฐานะที่จะมีได้ เมื่อเป็นผู้อยู่รูปเดียวยินดียิ่งในวิเวก จักถือนิมิตแห่งจิต ข้อนี้ ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อถือนิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฐิให้สมบูรณ์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ บำเพ็ญสัมมาทิฐิให้สมบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญสัมมาสมาธิให้สมบูรณ์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ บำเพ็ญสัมมาสมาธิให้สมบูรณ์ แล้ว จักละสังโยชน์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ละสังโยชน์ได้แล้ว จัก กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ
จบสูตรที่ ๔
เทวตาสูตร
[๓๔๐] ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไป มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพ ในพระธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ เทวดาตนนั้นกล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้น เทวดาตนนั้นได้ทราบว่า พระศาสดาได้ทรง พอพระทัยตนแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น ฯ ครั้นเมื่อราตรีนั้นล่วงไป พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไป มีรัศมีงาม ยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกับเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ ความ เป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ เทวดาตนนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาท กระทำ ประทักษิณเราแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้น ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรถวายบังคมพระผู้มี พระภาค แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบชัด เนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิศดารอย่างนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้เคารพในพระศาสดาด้วยตนเอง กล่าวสรรเสริญ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ย่อมชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่เคารพในพระศาสดา ให้เคารพในพระศาสดา และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้เคารพในพระศาสดา ตามเป็นจริง โดยกาลอันควร เป็นผู้เคารพในพระธรรมด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้ เคารพในพระสงฆ์ด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้เคารพในสิกขาด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้ ว่าง่ายด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้มีมิตรดีด้วยตนเอง กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีมิตรดี ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีมิตรดีให้เป็นผู้มีมิตรดี และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่น ผู้มีมิตรดีตามเป็นจริง โดยกาลอันควร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบ ชัดเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิศดารอย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ เธอย่อมทราบเนื้อความแห่ง คำที่เรากล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้เป็นการดีแล ดูกรสารีบุตร ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้เคารพในพระศาสดาด้วยตนเอง กล่าวสรรเสริญความเป็น ผู้เคารพในพระศาสดา ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่เคารพในพระศาสดาให้เคารพใน พระศาสดา และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้เคารพในพระศาสดาตามเป็นจริง โดยกาลอันควร เป็นผู้เคารพในพระธรรมด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้เคารพในสิกขาด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้ว่าง่ายด้วยตนเอง ฯลฯ เป็นผู้มีมิตรดีด้วยตนเอง กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีมิตรดี ชักชวนภิกษุเหล่าอื่น ผู้ไม่มีมิตรดีให้เป็นผู้มีมิตรดี และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้มีมิตรดีตามเป็น จริง โดยกาลอันควร ดูกรสารีบุตร เนื้อความแห่งคำที่เราได้กล่าวโดยย่อนี้ บัณฑิตพึงเห็นโดยพิสดารอย่างนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๕
สติสูตร
[๓๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีสมาธิอันสงบ ไม่มีสมาธิอัน ประณีต ไม่มีสมาธิที่ได้ด้วยความสงบ ไม่มีสมาธิที่ถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง จักแสดงฤทธิ์ได้หลายๆ อย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็น คนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ข้อนี้ย่อมไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้ เธอจักฟังเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพและเสียงมนุษย์ ทั้งที่ อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ข้อนี้ย่อมไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้ จักกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจว่าจิตมีราคะจักรู้ว่า จิตมีราคะ ฯลฯ หรือจิตยังไม่หลุดพ้นจักรู้ว่า จิตยังไม่หลุดพ้น ข้อนี้ย่อมไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้ จักระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ จักระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้ง อุเทศด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ จักเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ ฯลฯ ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ จักรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้ เป็นไปตามกรรม ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ จักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีสมาธิอันสงบ มีสมาธิอันประณีต มีสมาธิ ที่ได้ด้วยความสงบ มีสมาธิที่ถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง จักแสดงฤทธิ์ได้ หลายๆ อย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ จักใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จัก ฟังเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพและเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วย ทิพโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักกำหนด รู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจว่า จิตมีราคะก็จักรู้ว่า จิตมีราคะ ฯลฯ หรือ จิตยังไม่หลุดพ้นก็จักรู้ว่า จิตยังไม่หลุดพ้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักระลึก ชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ จักระลึกถึง ชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้ ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ ฯลฯ จักรู้ชัดซึ่ง หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ
จบสูตรที่ ๖
สักขิสูตร
[๓๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อม ไม่เป็นผู้ควรเพื่อถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในคุณวิเศษนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ทราบชัดตามเป็นจริงว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ๑ ย่อมไม่ทราบชัดตามเป็นจริงว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งความดำรงอยู่ ๑ ย่อมไม่ทราบชัดตามเป็นจริงว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ๑ ย่อมไม่ทราบชัดตามเป็นจริงว่า ธรรม เหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส ๑ เป็นผู้ไม่กระทำความเอื้อเฟื้อ ๑ ไม่กระทำความสบาย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในคุณวิเศษนั้นๆ ในเมื่อ เหตุมีอยู่ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควร เพื่อถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในคุณวิเศษนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทราบชัดตามเป็นจริงว่า ธรรม เหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ๑ ย่อมทราบชัดตามเป็นจริงว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นไปในส่วนแห่งความดำรงอยู่ ๑ ย่อมทราบชัดตามเป็นจริงว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ๑ ย่อมทราบชัดตามเป็นจริงว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไป ในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส ๑ เป็นผู้กระทำความเอื้อเฟื้อ ๑ เป็นผู้กระทำความ สบาย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ ควรเพื่อถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในคุณวิเศษนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๗
พลสูตร
[๓๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อม เป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุพลภาพในสมาธิ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑ เป็นผู้ไม่ฉลาดในการตั้งอยู่แห่ง สมาธิ ๑ เป็นผู้ไม่ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ ๑ เป็นผู้ไม่กระทำความเอื้อเฟื้อ ๑ ไม่กระทำติดต่อ ๑ ไม่กระทำความสบาย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วย ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุพลภาพในสมาธิ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควร เพื่อบรรลุพลภาพในสมาธิ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑ เป็นผู้ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ ๑ เป็นผู้ ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ ๑ เป็นผู้กระทำความเอื้อเฟื้อ ๑ เป็นผู้กระทำติดต่อ ๑ เป็นผู้กระทำความสบาย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อบรรลุพลภาพในสมาธิ ฯ
จบสูตรที่ ๘
ฌานสูตรที่ ๑
[๓๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ เธอย่อมไม่เห็นโทษในกามทั้งหลาย ด้วยปัญญาโดยชอบ ตามความเป็นจริง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อบรรลุ ปฐมฌาน ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ เธอย่อมเห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปัญญา โดยชอบ ตามความเป็นจริง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ฯ
จบสูตรที่ ๙
ฌานสูตรที่ ๒
[๓๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือกามวิตก ๑ พยาบาท วิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ กามสัญญา ๑ พยาบาทสัญญา ๑ วิหิงสาสัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุ ปฐมฌาน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อบรรลุ ปฐมฌาน ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสา วิตก ๑ กามสัญญา ๑ พยาบาทสัญญา ๑ วิหิงสาสัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบเทวตาวรรคที่ ๒
--------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อนาคามิสูตร ๒. อรหัตตสูตร ๓. มิตตสูตร ๔. ฐานสูตร ๕. เทวตาสูตร ๖. สติสูตร ๗. สักขิสูตร ๘. พลสูตร ๙. ฌานสูตรที่ ๑ ๑๐. ฌานสูตรที่ ๒ ฯ
--------------
********************************************
ท่านผู้อ่านโปรดคลิกที่ลิงค์นี้ครับ http://hawk.blogth.com/17767/%C7%D4%B8%D5%BB%AF%D4%BA%D1%B5%D4%B7%D5%E8%A7%E8%D2%C2%E1%B5%E8%C5%D0%A1%D4%E0%C5%CA%E1%C5%D0%BA%C3%C3%C5%D8%B8%C3%C3%C1%E4%B4%E9.html

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น