วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แนะนำวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง (ต่อ)

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

9.นวมกัณฑ์ ว่าด้วย อวินิโภครูป คือโลกแห่งวัตถุ และธรรมชาติแวดล้อมกล่าวโดยสรุปภูมิทั้ง3ภูมิว่า สัตว์โลกทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้ง3นี้ ล้วนแต่ตกอยู่ในอำนาจอนิจจลักษณะ แม้แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมล้วนๆ เช่น ภูเขา แม่น้ำ พระอาทิตย์ พระจันทร์ นพเคราะห์ ดารากร ชมพูทวีป ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นอวินิโภครูป ก็ตกอยู่ในอำนาจอนิจจลักษณะทั้งสิ้น
10.ทสมกัณฑ์ ว่าด้วยโอกาสมหากัลปสุญญตา - กัลปวินาศและอุบัติ กล่าวโดยสรุป ฝูงอันมีจิตและชีวิตอันเกิดในภูมิทั้ง31ชั้นนั้นไม่เที่ยง ย่อมฉิบหายด้วยมัตยุราชกระทำให้หายไซร้ สิ่งทั้งหลายที่มีแต่รูปไม่มีจิตอันมีในภูมิ12ชั้นแห่งนี้ ยกเว้นแต่อสัญญีสัตว์ขึ้นไป ที่ต่ำแต่อสัญญีสัตว์ลงมามีพระสุเมรุราชย่อมฉิบหาย(ไป) ด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยลม
11.เอกาทสมกัณฑ์ คือ นิพพานกถา หรือ โลกุตตรภูมิ ว่าด้วยพระนิพพานอันเป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน ไม่รู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย และกล่าวถึงวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน

ในส่วนอวสานพจน์ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายในการแต่งไตรภูมิกถาประวัติสังเขปของผู้นิพนธ์ วัน เดือน ปี ที่แต่งจบบริบูรณ์และหนังสืออุเทศ ตลอดจนประโยชน์ของการศึกษา การฟังไตรภูมิกถา และอานิสงส์ของการเจริญกรรมฐาน โดยพิจารณาสังขารให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงทิพยสมบัติ พระนิพพาน และการจะได้พบพระศรีอาริย์ในอนาคตว่า ผู้ปรารถนาจะได้รับหรือได้พบสิ่งที่กล่าวมา ขอให้สดับตรับฟังไตรภูมิกถา "ด้วยทำนุอำรุงด้วยในศรัทธา อย่าได้ประมาทสักอันไส้ จะได้พบได้ไหว้ได้ฟังธรรมแห่งพระอาริยเจ้า"

นอกจากนี้ พญาลิไทยได้ทรงขยายความและได้ทรงบอกรายละเอียดของเนื้อหาในไตรภูมิพระร่วงไว้ตามลำดับตอนหรือกัณฑ์ดังต่อไปนี้
1.กามภูมิหรือกามาวจรภูมิ หมายเอา ระดับจิตใจที่ยังปรารถนากามเป็นอารมณ์ คือ ยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ ได้แก่ ระดับจิตใจของสัตว์ในกามภพทั้ง11ชั้น
2.รูปภูมิหรือรูปาวจรภูมิ หมายเอา ระดับจิตใจที่ปรารถนารูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ ระดับจิตใจของท่านผู้ได้ฌานหรือผู้อยู่ในรูปภพทั้ง16ชั้น เรียกว่า โสฬสพรหม
3.อรูปภูมิหรืออรูปาวจรภูมิ หมายเอา ระดับจิตใจที่ปรารถนาอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ จิตของท่านผู้ได้อรูปฌาน หรือผู้อยู่ในอรูปภพทั้ง4ชั้น

บรรดาภูมิทั้ง3ภูมิ แยกย่อยออกไปอีกรวมเป็น31ภูมิ ดังนี้
1.อบายภูมิหรือทุคติภูมิ4 ได้แก่ ภูมิที่ปราศจากความเจริญ4ชั้น ได้แก่
1.1นิรยะได้แก่ นรก,สภาวะหรือที่อันไม่มีความสุขความเจริญ,ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย
1.2ติรัจฉานโยนิ ได้แก่ กำเนิดดิรัจฉาน, พวกมืดโง่เขลา
1.3ปิตติวิสัย ได้แก่ แดนเปรต, ภูมิแห่งผู้หิวกระหายไร้สุข
1.4อสุรกาย ได้แก่ พวกอสูร. พวกหวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง

2.กามสุคติภูมิ7 ได้แก่ กามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ.ภูมิที่เป็นสุคติซึ่งยังเกี่ยวข้องกับกาม
2.1มนุษย์
2.2จาตุมหาราชิกา ได้แก่ สวรรค์ที่ท้าวมหาราช4หรือท้าวจตุโลกบาลปกครอง คือ ท้าวฐตรฐ จอมคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค ครองทิศตะวันตก ท้าวกุเวรหรือเวสสุวัณณ์ จอมยักษ์ ครองทิศเหนือ
2.3ดาวดึงส์ ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพ33 มีท้าวสักกะหรือพระอินทร์เป็นจอมเทพ บางทีเรียก ไตรตรึงส์
2.4ยามา ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป้นผู้ครอง
2.5ดุสิต ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพผู้อิ่มเอิบด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ ถือกันว่าเป็นที่อุบัติของพระโพธิสัตว์ในพระชาติสุดท้ายก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า และเป็นที่อุบัติของพระพุทธมารดา
2.6นิมมานรดี ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพผู้มีความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ ถือกันว่าเทวดาชั้นนี้ปรารถนาสิ่งใดย่อมนิรมิตได้เอง
2.7ปรนิมมิตวสวัตตี ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิมิตให้ คือ เสวยสมบัติที่เทพพวกอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตตีเป็นจอมเทพจาก2.2ถึง2.7 เรียกว่า ฉกามาพจรสวรรค์6ชั้น : สวรรค์ = ภพที่มีอารมณ์เป็นเลิศ, โลกที่มีแต่ความสุข , เทวโลก

3.รูปภูมิหรือรูปาวจรภูมิ16 ได้แก่ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป, รูปพรหม16ชั้น = สวรรค์ชั้นโสฬส แบ่งออกเป็นผู้สำเร็จฌาน4 เมื่อตายไปแล้วจะเกิดในรูปภูมินั้นๆคือ
3.1ปฐมฌานภูมิ3 ได้แก่ ระดับปฐมฌาน ภูมิสำหรับผู้สำเร็จฌานที่1
(1)พรหมปาริสัชชา ได้แก่ พวกบริษัทบริวารมหาพรหม
(2)พรหมปุโรหิตา ได้แก่ พวกปุโรหิตมหาพรหม
(3)มหาพรหมา ได้แก่ พวกท้าวมหาพรหม
3.2ทุติยฌานภูมิ3 ได้แก่ ระดับทุติยฌาน ภูมิสำหรับผู้สำเร็จฌานที่2
(4)ปริตตาภา ได้แก่ พวกรัศมีน้อย
(5)อัปปมาณาภา ได้แก่ พวกมีรัศมีประมาณไม่ได้
(6)อาภัสสรา ได้แก่ พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป
3.3ตติยฌานภูมิ3 ได้แก่ ระดับตติยฌาน ภูมิสำหรับผู้สำเร็จฌานที่3
(7)ปริตตสุภา ได้แก่ พวกมีลำรัศมีงามน้อย
(8)อัปปมาณสุภา ได้แก่ พวกมีลำรัศมีงามประมาณมิได้
(9)สุภกิณหา ได้แก่ พวกทีลำรัศมีงามกระจ่างจ้า
3.4จตุตถฌานภูมิ2 ได้แก่ ระดับจตุตถฌาน ภูมิสำหรับผู้สำเร็จฌานที่4
(10)เวหัปผลา ได้แก่ พวกมีผลไพบูลย์
(11)อสัญญีสัตว์ ได้แก่ พวกสัตว์ไม่มีสัญญา
3.5สุทธาวาส5 ได้แก่ พวกมีที่อยู่อันบริสุทธิ์ หรือที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือ ที่เกิดของพระอนาคามี คือ
(12)อวิหา ได้แก่ เหล่าท่านผู้ไม่ละไปเร็ว, ผู้คงอยู่นาน(13)อตัปปา ได้แก่ เหล่าผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร
(14)สุทัสสา ได้แก่ เหล่าท่านผู้ปรากฏโดยง่าย, ผู้น่าชม
(15)สุทัสสี ได้แก่ เหล่าท่านผู้เห็นโดยง่าย, ผู้เห็นชัด
(16)อกนิฏฐา ได้แก่ เหล่าท่านผู้ไม่มีความด้อยหรือเล็กน้อย, ผู้สูงสุด
รูปพรหมทั้ง16ชั้นนี้ เป็นพรหมที่มีรูปร่างและมีชีวิตจิตใจ แต่ว่าไม่มีเพศ ผู้ที่จะไปเกิดในรูปพรหม16ชั้นดังกล่าวนี้ ได้แก่ พระอริยบุคคลที่ยังต้องเกิดอีกต่อไป ยังไม่ถึงนิพพาน คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อนึ่ง พรหมตั้งแต่ชั้นที่12ถึงชั้นที่16รวม5ชั้นนี้ เรียกว่าสุทธาวาสพรหม ผู้ที่จะไปเกิดเป็นพรหม5ชั้นนี้จะต้องเป็นพระอนาคามีบุคคลทั้งนั้น

4.อรูปภูมิ คือภูมิที่มีความสุข เป็นภูมิของพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิต มี4แดน มักเขียนรูปพรหมที่ไม่มีรูปเป็นรูปดวงไฟลอยอยู่เหนือแท่นภายในวิมาน มติทางพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบพรหมว่าเป็นธรรมของผู้ใหญ่ มี4ประการที่เรียกว่า พรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

อนึ่ง ในไตรภูมิพระร่วงได้แบ่งอรูปภูมิไว้4แดน แบ่งตามผู้สำเร็จอรูปฌาน4 เมื่อตายแล้วไปเกิดในอรูปภูมิ4ดังนี้
4.1อากาสานัญจายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด)
4.2วิญญาณัญจายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด)
4.3อากิญจัญญายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร)
4.4เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ได้แก่ ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

ปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี ย่อมไม่เกิดในสุทธาวาส พระอริยะไม่เกิดในอสัญญีภพและในอบายภูมิ ในภูมินอกจากนี้ย่อมมีทั้งพระอริยะ และมิใช่พระอริยะไปเกิด

*******************************************************

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

แนะนำวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง

ผมได้ลองดูเนื้อหาทางพระบวรพุทธศาสนามานำเสนอ ต้องการแบบที่น่าสนใจสักหน่อยก่อนที่จะกลับมาเข้าสู่เนื้อหาพระไตรปิฎกในกลางสัปดาห์นี้ ก็เห็นว่าเรื่องไตรภูมิพระร่วงนี้น่าสนใจ เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนความจริงที่ว่าประเทศไทยกับพระพุทธศาสนานั้นมีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณกาลแล้ว แต่ครั้งยังเป็นแคว้นสุโขทัย ผมจึงนำเนื้อหาบทที่2จากหนังสือ "งานวิจัยทางพระพุทธศาสนา" ประพันธ์โดย พระราชปริยัติ (สฤษดิ์ สิริธโร) สำหรับเป็นตำราของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ มานำเสนอครับ คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านครับ

*****************************************************

ประวัติความเป็นมา

หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นหนังสือแสดงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่แต่งในสมันกรุงสุโขทัยได้รับการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก เดิมเรียกว่า "เตภูมิกถา" ภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "ไตรภูมิพระร่วง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์ผู้ทรงนิพนธ์ คือพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นเรื่องที่นับถือกันแพร่หลายมาแต่โบราณ ได้มีการเขียนเป็นรูปภาพไว้ตามฝาผนังวัด และเขียนจำลองลงไว้ในสมุด ต้นฉบับที่จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือได้มาจากจังหวัดเพชรบุรี เป็นฉบับใบลานจำนวน10ผูก จารด้วยอักษรขอมในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นฉบับที่พระมหาช่วยวัดปากน้ำ (วัดกลางวรวิหาร) จังหวัดสมุทรปราการ ได้ต้นฉบับมาจากจังหวัดเพชรบุรี จารลงบนใบลานเสร็จเมื่อเวลาบ่าย3โมงเศษ ปีจอพุทธศักราช2321 รวมเวลาจาร9เดือน 26วัน หอพระสมุดวชิรญาณได้ถอดความออกเป็นอักษรไทย โดยมิได้แก้ไขถ้อยคำให้ผิดไปจากต้นฉบับเดิม จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือเผยแพร่ ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2455 และได้มีการจัดพิมพ์เผนแพร่เป็นลำดับมา จนปัจจุบัน ทางกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์เป็นวรรณกรรมสุโขทัย จัดพิมพ์ครั้งที่2 พ.ศ.2539

เมื่อระหว่างวันที่19-21เดือนธันวาคม พ.ศ.2526 กรมศิลปากร ได้จัดสัมมนาเรื่องไตรภูมิพระร่วง เนื่องในวาระที่พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์อักษรหรือลายสือไทยมาครบ700ปี ได้สัมมนากันในประเด็นเรื่องกำเนิดและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไตรภูมิ คุณค่าของวรรณกรรมเรื่องไตรภูมิพระร่วง อิทธิพลของไตรภูมิพระร่วงต่อสังคมไทย อิทธิพลของไตรภูมิพระร่วงต่อลักษณะศิลปกรรมและวรรณกรรมไทย และแนวทางการนำปรัชญาจากไตรภูมิพระร่วงไปใช้ประโยชน์ในด้านสังคมด้านการเมือง การปกครอง ในด้านภาษาและวรรณกรรม ในด้านศาสนาและปรัชญา ในด้านศืลปกรรม

เมื่อพ.ศ.2528 คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประเทศอินโดนิเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย ในการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการ เมื่อพ.ศ.2526 ณ กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนืเซีย ได้มีมติให้คณะทำงานของแต่ละประเทศคัดเลือกงานวรรณกรรมถ่ายทอดที่คัดเลือกแล้ว จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาประจำชาติ หรือแปลเป็นภาษาต่างประเทศ คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ประเทศไทย ได้เสนอขออนุมัติเรียบเรียงถอดความวรณกรรมเรื่องไตรภูมิกถา จัดพิมพ์เผยแพร่ ใช้ชื่อว่า ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ เป็นไตรภูมิกถาฉบับภาษาร่วมสมัย

เมื่อพ.ศ.2542 คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จัดพิมพ์หนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี จำนวน2เล่ม คือ เล่ม1-2 เป็นหนังสือขนาดใหญ่พิมพ์ภาพไตรภูมิสวยงามจากสมุดข่อยมีคำบรรยายประกอบ

เมื่อพ.ศ.2544 คณะกรรมการราชบัณฑิตยสถานได้นำต้นฉบับไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ พระมหาธรรมราชาที่1 พญาลิไทย ฉบับตรวจสอบชำระใหม่ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2526 กับไตรภูมิกถา ฉบับอยุธยา ไตรภูมิพระร่วง ความเก่า มหาช่วยจารในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.2330 (ฉบับอัดสำเนา) ตรวจสอบชำระจัดพิมพ์เป็นไตรภูมิกถา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดยใช้ชื่อที่ปกว่า พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยสุโขทัย ไตรภูมิกถา จัดพิมพ์เผยแพร่ นับว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์เท่าที่มีมา

นอกจากนี้ พระครูสังวรสมาธิวัตร (ประเดิม โกมโล) วัดเพลงวิปัสสนา กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำบทเรียนไตรภูมิพระร่วง เป็นคำถามคำตอบ จัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2528 เหมาะสำหรับใช้ศึกษาในรายวิชาโดยเฉพาะ

พระราชประวัติผู้ทรงพระนิพนธ์

ผู้แต่งไตรภูมิกถา คือ พระมหาธรรมราชาที่1 หรือพญาลิไทย ทรงเป็นพระราชโอรสของพญาเลลิไทย เป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่6 แห่งราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1890-1919 มีพระนามเต็มว่าพระเจ้าศรีสุริยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช เรียกกันเป็นสามัญว่า พระมหาธรรมราชาที่1 ในศิลาจารึกเรียกพระนามเดิมว่า พญาลิไทย หรือพระมหาธรรมราชาที่1 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1911

พญาลิไทยทรงมีความสามารถอย่างยิ่งในการปกครองบ้านเมือง ได้โปรดให้มีการทะนุบำรุงกรุงสุโขทัยนานาประการ โปรดให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรก่ออิฐถือปูนอย่างมั่นคงและงดงามมาก ได้โปรดให้ขุดคลองและสร้างถนนตั้งแต่เมืองศรีสัขนาลัยผ่านเมืองสุโขทัย ไปถึงเมืองนครชุม(กำแพงเพชร) เพื่อเป็นการพระราชกุศลสนองพระคุณพระราชบิดา ถนนนี้ปัจจุบันเรียกว่า ถนนพระร่วง มีปรากฏตั้งแต่เมืองกำแพงเพขรถึงเมืองสุโขทัย ตลอดจนถึงเมืองสวรรคโลก ทรงสร้างเมืองสองแคว(พิษณุโลก) เป็นเมืองลูกหลวง และสร้างพระพุทธชินสีห์ ที่ฝีมือการช่างงดงามเป็นเยี่ยมทรงปกครองบ้านเมืองโดยทรงอาศัยธรรมานุภาพ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้มีความร่มเย็นเป็นสุข กรุงสุโขทัยจึงไม่มีข้าศึกศัตรูมาเบียดเบียน และไม่มีทาสในเมืองสุโขทัย

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของพญาลิไทย คือ การอุปถัมภ์การศึกษาพระพุทธศาสนาและศิลปศาสตร์ต่างๆ โดยทรงดำเนินการให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย ศึกษาพระไตรปิฎก และให้พวกพราหมณ์ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ต่างๆในบริเวณพระมหาปราสาท อาจนับได้ว่าเป็นการตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมและศิลปะศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เมื่อปีระกา พ.ศ.1900 ได้ทรงส่งราชบุรุษไปรับพระบรมธาตุมาจากประเทศลังกา แล้วโปรดให้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระมหาธาตุหรือมหาเจดีย์ที่สร้างขึ้นที่เมืองนครชุม ปัจจุบันเป็นเมืองเก่าอยู่หลังเมืองกำแพงเพชร และเมื่อปีฉลู พ.ศ.1904 ได้ทรงส่งราชบุรุษไปอาราธนาพระมหาสวามี สังฆราชจากประเทศลังกา มาอยู่ที่วัดป่ามะม่วง หรืออัมพวนาราม พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพญาลิไทยทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่แท้จริง ได้แก่การที่ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา ณ วัดป่ามะม่วง โดยมีพระสวามีสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อพ.ศ.1905 นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

พญาลิไทยได้รับยกย่องทั่วไปว่าเป็นกษัตริน์นักปราชญ์ ได้โปรดให้สร้างศิลาจารึกไว้หลายหลัก ทั้งภาษาไทย ภาษามคธ และภาษาขอม ได้แก่ จารึกสุโขทัยหลักที่2 ถึงหลักที่10 ศิลาจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย พญาลิไทยทรงเชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์จนอาจจะถอน ยก และลบ ปีเดือนได้ถูกต้องแม่นยำ ทรงรอบรู้วิชาดาราศาสตร์ อาจคำนวณการโคจรของดวงดาว กำหนดจันทรคราสและสุริยคราสได้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังเชี่ยวชาญในไสบศาสตร์ ทรงบัญญัติคัมภีร์ศาสตราคมเป็นปฐมธรรมเนียมสืบต่อมา

พระปรีชาสามารถสำคัญที่สุดของพญาลิไทยที่ทำให้ได้รับยกย่องอย่างสูงว่าเป็นนักปราชญ์ได้แก่ ความรอบรู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา มีพระปรีชาแตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และปกรณ์พิเศษต่างๆ ทรงอุตสาหะศึกษาจากพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกยุคนั้น เช่น พระมหาเถรมุนีวงศ์ พระอโนมทัสสีเถรเจ้า พระมหาเถรธรรมปาลเจ้า พระมหาเถรธรรมสิทธัตถเจ้า พระมหาเถรพุทธพงศ์เจ้า พระมหาเถรปัญญานันทเจ้า และพระมหาเถรพุทธโฆษาจารย์แห่งเมืองหริภุญไชย นอกจากนี้ยังได้ทรงศึกษาในสำนักราชบัณฑิต อุปเสนราชบัณฑิต และอทรายราชบัณฑิตอีกด้วย ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ประกอบกับพระราชประสงค์ จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาล และส่งเสริมให้อาณาประชาราษฎร์ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสงบสุข พญาลิไทยจึงได้ทรงนิพนธ์เรื่อง ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง อันนับเป็นวรณคดีเล่มแรกของไทยขึ้น
พญาลิไทยทรงนิพนธ์เรื่อง ไตรภูมิกถา ในปีระกา พ.ศ.1888 เป็นปีที่6 หลังจากได้ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย

พญาลิไทย หรือ พระมหาธรรมราชาที่1 ทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ นักปกครองที่ทรงพระปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่ง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรเป็นประโยชน์ไพศาลทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร

พระเจ้าขุนรามคำแหงทรงบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรแผ่พระราชอาณาจักรและพระราชอำนาจด้วยการรบพุ่งปราบปรามราชศัตรู ฉันใด พระมหาธรรมราชาลิไทยก็ทรงบำเพ็ญในทางที่จะเป็นธรรมราชา คือปกครองพระราชอาณาจักรหมายด้วยธรรมานุภาพเป็นสำคัญฉันนั้น

****************************************************

เนื้อเรื่องย่อ

ไตรภูมิพระร่วงว่าด้วยภูมิ3 แต่เนื้อหาแสดงเนื้อเรื่องของภูมิทั้ง4ภูมิ จัดเนื้อหาออกเป็นตอน เรียกว่า กัณฑ์ มี11กัณฑ์ ดังนี้
1.ปฐมกัณฑ์ ว่าด้วยกามภูมิที่เป็นฝ่ายอบายภูมิหรือเป็นฝ่ายทุคติ ได้แก่ นรกภูมิ คือเรื่องนรกต่างๆ ทั้งนรกใหญ่ นรกบ่าว โลกันตนรกและมหาอวีจีนรก
2.ทุติยกัณฑ์ ว่าด้วยกามภูมิที่เป็นฝ่ายอบายภูมิ (ต่อ) ได้แก่ ติรัจฉานภูมิ คือเรื่องของสัตว์ดิรัจฉานประเภทต่างๆ ได้แก่ พวกไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี่เท้า และพวกมีเท้าเกินสี่เท้า
3.ตติยกัณฑ์ ว่าด้วยกามภูมิที่เป็นฝ่ายอบายภูมิ (ต่อ) ได้แก่เปรตภูมิ คือเรื่องของเปรตประเภทต่างๆ
4.จตุตถกัณฑ์ ว่าด้วยกามภูมิที่เป็นฝ่ายอบายภูมิ (ต่อ) ได้แก่ อสุรกายภูมิ คือเรื่องของอสุรกายประเภทต่างๆ
5.ปัญจมกัณฑ์ ว่าด้วยภูมิที่เป็นฝ่ายสุคติ ได้แก่ มนุสสภูมิ คือเรื่องของมนุษย์โดยกล่าวถึงประเภทของมนุษย์4ประเภท มหาทวีปทั้ง4 พระเจ้ามหาจักรพรรดิ พระเจ้าอโศกมหาราช(จุลจักรพรรดิ) โชติกเศรษฐี บุญกิริยาวัตถุ โยนิ4 และเหตุแห่งมรณะ4
6.ฉัฏฐกัณฑ์ ว่าด้ยภูมิที่เป็นฝ่ายสุคติ (ต่อ) ได้แก่ ฉกามาพจรภูมิ คือสวรรค์ทั้ง6ชั้น
7.สัตตมกัณฑ์ ว่าด้วยรูปภูมิ (ภูมิที่2) คือ รูปพรหมหรือพรหมโลก ฝ่ายที่มีรูปร่าง16ชั้น
8.อัฏฐมกัณฑ์ ว่าด้วยอรูปภูมิ (ภูมิที่3) คืออรูปพรหมหรือพรหมโลกฝ่ายที่ไม่มีรูปร่าง4ชั้น และกล่าวถึงฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า

(ยังมีต่อ)

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ความรู้เบื้องต้นของพระอภิธรรม (ต่อ)

(ต่อจากครั้งที่แล้ว)

สมเด็จพระพุทธมารดาทรงถามถึงพระพุทธองค์(ต่อ)

ท้าวสักกรินทรเทวราชเมื่อได้สวนาการ ซึ่งพระบัญชาแห่งพระสิริมหามายาเทวบุตรทรงตรัสถามจึงทูลความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบุญราศี อันพระรูปพระโฉมแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น หาบุคคลที่จะกล่าวติว่า พระองค์ไม่ดีไม่งามนั้นหามิได้ พระพุทธองค์ผู้เป็นพระบวรโอรสของพระองค์นั้นมีพระสรีรอินทรีย์หาผู้ใดผู้หนึ่งจะเปรียบเทียบมิได้ทั้ง3ภพ ทรงพระสรีราพยพประดับด้วยพระอสีตยานุพยัญชนะ และพระมหาปุริสลักษณะครบทั้ง32ประการ มีพระรัศมีซ่านออกจากพระบวรกายทั้ง6ประการ มีพระสุรสำเนียงประกอบด้วยองค์8ประการ ไพเราะหาผู้ที่จะเสมอมิได้ฯ พระสิริมหามายาเทพยดาได้ทรงสดับพระวาจา ก็เกิดปรีดากอปร์ด้วยโสมนัสในพระหฤทัยว่า อาตมะเกิดมาในโลกนี้ชื่อว่ามิได้มีผู้ใดเสมอด้วยได้เป็นพระพุทธมารดา

เหตุที่พระนางสิริมหามายาพุทธมารดาเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต

นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระพุทธมารดานั้น จำเดิมแต่สิ้นเบญจขันธ์จากมนุษยชาติ ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในชั้นดุสิตพิภพ มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร แต่จะได้มีพระบวรสันดานยินดีในอันที่จะเสพเบญจกามคุณกับนางฟ้านั้นหามิได้ อันเป็นวิสัยเป็นธรรมดาแห่งสมเด็จพระพุทธชนนี ถ้าแลว่าบังเกิดเป็นเทพนารี เทพยดาทั้งหลายบรรดาที่ได้เห็นพระสรีรรูปก็จะมีความยินดีว่า พระพุทธชนนีนั้นทรงพระสรีรรูป เทพบุตรและเทพธิดาองค์ใดที่จะเปรียบเสมอมิได้ ถ้าเทพบุตรองค์ใด มิจิตรักใคร่คิดจะสร้องเสพอสัทธรรม เทพบุตรองค์นั้นก็ชื่อว่า ประทุษร้ายแก่สมเด็จพระบรมศาสดา เป็นเหตุยังอาตมะให้ไปตกอยู่ในนิรยาบาย เหตุดังนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายพึงรู้ว่า สมเด็จพระพุทธมารดาในปัจฉิมภวิกชาตินั้น ครั้นดับเบญจขันธ์ในชาตินั้นแล้วก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในชั้นดุสิต เบื้องหน้าแต่จุติจิตก็บังเกิดเป็นเทพบุตร เพื่อจะป้องกันเสียซึ่งโทษมิให้บังเกิดแก่เทพบุตรทั้งหลาย อันจะเกิดประทุษร้ายด้วยสามารถแห่งราคจริต

สมเด็จพระพุทธมารดาเสด็จลงมาเฝ้าพระพุทธองค์

เมื่อพระนางสิริมหามายา ได้สดับคำสมเด็จอมรินทราเทวราช ตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณของสมเด็จพระบรมศาสดา ก็ด่วนๆทรงซึ่งทิพยภูษา พร้อมด้วยเทพอัปสรกัญญา ลงมาจากพิมาน มีท้าวมัฆวานเชิญเสด็จมาในเบื้องหน้า ไปสู่สำนักดาวดึงส์ยังสำนักแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระบรมศาสดาก็ยิ่งทรงพระปรีดาภิรมย์เพลินชมพระรูปพระโฉม จนลืมอาลัยในดุสิตพิมาน ชมพลางทางพระบวรสันดานเศร้าโศกเสียพระทัยว่า อาตมะนี้เป็นคนมีบุญวาสนาน้อย ประสูติพระพุทธเจ้าผู้เป็นปิโยรสแล้ว มิได้อยู่ชมพระลูกแก้วนานเท่าใด อยู่ได้เพียง7วันเท่านั้น ก็ดับเบญจขันธ์ มิได้เห็นพระปิโยรสผู้ทรงบุญญาภินิหารอยู่เสวยซึ่งฆราวาสสมบัติ ตราบจนได้ตรัสเป็นพระบรมโลกุตตมาจารย์ กำหนดกาลช้านานถึงเพียงนี้ จึงได้มาประสบพบพระบรมราชโอรส พระสิริมหามายาทรงพระกันแสงกำสรด แล้วก็กลับทรงพระสรวลว่า อาตมะนี้ไม่ควรจะปริเทวนาการ เหตุว่าบุคคลผู้เกิดมาในวัฏฏสงสารจะได้เป็นพระพุทธมารดาดังอาตมะนี้ก็ได้ยาก นับด้วยกัล์ปเป็นอันมาก พระพุทธเจ้าจึงจักได้มาตรัสแต่ละพระองค์ แม้พระพุทธมารดาก็มีพระองค์เดียว จะได้มีถึง2พระองค์ก็หามิได้ อาตมะนี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นพระพุทธมารดา

พระพุทธองค์ตรัสเรียกพระพุทธมารดาให้ฟังพระอภิธรรม

ในขณะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคโลกุตตมาจารย์ผู้บรมศาสดา จึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวา ตรัสเรียกพระสิริมหามายาเทพบุตร ผู้เป็นพระพุทธชนนี ซึ่งดับเบญจขันธ์สิ้นชีวิตินทรีย์แล้ว และมาบังเกิดในดุสิตพิภพ อันมาสถิตอยู่ ณ ปริมณฑลแห่งไม้ปาริฉัตตกชาติในชั้นดาวดึงส์ ซึ่งกำลังทอดพระเนตรแลดูซึ่งพระพุทธองค์ว่า พระพุทธมารดามาสู่ที่นี่ๆ จะทอดพระเนตรไปใยซึ่งสรีรกายอินทรีย์รูปโฉมอันเป็นของอนิจจัง ฯ พระนางสิริมหามายาได้ทรงสดับ ก็มีพระหฤทัยเป็นอุเบกขาเสด็จเข้าไปสู่ที่ใกล้ เป็นประธานแห่งหมู่เทพยดาทั้งหลาย พระพุทธองค์เจ้าจึงมีพระพุทธฏีกาอภิปราย โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาซึ่งพระสัตตปกรณาภิธรรมทั้ง7พระคัมภีร์ ตั้งต้นแต่คัมภีร์พระสังคณีเป็นลำดับไป

"อธิบายคำว่า อภิธรรมปิฎก"

พระปิฎกนี้ ชื่อว่าพระอภิธรรม อาศัยเหตุว่าเป็นธรรมอันยิ่งเป็นธรรมอันพิเศษ เป็นธรรมลึกละเอียดกว่าธรรมทั้งปวงเหมือนเศวตฉัตรอันยิ่งอันใหญ่ ประเสริฐกว่าเศวตฉัตรทั้งปวงฉะนั้น ฯ แท้จริง อันว่าอภิศัพท์นี้ ย่อมปรากฏในอรรถทั้งหลาย แปลว่าเจริญ แปลว่าประเสริฐ แปลว่ายิ่ง ธรรมนั้น แปลว่า ทรงสัตว์ไว้มิให้ไปสู่อบายและทุคติ ย่อมให้ไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน อภิศัพท์ และธรรมศัพท์ประสมกันเข้าจึงสำเร็จรูปเป็นอภิธรรม แปลว่า ธรรมอันเจริญ ธรรมอันประเสริฐ ธรรมอันยิ่ง อภิธรรมปิฎก แปลว่า เป็นหมวดแห่งธรรมอันเจริญ อันประเสริฐ อันยิ่งกว่าพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก ด้วยสามารถ มีอรรถอันลึกล้ำคัมภีรภาพ แต่การที่จะยังสัตว์ให้ประกอบในทางสวรรค์และทางพระนิพพานนั้นมิได้ต่างกัน เหตุว่ามีพระพุทธฎีกาซึ่งพระองค์ตรัสเทศนาไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ในบทว่า การฟังพระสัทธรรมยากที่จะได้ฟัง บุคคลผู้ใดได้ฟังพระสัทธรรมเทศนา ในพระพุทธศาสนาแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าแล้ว บุคคลผู้นั้นจะไม่ได้ไปสู่ทุคติสิ้นแสนแห่งกัล์ป ซึ่งตรัสดังนี้ จะได้ตรัสเฉพาะพระสูตร พระปรมัตถ์ และพระวินัยก็หามิได้ โดยที่สุดแต่พระบาลี มิได้มีเนื้อความว่าอย่างไร แต่มีจิตเลื่อมใสในกระแสพระพุทธฎีกาตรัสแล้วและฟัง ก็ห้ามทุคติได้แสนกัล์ปเหมือนกัน

***********************************************************

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ความรู้เบื้องต้นของพระอภิธรรม

เมื่อตอนที่แล้วผมนำเสนอเนื้อหาบางส่วนที่เป็นเรื่องพระอภิธรรม ก็จะขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมสักเล็กน้อย พระไตรปิฎกส่วนที่เป็นอภิธรรมนั้นเนื้อหายากมากๆครับ โชคดีที่มีพระเถระบางรูปได้รจนาหนังสือที่เป็นเนื้อหาพระอภิธรรมที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายขึ้น เป็นเนื้อหาพื้นฐานสำหรับที่จะศึกษาพระอภิธรรมปิฎกต่อไป วันนี้ผมจะนำเนื้อหาจากหนังสือ"อภิธรรมพิสดาร" ชำระโดยพระธรรมมหาวีรานุวัตร ซึ่งผมจะนำมาลงเพียงส่วนที่กล่าวถึงที่มาของพระอภิธรรมเท่านั้น เนื้อหาไม่ยาวครับ ส่วนเนื้อหาที่เป็นพระอภิธรรม7คัมภีร์นั้นผมไม่นำมาลงแน่ครับ ท่านผู้อ่านต้องการทราบเนื้อหาว่าอภิธรรม7คัมภีร์นั้นอธิบายโดยพิสดารอย่างไรนั้นให้ไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้ครับ ความยาวกว่า600หน้า ราคาเพียง240บาทเท่านั้น ผมซื้อมาจากร้านหนังสือข้างวัดมหาธาตุ ใกล้ๆท่าพระจันทร์ครับ เล่มนี้ผมแนะนำเลยครับ

อีกประการหนึ่ง ผมขออนุญาตละภาษาบาลีที่ในเนื้อหาประกอบไปกับภาษาไทยตามแบบแผนของตำราทางพระพุทธศาสนาที่ดูงามในเนื้อหาและน่าอ่าน แต่ว่าการพิมพ์ภาษาบาลีทางคีย์บอร์ดนั้นลำบากครับ เพราะมีหลายต่อหลายอักขระที่ไม่มีในคีย์บอร์ดภาษาไทยครับ

************************************************

วาระนี้ อาตมภาพจะได้รับประทานวิสัชนาในพระสัตตปกรณาภิธรรมตั้งต้นแต่คัมภีร์พระอภิธรรมสังคณีทั้ง7พระคัมภีร์ ก็อันการวิสัชนาในพระอภิธรรมนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายพึงสันนิษฐานเข้าใจว่า เป็นพระธรรมอันลึกล้ำคัมภีรภาพ ยากที่จะวิสัชนา ยากที่จะฟังทั้ง2ประการ เหตุว่า กระแสพระพุทธบรรหารที่ตรัสเทสนาไว้นั้น ตรัสเทสนาด้วยจิต เจตสิก รูป และนิพพาน อาตมภาพจะรับประทานวิสัขนาพอประดับสติปัญญา เป็นธัมมัสสวนานุตริยาสิสงส์โดยสังเขปกถา มีใจความตามพระบาลีว่า

พระพุทธองค์เสด็จขึ้นดาวดึงส์โปรดพุทธมารดา

อันว่าองค์สมเด็จพระผู้ทรงบุญราศี เมื่อพระองค์ได้ทรงกระทำพระยมกปาฏิหาริย์ ทรมานพวกเหล่าเดียรถีย์นิครนถ์ ณ ภายใต้ต้นคัณฑามพฤกษ์สำเร็จแล้ว ในลำดับนั้น จึงทรงพระดำริว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว ในพรรษาคำรบ7นั้น เสด็จจำพรรษาในประเทศที่ไหน ก็ทรงเข้าพระทัยว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว ในพรรษาคำรบ7นั้น เสด็จจำพรรษาในดาวดีงส์พิภพ เหตุทรงพระปรารภเพื่อจะสนองพระคุณของสมเด็จพระชนนี ตรัสเทศนาซึ่งพระอภิธรรม7พระคัมภีร์สิ้นไตรมาส3เดือน ก็พอจบพระสัตตปกรณาภิธรรม สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นซึ่งพระพุทธประเพณีดังนี้แล้ว จึงทรงพระดำริต่อไปว่า พระมารดาของตถาคตนี้ มีคุณูปการะความรักใคร่ในพระตถาคตนี้มากกว่ามาก ได้ทรงตั้งความปรารถนามาแต่ครั้งพระศาสนา แห่งสมเด็จพระโลกนาถ อันทรงพระนามชื่อว่า พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจนตราบเท่าถึงกาลประมาณได้แสนกัล์ป และได้มาเป็นพระมารดาของพระตถาคตในกาลบัดนี้ ควรที่เราตถาคตจะไปสู่ดาวดึงส์พิภพ ตรัสเทสนาซึ่งพระอภิธรรมทั้ง7พระคัมภีร์เพื่อสนองคุณของสมเด็จพระชนนี ครั้นทรงพระดำริฉะนี้แล้ว ก็เสด็จอุฏฐาการจากพระบวรบัญญัตาอาสน์ เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทโดยเคารพ คอยสมเด็จพระบรมครูเจ้าอยู่พร้อมเพรียงกัน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ยกพระบาทเบื้องขวาย่างเหยียบเหนือยอดไม้คัณฑามพฤกษ์ ยกพระบาทเบื้องซ้ายเหยียบเหนือยอดยุคันธรบรรพต ย่างพระบาทคำรบ3ถึงดาวดึงส์พิภพ อันเป็นที่สถิตแห่งสมเด็จอมรินทราธิราช นับแต่มรรคาที่เสด็จพระพุทธลีลาสแต่มนุษยโลกถึงดาวดึงส์พิภพ ได้6หมื่น8พันโยชน์โดยประมาณ ครั้นเสด็จถึงดาวดิงส์พิภพสถานแล้ว ก็ทรงนิสัชนาการเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ภายใต้ต้นไม้ปาริฉัตตกพฤกษาชาติ

ท้าวสักกเทวราชทรงป่าวร้องหมู่เทพยดาให้มาประชุมฟังธรรม

สมเด็จอมรินทรเทวราชจึงเสด็จอุฏฐาการจากทิพยอาสน์แล้วมีเทวราชโองการร้องประกาศแก่หมู่เทวดาทั้งหลายว่า ดูก่อน ท่านทั้งหลายผู้เป็นสหายเห็นปานดังเรา ท่านทั้งหลายจงอย่าได้ช้า จงรีบพากันออกมาเถิด บัดนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นมาโปรดถึงพิภพของเราแล้ว เป็นบุญลาภอันล้ำเลิศประเสริฐของเราทั้งหลายหาที่เปรียบปานมิได้ พวกเราจงพากันไปฟังพระสัทธรรมเทศนาในกาลบัดนี้เถิด เทพบุตรและเทพธิดาทั้งหลายนั้น ครั้นได้ยินสำเนียงแห่งท้าวสหัสนัยน์เทวราชร้องประกาศดังนั้น ก็พากันออกจากทิพพาวาสของตนๆ ทรงถือผะอบทองอันเต็มไปด้วยบุปผาชาติ และของหอมเครื่องสักการะซึ่งล้วนแต่เป็นทิพย์ มาสู่ที่เฝ้าแห่งท้าวมัฆวาน แล้วก็คมนาการไปสู่สำนักแห่งสมเด็จพระบรมศาสดา ต่างกระทำสักการะบูชาแล้วก็นั่งอยู่ที่อันสมควรแก่ตนๆตามลำดับ

พระอินทร์ไปอัญเชิญพระพุทธมารดา ณ ชั้นดุสิต

ฝ่ายเทพยดาทั้งหลายอื่นๆในหมื่นจักรวาลต่างก็ถือซึ่งเครื่องทิพยสักการะมาสู่มงคลพิภพแห่งท้าววชิรปาณี แล้วประชุมกันสักการบูชาแก่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ถวายนมัสการแล้วนั่งอยู่ในที่อันสมควรเป็นลำดับๆกัน เทพยดาทั้งหลายเหล่านั้นก็นิรมิตกายให้เล็กเท่าอณุปรมาณู แต่ที่เท่าขนทรายจามรีนั้นอยู่ได้10-20องค์ ตราบเท่าถึงแสนองค์ก็มี เมื่อเทพยดาเจ้าทั้งหลาย มีสมเด็จอมรินทราเทวราชเป็นประธาน ได้มาประชุมกันแล้วก็มีนิสัชนาการอยู่ ลำดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมิได้ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนา ทรงทอดพระเนตรดูในหมู่เทพยดา มิได้เห็นพระพุทธชนนีเสด็จมาที่นั้น จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสถามสมเด็จอมรินทรเทวราชว่า มหาราช ดูก่อนมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดา พระนางสิริมหามายาผู้เป็นพระพุทธชนนีของพระตถาคตนี้มิได้มาแลหรือประการใด ท้าวสหัสนัยน์ได้สดับพระพุทธฎีกา ก็ทรงอาวัชชนาการกำหนดในพระกมลว่า องค์สมเด็จพระบรมทศพลเสด็จมาในครั้งนี้ มีพระพุทธประสงค์จะตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดพระราชชนนีให้ได้ตรัสพระอริยมรรค พระอริยผล พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นมา เหตุฉะนี้ จึงได้ตรัสถามถึงพระนางสิริมหามายาเจ้า สมเด็จอมรินทราธิราชทรงพระดำริฉะนี้แล้ว จึงเสด็จไปสู่พิภพดุสิตซึ่งเป็นที่สถิตแห่งพระนางสิริมหามายา ครั้นถึงแล้วจึงถวายอภิวาทโดยเคารพ ยอพระกรน้อมนมัสการแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระนางสิริมหามายาเจ้าผู้เจริญด้วยสิริสวัสดิ์ บัดนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าผู้ทรงบุญราศีเสด็จมาสู่พิภพแห่งข้าพระบาทประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์ ทรงประทับนั่งคอยท่าเพื่อจะตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดพระองค์ผู้ชนนี ขอเชิญเสด็จไปเฝ้าโดยเร็วพลัน

สมเด็จพระพุทธมารดาทรงถามถึงพระพุทธองค์

พระนางสิริมหามายาพุทธมารดาเจ้าได้ทรงสดับคำสมเด็จอมรินทรามีเทวบัญชาตรัสดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัสปรีดา จึงมีสุนทรวาจาว่า ดูก่อนท้าววชิรปาณีผู้เป็นใหญ่กว่าอมรคณานิกรทั้งหลาย พระบรมโอรสาธิราชของเรานั้น ทรงพระสิริรูปโฉมเป็นประการใด พระโอรสของเรานั้นมีเพศเหมือนพรหม หรือเพศเป็นประการใด พระบวรโอรสแห่งเรานั้น มีพระสุรสำเนียงไพเราะเห็นปานใด ทรงพระภูษาสิ่งใด มีรัศมีเห็นปานใด ท่านได้เห็นเป็นประการใด จงบอกแก่เราให้แจ้งในขันธสันดาน

(ยังมีต่อ)

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ความเป็นมาโดยย่อของพระไตรปิฎก (ต่อ)

(ต่อจากครั้งที่แล้ว)

การสังคายนา กับความเป็นมาของพระไตรปิฎก
การสังคายนา หมายถึง การร้อยกรองพระธรรมวินัย คือ การประชุมสงฆ์ จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบในที่ประชุมนั้นว่า ตกลงกันอย่างนี้ และก็มีการท่องจำกันนำสืบๆต่อกันมา ในครั้งแรกๆการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆมาปรากฏว่ามีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิดตีความหมายผิดและชำระกันให้รู้ข้อผิดข้อถูก ชี้ขาดว่าควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการสังคายนา โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง

ในระยะหลังๆก็ทำเพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทาน ข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความจริง เมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับ การจัดระเบียบ การปัดกวาดเช็ดถูให้สะอาด ทำขึ้นเมื่อไร ก็มีประโยชน์เมื่อนั้น เหมือนการทำความสะอาด การจัดระเบียบในที่อยู่อาศัย

การสังคายนา จึงแตกต่างจากการสวดพระปาติโมกข์ เพราะการสวดปาติโมกข์เป็นการทบทวนความจำของที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางพระวินัย โดยเฉพาะข้อบัญญัติที่เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติของพระภิกษุและภิกษุณี ส่วนการสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดเข้าใจผิดได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันควร บางครั้งพระสงฆ์ในยุคนั้นๆทั้งๆไม่มีข้อถือผิดเข้าใจผิด แต่เห็นสมควรตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก แก้ตัวอักษรหรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อน ก็ถือว่าเป็นการสังคายนา

เพื่อความสะดวกในการศึกษาความเป็นมาของพระไตรปิฎก จากประวัติการสังคายนา จึงควรศึกษาประวัติย่อของการทำสังคายนาดังต่อไปนี้

สถานการณ์พระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน
สถานการณ์พระพุทธศาสนาบางอย่าง มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนพุทธปรินิพพาน ซึ่งตอนปลายพุทธสมัยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายประการ เช่น

พระมหาเถระผู้ใหญ่อย่างพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานเถระ เป็นต้น ได้นิพพานไปก่อนการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ทำให้โฉมหน้าพระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไป เพราะตามหลักฐานในจาตุมสูตร พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอัครสาวกทั้งสองว่า อยู่ในฐานะที่จะบริหารคณะสงฆ์ เสมอด้วยพระองค์ หากพระอัครสาวกทั้งสองไม่นิพพานไปก่อน ระบบการบริหารคณะสงฆ์อาจจะมีรูป มีสังฆปรินายกรูปเดียว เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองนิพพานไปแล้ว พระมหาเถระรูปอื่นไม่ได้รับยกย่องในฐานะดังกล่าว รูปการปกครองพระพุทธศาสนาจึงต้องให้พระสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัย ที่พระองค์ทรงบัญญัติแสดงแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์อย่างที่เป็นอยู่

ฝ่ายคฤหัสถ์ที่มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าสุทโธทนะ ได้สวรรคตและนิพพานไปก่อนไม่นานนัก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางอุตราอุบาสิกา เป็นต้น ก็ได้สิ้นชีวิตไปก่อนพระพุทธเจ้า ทำให้ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาขาดไปหลายท่าน

พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่ออกไปไกลมาก ทำให้การติดต่อสอบทานความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยในพระธรรมวินัยไม่สะดวกเท่าที่ควร ทั้งคนที่เข้ามาบวชก็มีเจตนาแตกต่างกัน ทำให้เรื่องเสื่อมเสียบางอย่างเกิดขึ้น และมีคนบางพวกที่ต้องการเป็นพระ แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คนเหล่านั้นได้แสดงความคิดเห็นของตนออกมาในโอกาสต่างๆ แต่ความแตกแยกอย่างรุนแรงคงไม่เกิดขึ้น หรือถึงแม้จะเกิดขึ้นก็สามารถระงับลงไปได้ดังกล่าวในตอนต้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่า คนพวกนี้จะหมดไปก็หาไม่ เป็นเพียงสงบอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง

พระเถระทั้งหลายในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาสูง ได้พยายามรักษาป้องกันพระธรรมวินัยไว้ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น พระจุนทเถระ ปรารภการนิรวาณของท่านมหาวีระ จนสาวกแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ได้เสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย จนพระสารีบุตรได้ระบพุทธานุมัติให้จัดทำ แต่ทำไม่สำเร็จเพราะท่านนิพพานเสียก่อน

หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง7วัน คนที่ต้องการเป็นพระในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็แสดงตัวออกมาจนเป็นเหตุนำไปสู่การสังคายนาครั้งที่1 ความย่อว่า

สังคายนาครั้งที่1
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้7วัน พระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยบริวารประมาณ500รูป ได้ทราบจากปริพาชกท่านหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้7วันแล้ว ขณะที่ท่านและบริวารพักอยู่ ณ เมืองปาวา ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ทราบข่าวต่างก็แสดงตัวออกมาแตกต่างกัน คือ

ท่านที่เป็นพระอริยบุคคล มีสติอดกลั้นด้วยคิดว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คนจะได้สิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั้งหลายแต่ที่ไหน ฝ่ายท่านที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ได้แสดงความเศร้าโศก เพราะปิยวิปโยคอย่างหนักว่า

"พระผู้มีพระภาคปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก จักษุแห่งโลกหายไปจากโลกเร็วนัก"

ในขณะที่พระอริยบุคคลทั้งหลายได้แสดงความจริงแห่งสังขาร เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นยอมรับตามพระพุทธดำรัสความว่า

"ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาคได้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความเว้น ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์และสังขารทั้งหลายที่รักที่ชอบใจทั้งปวง ย่อมไม่อาจจะหาสิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั้งหลาย สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา การที่เราจะปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าสลายเลย ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้"

ท่านสุภัททวุฑฒบรรพชิต กลับกล่าวปลอบโยนด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไปว่า "พวกเรา พ้นจากมหาสมณะนั้นด้วยดีแล้ว เพราะเมื่อก่อนได้เบียดเบียนเรา ด้วยการตักเตือนว่า นี่ควร นี่ไม่ควร สำหรับพวกเราทั้งหลาย บัดนี้ พวกเราสบายแล้ว พวกเราต้องการทำสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น ไม่ต้องการทำสิ่งใดก็ไม่ทำสิ่งนั้น"

คำพูดของท่านสุภัททวุฑฒบรรพชิต ถือว่าเป็นการกล่าวจ้วงจาบขาดความเคารพต่อพระธรรมวินัยทั้งๆที่ตนเองเป็นพุทธสาวก เสมือนผู้แสดงตนเป็นขบถต่อพระศาสดา แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่ใกล้การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระมหากัสสปเถระจึงไม่ได้กล่าวอะไรในขณะนั้น

หลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปเถระจึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์ พร้อมกับเสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยให้เหตุผลว่า ถ้าปล่อยให้นานไป

"สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัยจักเจริญ สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยจะเสื่อมถอย พวกอธรรมวาทีอวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญ ฝ่ายธรรมวาทีวินัยวาทีจะเสื่อมถอย"

นอกจากนี้ พระกัสสปเถระยังมีเหตุผลส่วนตัวท่าน ที่จะต้องพิทักษ์ศาสนธรรม อันเป็นตัวแทนของพระศาสดาไว้ คือ ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า มีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิของพระองค์กับท่าน อันเปรียบเสมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงเปลื้องเกราะมอบให้เชษฐโอรส เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระราชโอรสจะเป็นผู้รับผิดชอบราชการแผ่นดินต่อไป หลังจากพระองค์สวรรคตไปแล้ว ฐานะที่ทรงยกย่องพระมหากัสสปเถระทั้ง2นี้ ไม่เคยยกย่องพระสาวกรูปอื่นเลย

ในที่สุด มติที่ประชุมของเถระทั้งหลายในคราวนั้น กำหนดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยใช้การกสงฆ์500รูป เป็นพระอรหันต์ล้วนๆ เพื่อประกอบกันเป็นพระสังคีติกาจารย์ และกำหนดให้ทำสังคายนาที่สัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เมื่อพระมหากัสสปเถระเลือกพระอรหันต์ทั้งหลายอยู่นั้น เลือกไปได้ครบ499รูป ก็เกิดปัญหาคือสังคายนาครั้งนี้จะขาดพระอานท์ไม่ได้ เพราะท่านทรงจำพระธรรมวินัยไว้ได้มาก แต่ถ้าจะเลือกท่านเข้าร่วมด้วย ผิดมติที่ประชุม เพราะยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ในที่สุดที่ประชุมจึงเสนอให้ พระมหากัสสปะเลือกพระอานนท์เข้าไปด้วย โดยให้เหตุผลว่า

-แม้พระอานนท์เถระจะเป็นพระเสขบุคคลอยู่ แต่ท่านไม่ลำเอียงด้วยอคติ4ประการ

-พระอานนทเถระ เป็นเสมือนคลังพระสัทธรรม เพราะได้สดับจากพระพุทธเจ้า พระเถระทั้งหลายเป็นอันมาก

พระมหากัสสปเถระจึงเลือกพระอานนท์เถระเข้าร่วมในการสังคายนา และประกาศด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมรับญัตติ3ประการ คือ
1.ยอมรับให้พระเถระจำนวน500รูป ที่คัดเลือกตามมติสงฆ์ เป็นพระสังคีติกาจารย์ มีหน้าที่ในการสังคายนาพระธรรมวินัย
2.ใช้สัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เป็นที่ทำสังคายนา
3.ห้ามพระอื่นนอกจากพระสังคีติกาจารย์ เข้าจำพรรษาในกรุงราชคฤห์ เพื่อสะดวกแก่การบิณฑบาต และป้องกันผู้ไม่หวังดีทำอันตรายแก่การสังคายนา

เมื่อพระสงฆ์ทั้งปวงลงมติยอมรับเป็นเอกฉันท์แล้ว พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายก็เดินทางเข้ากรุงราชคฤห์ ขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องการซ่อมวิหาร18ตำบล สร้างสถานที่ทำสังคายนา ซึ่งทรงรับภาระเกี่ยวกับด้านราชอาณาจักรทุกประการ พระอานนทเถระได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหัตก่อนการทำสังคายนา จึงเป็นอันว่าการทำสังคายนาในคราวนั้น ทำโดยพระอรหันต์ล้วนทั้ง500องค์ โดยเริ่มลงมือทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้3เดือน พระมหากัสสปเถระ ทำหน้าที่ปุจฉาพระวินัยและพระธรรมตามลำดับ โดยที่ประชุมกำหนดให้สังคายนาพระวินัยก่อน เพราะถือว่าพระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยคงดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาย่อมชื่อว่าดำรงอยู่

ทำสังคายนากันอย่างไร?
ในชั้นแรก พระมหากัสสปเถระ พระอุบาลีเถระ และพระอานนทเถระ ได้สวดประกาศสมมติตน เพื่อทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชนาพระวินัยและพระธรรม ตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ต่อแต่นั้น พระมหากัสสปเถระจะสอบถามพระวินัยแต่ละข้อในส่วนที่เกี่ยวกับ วัตถุ นิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ เป็นต้น แห่งสิกขาบทแต่ละบท เมื่อพระอุบาลีตอบไปตามลำดับแล้ว พระสงฆ์ที่ประชุมกันจะสวดพระวินัยข้อนั้นๆพร้อมกัน เมื่อตรงกันไม่ผิดพลาดแล้ว สงฆ์รับว่าถูกต้องแล้ว จึงถามข้ออื่นต่อไป ทำกันโดยนัยนี้จนจบพระวินัยปิฎก แบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้5หมวด คือ อาทิกรรม ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค และบริวาร ปัจจุบันพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขนาดใหญ่ถึง8เล่ม เรียกเป็นหัวใจพระวินัย ว่า อา. ปา. ม. จุ. ป.

ในด้านพระสูตรนั้น ท่านเริ่มสังคายนาพระสูตรขนาดยาวก่อน คือ พรหมชาลสูตร สามัญญผลสูตร เป็นต้น สิ่งที่พระมหากัสสปเถระถาม คือ นิทาน บุคคล เนื้อหาแห่งพระสูตรนั้นๆ เมื่อพระอานนทเถระตอบแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็สาธยายพระสูตรนั้นๆพร้อมกัน จนจบพระสูตรทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น5นิกาย การสังคายนาในคราวนั้น ใช้เวลาถึง7เดือนจึงสำเร็จ

หลังจากเสร็จการสังคายนาแล้ว พระอานนทเถระได้แจ้งให้สงฆ์ทราบว่า ก่อนจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้ารับสั่งไว้ว่า

"เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กๆน้อยๆเสียบ้างก็ได้"

แต่เพราะพระอานนทเถระไม่ได้กราบทูลถามว่า สิกขาบทเล็กๆน้อยๆนั้นคือสิกขาบทอะไรบ้าง กับสงฆ์ไม่อาจหาข้อยุติได้ว่า สิกขาบทเช่นไรเรียกว่าสิกขาบทเล็กน้อย พระมหากัสสปเถระ จึงเสนอเป็นญัตติในที่ประชุมว่าด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาความว่า

-สิกขาบทบางอย่างที่เกี่ยวกับชาวบ้าน ชาวบ้านย่อมทราบว่าอะไรควร หรือไม่ควร สำหรับสมณศากยบุตรทั้งหลาย

-หากจะถอนสิกขาบทบางข้อ ชาวบ้านจะตำหนิว่า พวกเราศึกษาและปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลายในขณะที่พระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่เท่านั้น พอพระศาสดานิพพานก็ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติ

-ขอให้สงฆ์ทั้งปวงอย่าเพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญญัติไว้ สมาทานศึกษาตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น
***********************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ความเป็นมาโดยย่อของพระไตรปิฎก



วันนี้ผมนำเอาเนื้อหาโดยย่อของพระไตรปิฎกมาลงในบล็อก ก็ขอหยุดเว้นระยะการนำเนื้อหาในพระไตรปิฎกมาลงชั่วคราว ท่านผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าเนื้อหาพระไตรปิฎกมีเท่านี้หรือ คำตอบคือไม่ใช่ครับ คำว่าพระไตรปิฎกนั้น ประกอบไปด้วยเนื้อหาใหญ่3ส่วน คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม กล่าวกันโดยรวมนั้นก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญานั่นเองครับ บางท่านอาจแย้งว่า พระสุตตันตปิฎกต่างหากที่น่าจะหมายถึงปัญญา เพราะศึกษาแล้วได้ความรู้ตั้งมากมาย เรื่องนั้นก็จริงครับ แต่ว่าท่านที่อ่านพระสุตตันตปิฎกด้วยตนเองมาพอสมควรย่อมทราบว่าได้สมาธิแบบพิเศษ และสมาธินั้นย่อมให้เกิดปัญญา และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า คำว่าศีล สมาธิ ปัญญานั้นควรแก่การเจริญเพื่อให้ได้ซึ่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ขึ้นในอีกระดับหนึ่ง อีกทั้งพระอภิธรรมนั้นมีจำนวนพระธรรมขันธ์มากถึง 42000 พระธรรมขันธ์ มากเท่ากับ พระวินัยและพระสูตรรวมกัน ดังนั้นก็ขอบอกเลยว่ายังอ่านพระสูตรและพระวินัยได้อีกหลายรอบ หากว่าบางทีผมไปอ้างถึงพระสูตรเดิมๆที่อธิบายไปแล้ว แต่อธิบายไปอีกแบบหนึ่งก็พึงทราบว่า จะถือเอาเป็นการเริ่มต้นศึกษากันใหม่ก็ได้ครับ แต่เวลานี้นั้นผมมีความเห็นว่าควรจะพักเนื้อหาจากพระไตรปิฎกสักสองสัปดาห์ครับ แต่เนื้อหาโดยรวมจะไม่ลดน้อยลง แต่ว่าผมคงจะมาทำบล็อกสัปดาห์ละ3วันสำหรับ2สัปดาห์นี้ครับ

เนื้อหาในวันนี้ผมนำมาจากตำราชื่อ "ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก" โดยคุณเสนาะ ผดุงฉัตร ผมนำเอาเนื้อหาเพียงบางส่วนมาลงครับ หนังสือเล่มนี้เป็นตำราของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะนำตำราของมหาวิทยาลัยมาลงในบล็อกทุกครั้งครับ เนื้อหาต่อๆไปจะเป็นหนังสือทางพระบวรพุทธศาสนาจากสำนักพิมพ์อื่นมาลงในบล็อกด้วยครับ ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มเนื้อหาผมก็ขอถวายอภิวาทองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นครับ
********************************************************************


ประวัติพระวินัยปิฎก

เริ่มแรกทีเดียว คำสอนของพระพุทธองค์ในส่วนที่เป็นข้อห้ามข้อบังคับของพระสงห์สาวกไม่ให้ประพฤติปฏิบัติล่วงละเมิด และปรับโทษ (อาบัติ) แก่ภิกษุล่วงละเมิดนี้ เป็นที่มาแห่งพระวินัยปิฎก พระวินัยนี้ทรงบัญญัติแล้วตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

ในยุคพุทธกาล พระอุบาลีเป็นผู้เชี่ยวชาญการทรงจำวินัย ต่อมาหลังพุทธปรินิพพานพระสงฆ์ประพฤตินอกธรรมวินัยละเมิดพุทธบัญญัติ เช่น สุทัตตภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย ห้ามไม่ให้ภิกษุทั้งหลายเศร้าโศกเสียใจ เพราะเมื่อไม่มีพระพุทธองค์แล้วพวกเราก็สะดวกจะทำอะไรก็ได้ตามความปรารถนา จนเป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่1 แม้สังคายนาครั้งที่2 ก็มีเหตุเนื่องมาจากพวกภิกษุวัชชีบุตรประพฤติย่อหย่อนพระวินัย โดยปฏิบัติตามวัตถุ10ประการ เช่น ตะวันบ่ายเกินเที่ยงไปแล้ว2นิ้ว ภิกษุฉันเพลได้ หรือภิกษุดื่มเหล้าดิบได้ หรือภิกษุรับเงินทองได้เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป "การล่วงละเมิดพุทธบัญญัติที่ทรงห้ามไว้ จนเป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อยหมวดหมู่เดียวกัน โดยมีพระเถระผู้ทรงจำวินัยเป็นผู้วินิจฉัย จึงเป็นที่มาของพระวินัยปิฎก"
********************
ความหมายของพระสุตตันตปิฎก

คำว่า "สุตต" หรือ "สุตตันต" หมายถึงเส้นด้ายหรือเส้นบรรทัด เพราะเส้นด้ายหรือเส้นบรรทัดก็เป็นของสำคัญของช่างไม้ ฉันใด พระสูตรก็ถือว่าเป็นแนวทางดำเนินชีวิตของคน ฉันนั้น เส้นด้ายใช้ร้อยดอกไม้ให้เป็นระเบียบได้ ฉันใด พระสูตรก็เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฉันนั้น
********************
ความเป็นมาของพระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก หมายถึง พระคัมภีร์ที่บันทึกและรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในส่วนที่เป็นข้อปฏิบัติที่เรียกว่า ธรรมะ นอกจากกล่าวถึงธรรมทั่วๆไปแล้ว ยังกล่าวถึงประวัติและเรื่องราวนั้นๆประกอบด้วยพระสุตตันตปิฎกมีความสำคัญมากทีเดียวสำหรับชาวพุทธ เพราะถ้าไม่มีพระสุตตันตปิฎกสำหรับบันทึกและรวบรวมพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะอันตรธานสูญหายไป ตกหล่น หรืออาจะมีข้อผิดเพี้ยนจากต้นฉบับเดิมก็ได้ ดังเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา อ้างหลักธรรมในลัทธิของตนเองว่าเป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ทำสังคายนาครั้งที่3 ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรม เป็นความจริงตามธรรมชาติ สามารถที่จะพิสูจน์ได้ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสถานที่ ธรรมะเป็นของมีอยู่แล้วในโลก ไม่ว่าพระพุทธองค์จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมะคือสัจธรรมมีอยู่แล้ว ใครก็ตามถ้าบำเพ็ญบารมีแก่กล้า สามารถตัดกิเลสตัณหาทั้งปวงออกได้ ตรัสรู้อย่างพระพุทธเจ้า ย่อมได้ชื่อว่าพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์มาก สามารถช่วยผู้ประพฤติธรรมให้บรรลุจุดมุ่งหมาย และช่วยให้เขามีความสุขความสงบด้วย ดังสุภาษิต ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจารี แปลว่า ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธัมมจารี สุขัง เสติ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข


ประวัติพระสุตตันตปิฎก


เมื่อสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีสาวกสำคัญหลายองค์ที่สามารถทรงจำหมวดธรรมะ (พระสูตร) ต่างๆได้ เช่น พระอานนทเถระ พระโสณกุฏิกัณณะ และพระสารีบุตรเป็นต้น ในการจำหมวดธรรมะ ถ้าองค์ไหนเชี่ยวชาญในส่วนไหน ตอนไหน ก็ทรงจำส่วนนั้น ตอนนั้น เช่น สามารถท่องจำพระสูตรยาวๆได้ เรียกว่า ทีฆภาณกะ แปลว่า ผู้สวดคัมภีร์หมวดยาว ผู้สามารถท่องจำพระสูตรขนาดกลางได้ เรียกว่า มัชฌิมภาณกะ แปลว่า ผู้สวดคัมภีร์ขนาดกลาง และได้มีการแบ่งงานกันท่องจำพระสุตตันตปิฎก จนมีสำนักท่องจำเกิดขึ้น เจ้าของสำนักก็เป็นพระเถระและมีลูกศิษย์ไปเล่าเรียนท่องจำด้วย การท่องจำในสมัยพุทธกาลเป็นเหตุให้พระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นระเบียบหมวดหมู่ และมีความหมายไม่ผิดเพี้ยนไปจากพุทธประสงค์


เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัย โดยอาศัยมูลเหตุต่างๆกัน ร้อยกรอง จัดระเบียบและชำระให้ถูกต้องตามความหมายเดิม สังคายนาครั้งที่1-2 ยังเรียกว่าสังคายนาพระธรรมวินัยอยู่ ตามอรถกถาบอกว่า พระไตรปิฎกมีมาแล้วตั้งแต่การทำสังคายนาครั้งที่1 เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันสรุปได้ว่า ประวัติพระสุตตันตปิฎกมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่พระเถระทั้งหลายท่องจำหมวดธรรมะต่างๆจนถึงหลังพุทธปรินิพพาน มีการทำสังคายนาครั้งที่1เป็นต้นมา
************************
กำเนิดพระอภิธรรม

กำเนิด หรือ ความเป็นมาของพระอภิธรรมนั้น ปรากฏว่าเกิดพร้อมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งท่านกล่าวเป็นตำนานไว้ว่า ขณะพุทธองค์ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ ผินพระพักตร์สู่ปราจีนทิศ เมื่อพระอาทิตย์ยังมิอัสดงคตนั่นแล ทรงกำจัดมารและพลมารได้แล้ว ทรงบรลุบุพเพนิวาสญาณในปฐมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณในมัชฌิมยาม ทรงรู้แจ้งแทงตลอดสัพพัญญุตญาณประดับด้วยพระพุทธคุณทั้งปวง มีทศพลญาณและจตุเวสารัชชญาณเป็นต้น โดยเฉพาะในอวสานของปัจฉิมยาม ทรงประสบมหาสมุทรแห่งนัยของพระอภิธรรม (ทะเลหลวงแห่ง (อภิธรรม)นัย)นี้แล้ว และมีเรื่องเล่าความตรงกันหลายแห่งไว้ในคัมภีร์อรรถกถาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระอภิธรรมิก(คือ พระผู้ทรงรอบรู้ทรงจำพระอภิธรรม) พระองค์แรก เพราะว่าเมื่อประทับอยู่เหนือพระบัลลังก์ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธินั้น ได้ทรงรู้แจ้งแทงตลอดพระอภิธรรมแล้ว และในสัปดาห์ที่4 ภายหลังตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เทวดาทั้งหลายได้นิรมิตเรือนแก้ว (รตนฆระ) ขึ้นไว้ทางทิศพายัพของต้นพระศรีมหาโพธิ พระบรมศาสดาเสด็จไปประทับนั่งโดยบัลลังก์ในเรือนแก้วนั้น แล้วทรงตรวจเลือกพระอภิธรรมปิฎกทั้ง7ปกรณ์ และในพระอภิธรรมปิฎก7ปกรณ์นั้น ทรงตรวจเลือกพระสมันตปัฏฐานอนันตนัยเป็นพิเศษ ผ่านไปตลอด1สัปดาห์(ดูแผนผัง สัตตมหาสถาน)

ในอรรถกถาชื่ออัฏฐสาลินี เล่าขยายความไว้ว่า ภายหลังที่พระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ ณ โพธิบัลลังก์แล้ว ในสัปดาห์ที่1ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว ทรงพิจารณาทบทวนพระธรรมที่ทรงรู้แจ้งแทงตลอด และเสวยวิมุตติสุขอยู่ตลอด7วัน ในสัปดาห์ที่2เสด็จลุกขึ้นจากบัลลังก์ประทับยืนทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์โดยไม่ทรงกระพริบพระเนตร (ณ อนิมิสสเจดีย์)ตลอด7วัน จนพวกเทวดาพากันปริวิตก และเพื่อระงับวิตกของเทวดาทั้งหลาย พระบรมศาสดาจึงเสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศแล้วทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จลงจากอากาศระหว่างโพธิบัลลังก์กับที่ประทับยืนทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์ ทรงพระดำเนินจงกรมไปมาอยู่ (ณ รัตนจงกรมเจดีย์) ตลอดเวลา7วัน ครั้นในสัปดาห์ที่4เสด็จเข้าประทับในเรือนแก้ว (รตนฆระ) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพของโพธิบัลลังก์) แล้วทรงกำหนดพิจารณาพระปกรณ์ทั้ง7พระคัมภีร์ ดังกล่าวถึงในปัญหากรรม ข้างหน้า และเล่าต่อไปว่า เมื่อพระบรมศาสดาทรงกำหนดพิจารณาพระธัมมสังคณีอยู่ในเรือนแก้วนั้น พระรัศมียังมิได้พวยพุ่งออกจากพระสรีระ ถึงแม้เมื่อทรงกำหนดพิจารณาวิภังคปกรณ์,ธาตุกถา ,ปุคคลปัญญัติ,กถาวัตถุ และยมกปกรณ์ พระรัศมีทั้งหลายก็ยังหาได้พวยพุ่งออกจากพระสรีระไม่

แต่เมื่อพระบรมศาสดาทรงกำหนดพิจารณาหยั่งลงสู่(พระสมันตปัฏฐาน) มหาปกรณ์ เริ่มทรงกำหนดพิจารณา "เหตุปัจจโย อารัมมณปัจจโย อธิปปติปัจจโย ฯลฯ อวิคตปัจจโย"ดังนี้ ในขณะนั้น ทันทีที่พระบรมศาสดาทรงกำหนดพิจารณาพระสมันตปัฏฐาน24 พระสัพพัญญุตญาณก็ได้โอกาสหยั่งลงในมหาปกรณ์โดยเฉพาะแต่ทางเดียว..... เมื่อพระบรมศาสดาทรงกำหนดพิจารณาพระธรรมที่ละเอียดสุขุมตามสบายพระทัย ด้วยพระสัพพัญญุตญาณซึ่งได้โอกาสแล้วอย่างนี้ พระรัศมีมีวรรณะ6คือ นิล(เขียวคราม) เหลือง แดง ขาว มัญเชฏฐะ และประภัสสร ก็พวยพุ่งออกจากพระพุทธสรีระ

****************************

(ยังมีต่อ)

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บุคคลที่จะบรรลุธรรมก็ต้องละซึ่งความถือตัว

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนการละกิเลสเพื่อความหลุดพ้น กิเลสข้อหนึ่งคือมานะ ได้แก่ความถือตัว ไม่ใช่ว่าละความถือตัวชนิดต้องลดตัวไปคบหาคนไม่ดีอะไรทำนองนั้นครับ อย่างพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อเวลาสร้างบารมี ตามพระไตรปิฎกกล่าวถึงจริยาของท่านเหล่านั้นว่า พึงเที่ยวไปในวัฏฏสงสารเพียงผู้เดียวประดุจนอแรด ทั้งนี้เพราะพุทธธรรมมุ่งหมายเอาที่ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นเป็นสำคัญ บุคคลที่จะสร้างบารมีนั้นท่านไม่เบียดเบียนใครครับ ผู้เบียดเบียนผู้อื่น บารมีเขาก็มีแต่จะถอยหลังเข้าคลอง ผู้สร้างบารมีละมานะก็โดยการเปิดเผยตัวตนของตัวเองตามความเป็นจริง ตนเองเคยทำความไม่ดีมาก็ไม่ปิดบัง ตนเองมีคุณธรรมอย่างไรก็ไม่โอ้อวดจนเกินความจริง ผมจะยกตัวอย่างเช่นท่านโก้วเล้ง นักเขียนชื่อดังผู้ล่วงลับที่อาจจะพลาดพลั้งทำความผิดมามาก ท่านเปิดเผยตัวตนของท่านเองอย่างหมดเปลือกในนิยายที่ท่านเขียน หรือเจ.อาร์.อาร์.โทลคีน ผู้เขียนเรื่องลอร์ดออฟเดอะริงนั้น เขียนหนังสือที่ทั้งถ่ายทอดทั้งความรู้ที่มีประโยชน์ ถ่ายทอดทั้งตัวตนของท่านเองอย่างหมดเปลือกเหมือนกัน การสร้างสมบารมีอย่างนี้ครับ เป็นหนทางที่ถูกต้อง กรณีพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้นั้น แต่ครั้งยังเป็นสุเมธดาบสได้ทอดร่างเป็นทางให้ให้พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านทางที่ยังทำไม่เสร็จ ในเบื้องลึกแล้ว ความรู้และบารมีทั้งหลายที่ท่านสุเมธดาบสสร้างสมมาได้ถ่ายทอดแก่พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น ความรู้นี้ได้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างมาก นี่คือความหมายที่แท้จริงของการที่สุเมธดาบสได้รับการพยากรณ์ความเป็นพระนิยตโพธิสัตว์ครับ กรณีพระศรีอาริยเมตไตรย์นั้น ท่านละมานะได้แน่ๆเพราะถึงขนาดตัดศีรษะตนเองบูชาพระพุทธเจ้า จีซัสไครสต์หรือพระเยซูคริสต์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งครับ

พระสูตรต่างๆมี่ยกมาวันนี้เป็นเรื่องการละมานะเป็นสำคัญ บุคคลเมื่อคิดจะหลุดพ้นต้องละมานะ ถ้าคิดจะโต้เถียงหรือจับผิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องนี้เป็นความโง่เขลาเบาปัญญาอย่างแท้จริง นอกจากจะเป็นไปโดนธรรมอันพิสดารอย่างแท้จริง ดังที่ท่านพระสารีบุตรกระทำในบางครั้ง ข้อนั้นเจตนาก็เพื่อประโชน์ในพระศาสนา อย่างเกสีสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าผู้ที่ไม่รับฟังธรรมของพระองค์โดยดี ไม่ว่าจะโดยวิธีละมุนละม่อมและวิธีรุนแรง(เช่นการแสดงถึงอบายภูมิ) พระองค์ย่อมทรงถือว่าบุคคลนี้ไม่ใช่ผู้ที่จะสั่งสอนได้ ตามพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสว่าก็ฆ่าเขาเสียเลย กล่าวคือไม่สั่งสอนไม่ตักเตือนอีก ซึ่งเป็นการฆ่าอย่างดีในพระอริยวินัย

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม13 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
*****************************************************
เกสีวรรคที่ ๒
เกสีสูตร
[๑๑๑] ครั้งนั้นแล สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรเกสี ท่านอันใครๆ ก็รู้กันดีแล้วว่าเป็นสารถี ผู้ฝึกม้า ก็ท่านฝึกหัดม้าที่ควรฝึกอย่างไร สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสีกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง ฯ พ. ดูกรเกสี ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่านไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ท่านจะทำอย่างไรกะมัน ฯ เก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ ไม่เข้าถึงการ ฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ก็ฆ่ามันเสียเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่าโทษมิใช่คุณอย่าได้มีแก่สกุลอาจารย์ของเราเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเป็นสารถีฝึกบุรุษชั้นเยี่ยม ก็พระผู้มีพระภาค ทรงฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างไร ฯ พ. ดูกรเกสี เราแล ย่อมฝึกบุรุษที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง ดูกรเกสี ในวิธีทั้ง ๓ นั้น การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธี ละม่อม คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีรุนแรง คือกายทุจริต เป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริต เป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้ การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้ง รุนแรง คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่ง มโนสุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ เทวดา เป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัย เป็นดังนี้ ฯ เก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของพระองค์ไม่เข้าถึงการฝึก ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง พระผู้มีพระภาค จะทำอย่างไรกะเขา ฯ พ. ดูกรเกสี ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของเราไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสียเลย ฯ เก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาตไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเลย ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสอย่างนี้ว่า ฆ่าเขาเสีย ฯ พ. จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าบุรุษที่ควร ฝึกใด ย่อมไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อม ทั้งรุนแรง ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้ พรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนก็ย่อมไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน ดูกรเกสี ข้อที่ตถาคต ไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารี ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลายก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน นี้เป็นการฆ่าอย่างดี ในวินัยของพระอริยะ ฯ เก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควร ว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้วิญญูชนก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน นั้นเป็นการฆ่าอย่างดีแน่นอน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๑
ชวสูตร
[๑๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชาประกอบ ด้วยองค์ ๔ ประการ ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น ย่อมถึงการนับว่า เป็นราชพาหนะ องค์ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ซื่อตรงประการ ๑ ว่องไวประการ ๑ อดทนประการ ๑ สงบเสงี่ยมประการ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น ย่อมถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ฉันนั้นเหมือนกันแล ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ซื่อตรงประการ ๑ ว่องไวประการ ๑ อดทน ประการ ๑ สงบเสงี่ยมประการ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควร ทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ฯ
จบสูตรที่ ๒
ปโตทสูตร
[๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ๔ จำพวกนี้มีปรากฏ อยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ พอเห็น เงาปะฏักเข้าก็ย่อมสลด ถึงความสังเวชว่า วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุ อะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย ตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ ๑ มี ปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เห็นเงาปะฏักแล้ว ย่อมไม่สลด ไม่ถึงความสังเวชเลยทีเดียว แต่เมื่อถูกแทงด้วยปะฏักที่ขุมขน จึงสลด ถึงความสังเวชว่า วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัว ในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เห็นเงาปะฏัก แล้วย่อมไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช แม้ถูกแทงด้วยปะฏักที่ขุมขนก็ไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช แต่เมื่อถูกแทงด้วยปะฏักถึงผิวหนังจึงสลด ถึงความสังเวชว่า วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นม้า อาชาไนยตัวเจริญที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เห็นเงาปะฏัก ก็ไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช แม้ถูกแทงด้วยปะฏักที่ขุมขนก็ไม่สลด ไม่ถึง ความสังเวช แม้ถูกแทงด้วยปะฏักถึงผิวหนังก็ไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช แต่เมื่อ ถูกแทงด้วยปะฏักถึงกระดูก จึงสังเวช ถึงความสลดว่า วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจัก ให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้า อาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นม้าอาชาไนยตัวเจริญ ที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก ฉันนั้นเหมือนกัน ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้นมีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา เขาย่อมสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้ โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และ เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ม้าอาชาไนยตัวเจริญพอเห็นเงาปะฏักย่อมสลด ถึงความสังเวช แม้ฉันใด เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้เปรียบฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เจริญที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา แต่เขา เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยาเอง เขาจึงสลด ถึงความสังเวช เพราะเหตุนั้น เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ม้าอาชาไนยตัวเจริญถูกแทงด้วยปะฏักที่ขุมขนย่อมสลด ถึงความสังเวช แม้ฉันใด เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้เปรียบฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนย ผู้เจริญบางคนในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เจริญที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา และไม่ได้ เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยาเอง แต่ญาติหรือสาโลหิตของเขา ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา เขาจึงสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น เป็นผู้ สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ม้าอาชาไนยตัว เจริญถูกแทงผิวหนังจึงสลด ถึงความสังเวช แม้ฉันใด เรากล่าวบุรุษอาชาไนย ผู้เจริญนี้เปรียบฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เจริญที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา และไม่ได้ เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยาเอง ทั้งญาติหรือสาโลหิตของเขา ก็ไม่ถึงทุกข์ หรือทำกาลกิริยา แต่เขาเองทีเดียว อันทุกขเวทนาเป็นไปทางสรีระ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะนำชีวิตไปเสีย ถูกต้องแล้ว เขาจึงสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น เป็นผู้สลดแล้วเริ่มตั้งความเพียรไว้โดย แยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้ง แทงตลอดด้วยปัญญา ม้าอาชาไนยตัวเจริญถูกแทงด้วยปะฏักถึงกระดูก จึงสลด ถึงความสังเวช แม้ฉันใด เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้เปรียบฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เจริญที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษ อาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
จบสูตรที่ ๓
นาคสูตร
[๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบด้วย องค์ ๔ ย่อมเป็นช้างควรแก่พระราชา เป็นช้างต้น ย่อมถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะ องค์ ๔ เป็นไฉน คือ ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ในโลกนี้ เป็นสัตว์ สำเหนียก ๑ กำจัดได้ ๑ อดทน ๑ ไปได้เร็ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้าง ตัวประเสริฐของพระราชาเป็นสัตว์สำเหนียกอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้าง ตัวประเสริฐของพระราชา ในโลกนี้ ย่อมเอาใจใส่มนสิการถึงเหตุการณ์ที่นาย- *ควาญช้างจะให้กระทำ ที่ตนเคยทำก็ตาม ไม่เคยทำก็ตาม ประมวลเหตุการณ์ ทั้งหมดไว้ด้วยใจ คอยเงี่ยโสตสดับอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐ ของพระราชา เป็นสัตว์สำเหนียกอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้างตัวประเสริฐของพระราชา เป็นสัตว์กำจัดได้ อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ในโลกนี้ เข้าสู่สงคราม แล้ว ย่อมกำจัดช้างบ้าง พลช้างบ้าง ม้าบ้าง พลม้าบ้าง รถบ้าง พลรถบ้าง พลเดินเท้าบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชาเป็นสัตว์ กำจัดได้อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้างตัวประเสริฐของพระราชาเป็นสัตว์อดทนอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ในโลกนี้ เข้าสู่สงครามแล้ว เป็นสัตว์อดทนต่อการประหารด้วยหอก ต่อการประหารด้วยดาบ ต่อการประหาร ด้วยหลาว ต่อเสียงระเบ็งเซ็งแซ่แห่งกลอง บัณเฑาะว์และสังข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชาเป็นสัตว์อดทนอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้างตัวประเสริฐของพระราชา เป็นสัตว์ไปได้เร็ว อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชาในโลกนี้ นายควาญช้าง จะใช้ไปสู่ทิศใด ตนจะเคยไปหรือไม่เคยไปก็ตาม ย่อมเป็นสัตว์ไปสู่ทิศนั้น เร็วพลันทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา เป็นสัตว์ ไปได้เร็วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบ ด้วยองค์ ๔ นี้แล ย่อมเป็นสัตว์ควรแก่พระราชา เป็นช้างต้น ถึงการนับว่าเป็น ราชพาหนะ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ สำเหนียก ๑ กำจัดได้ ๑ อดทน ๑ ไปได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ สำเหนียกอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จดจำ กระทำธรรมวินัยนี้อันพระตถาคต ประกาศแล้ว ทรงแสดงอยู่ ไว้ในใจ ประมวลธรรมวินัยทั้งปวงไว้ด้วยใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สำเหนียกอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้กำจัดได้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ซึ่งกามวิตกอันบังเกิดขึ้นแล้ว กระทำให้พินาศ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ซึ่งพยาบาทวิตก อัน บังเกิดขึ้นแล้ว กระทำให้พินาศ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อม บรรเทาซึ่งวิหิงสาวิตก อันบังเกิดขึ้นแล้ว กระทำให้พินาศ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ซึ่งธรรมอันเป็นบาปอกุศล อันบังเกิดขึ้นแล้ว กระทำให้พินาศ ให้ถึงความไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้กำจัดได้ อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย สัมผัสแห่ง เหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีปรกติอดทนต่อคำกล่าว อันหยาบคาย ร้ายกาจ ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ต่อทุกขเวทนาเป็นไปทางสรีระ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะนำชีวิตไปเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อดทนอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ไปได้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทิศใด ที่ตนไม่เคยไป โดยกาลนานนี้ คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืน อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เป็นผู้ ไปสู่ทิศนั้นได้เร็ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไปได้อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของ ต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มี นาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ฯ
จบสูตรที่ ๔
ฐานสูตร
[๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ มีเหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฉิบหาย ๑ มีเหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ ๑ มีเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อ ความฉิบหาย ๑ มีเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเหตุ ๔ ประการนั้น เหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่าไม่ควร ทำโดยส่วนทั้งสองทีเดียว คือ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ไม่ควรทำแม้โดยเหตุเพื่อทำ สิ่งที่ไม่พอใจ ย่อมสำคัญว่า ไม่ควรทำแม้โดยเหตุที่เมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความ ฉิบหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่าไม่ควรทำโดยส่วน ทั้งสองทีเดียว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ พึงทราบคนพาลและบัณฑิตได้ ในเพราะกำลังของบุรุษ ในเพราะความเพียรของบุรุษ ในเพราะความบากบั่นของบุรุษ คนพาลย่อมไม่ สำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้เพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ดังนี้ เขาย่อมไม่กระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขาไม่ กระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้ เพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้ เมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ดังนี้ เขาย่อมกระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขากระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำ เข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย พึงทราบคนพาลและบัณฑิต ในเพราะกำลังของ บุรุษ ในเพราะความเพียรของบุรุษ ในเพราะความบากบั่นของบุรุษ คนพาล ย่อมไม่สำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้เพื่อทำสิ่งที่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อ ทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ดังนี้ เขาย่อมกระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขา กระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้ เพื่อทำสิ่งที่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฉิบหาย ดังนี้ เขาย่อมไม่กระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขาไม่กระทำอยู่ ย่อมเป็น ไปเพื่อประโยชน์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อม เป็นไปเพื่อประโยชน์ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ควรทำโดยส่วนทั้ง ๒ ทีเดียว คือ ย่อม สำคัญว่า ควรทำโดยเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และโดยเหตุที่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็น ไปเพื่อประโยชน์ เหตุนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ควรทำโดยส่วนทั้ง ๒ ทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕
อัปปมาทสูตร
[๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละกายทุจริต จงเจริญ กายสุจริต และอย่าประมาทในการละกายทุจริตและการเจริญกายสุจริตนั้น จงละ วจีทุจริต จงเจริญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจีทุจริตและการเจริญ วจีสุจริตนั้น จงละมโนทุจริต จงเจริญมโนสุจริต และอย่าประมาทในการละ มโนทุจริตและการเจริญมโนสุจริตนั้น จงละมิจฉาทิฐิ จงเจริญสัมมาทิฐิ และอย่า ประมาทในการละมิจฉาทิฐิและการเจริญสัมมาทิฐินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาล ใดแล ภิกษุละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโน ทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฐิ เจริญสัมมาทิฐิได้แล้ว ในกาลนั้น เธอย่อม ไม่กลัวต่อความตาย อันจะมีในภายหน้า ฯ
จบสูตรที่ ๖
อารักขสูตร
[๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติ เครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ในฐานะ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ๑ จิตของเราอย่าขัดเคือง ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ๑ จิตของเราอย่าหลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง ความหลง ๑ จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ๑ ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย ในกาลใดแล จิตของภิกษุไม่กำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะปราศจากความกำหนัด จิตของภิกษุไม่ขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความ ขัดเคือง เพราะปราศจากความขัดเคือง จิตของภิกษุไม่หลงในธรรมเป็นที่ตั้ง แห่งความหลง เพราะปราศจากความหลง จิตของภิกษุไม่มัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้ง แห่งความมัวเมา เพราะปราศจากความมัวเมา ในกาลนั้น เธอย่อมไม่หวาดเสียว ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้ง และย่อมไม่ไปแม้เพราะเหตุแห่งถ้อยคำ ของสมณะ ฯ
จบสูตรที่ ๗
สังเวชนียสูตร
[๑๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวช แห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้ ๔ แห่งเป็นไฉน คือ สถานที่ควรเห็น ควร ให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธาว่า พระตถาคตประสูติ ณ ที่นี้ ๑ พระ- *ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตทรงประกาศธรรมจักร อันยอดเยี่ยม ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตร ผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๘
ภยสูตรที่ ๑
[๑๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ชาติภัย ๑ ชราภัย ๑ พยาธิภัย ๑ มรณภัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๙
ภยสูตรที่ ๒
[๑๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ อัคคีภัย ๑ อุทกภัย ๑ ราชภัย ๑ โจรภัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบเกสีวรรคที่ ๒
---------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. เกสีสูตร ๒. ชวสูตร ๓. ปโตทสูตร ๔. นาคสูตร ๕. ฐานสูตร ๖. อัปปมาทสูตร ๗. อารักขสูตร ๘. สังเวชนียสูตร ๙. ภยสูตรที่ ๑ ๑๐. ภยสูตรที่ ๒ ฯ
----------
*************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ที่พระนครเวสาลี

พระสูตรในวันนี้กล่าวถึงพระนครเวสาลี สถานที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขาร แต่ครั้งพระองค์และท่านพระอานนท์จะทรงเดินทางไปตามหัวเมืองต่างๆ มีจุดหมายปลายทาง ณ ที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเองจะทรงเลือกเป็นสถานที่ปรินิพพาน ครั้งนั้น พระองค์ตรัสแก่ท่านพระอานนท์ว่าเวลานี้พระองค์จะได้ทอดทัศนาพระนครเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย ตลอดรายทางพระองค์ทรงสั่งสอนชนเป็นอันมากว่า ศีลคืออะไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่าพระผู้มีพระภาคทรงเลือกเอาเมืองกุสินารา ซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองเล็ก ท่านพระอานนท์ทูลทัดทานว่าขอพระองค์จงทรงเลือกเมืองที่ใหญ่กว่านี้และสมพระเกียรติยิ่งกว่านี้เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ในอดีตกาล สถานที่เมืองกุสินารานี้เป็นเมืองใหญ่ชื่อว่ากุสาวดี คับคั่งด้วยประชาชนพลเมืองและยวดยานพาหนะ จอแจด้วยเสียงเจรจาและต่อรองค้าขาย เป็นแหล่งแห่งการค้าขายและการประกอบสัมมาอาชีพ พระองค์เองทรงเสวยพระชาติเป็นพระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ใจความดังปรากฎในมหาสุทัสสนสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่มที่2

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎกเล่ม12 อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
**********************************************
กุสินารวรรคที่ ๓
กุสินารสูตร
[๕๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ชื่อว่า พลิหรณะ ใกล้พระนครกุสินารา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีหรือบุตร คฤหบดี เข้าไปหาเธอแล้วนิมนต์เพื่อฉันอาหารในวันพรุ่งนี้ ภิกษุปรารถนาอยู่ ย่อมจะรับนิมนต์ ภิกษุนั้น โดยราตรีนั้นล่วงไป เวลาเช้า นุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น แล้วนั่งลงบน อาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยขาทนียโภชนี- *ยาหารอันประณีตด้วยมือของตนจนเพียงพอ เธอคิดเช่นนี้ว่า ดีแท้ๆ คฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีนี้ อังคาสเราด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนจน เพียงพอ เธอคิดแม้เช่นนี้ว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ แม้ต่อๆ ไป ก็พึงอังคาสเราด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต เห็นปานดังนี้ ด้วยมือของตนจน เพียงพอ เธอกำหนัด หมกมุ่น พัวพัน ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคบิณฑบาตนั้น เธอตรึกเป็นกามวิตกบ้าง ตรึกเป็นพยาบาทวิตกบ้าง ตรึกเป็น วิหิงสาวิตกบ้าง ในเพราะบิณฑบาต ดูกรภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาตที่ถวายแก่ภิกษุ ผู้เห็นปานดังนี้ เรากล่าวว่าไม่มีผลมาก ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะภิกษุเป็นผู้ ประมาทอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านหรือ นิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนิมนต์เธอเพื่อฉันอาหารในวัน พรุ่งนี้ ภิกษุปรารถนาอยู่ ย่อมจะรับนิมนต์ ภิกษุนั้น โดยราตรีนั้นล่วงไป เวลาเช้า นุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอนี้ด้วย ขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนจนเพียงพอ เธอไม่คิดแม้เช่นนี้ว่า ดีแท้ๆ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ อังคาสเราด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนเพียงพอ เธอไม่คิดเช่นนี้ว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ แม้ต่อๆ ไปก็พึงอังคาสเราด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนจน เพียงพอ เธอไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคบิณฑบาตนั้น เธอตรึกเป็นเนกขัมมวิตกบ้าง ตรึกเป็นอัพยาบาทวิตกบ้าง ตรึกเป็นอวิหิงสาวิตกบ้าง ในเพราะบิณฑบาตนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาตที่ ถวายแก่ภิกษุผู้เห็นปานดังนี้ เรากล่าวว่า มีผลมาก ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะ ภิกษุเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ ฯ
[สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงประทับอยู่ที่ป่าชื่อพลิหรณะ ไม่ไกลจากเมืองกุสินารา พระผู้มีพระภาคทรงเตือนภิกษุทั้งหลายมิให้มีจิตคิดจดจ่อในบิณฑบาตว่า วันนี้เราได้รับอาการอย่างประณีตและเพียงพอแก่ความต้องการ แม้วันต่อๆไปก็ขอเราจงได้รับบิณฑบาตเช่นนี้อีก ซึ่งความปริวิตกดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วยกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก]
ภัณฑนสูตร
[๕๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุทั้งหลาย เกิดบาดหมาง กัน เกิดทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ทิศเช่นนี้ ย่อมไม่ผาสุกแก่เราแม้แต่คิดในใจ จะกล่าวไปใยถึงการไปเล่า ในเรื่องนี้ เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นละทิ้งธรรม ๓ ประการเสียแล้ว ได้ทำ ให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการเป็นแน่ ได้ละธรรม ๓ ประการเหล่าไหน ได้ละธรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ เนกขัมมวิตก ๑ อัพยาปาทวิตก ๑ อวิหิงสาวิตก ๑ ได้ ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการเหล่าไหน ได้ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุ ทั้งหลาย เกิดบาดหมางกัน เกิดทะเลาะวิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก อยู่ ทิศเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผาสุกแก่เราแม้แต่คิดในใจ จะป่วยกล่าวไปใยถึงการ ไป ในเรื่องนี้เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละทิ้งธรรม ๓ ประการ นี้เสียแล้ว ได้ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการนี้เป็นแน่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศ ใด ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้สามัคคีกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนม กับน้ำ ต่างมองดูกันและกันด้วยนัยน์ตาอันแสดงความรักอยู่ ทิศเช่นนี้ย่อมผาสุก แก่เราแม้แต่จะไป จะป่วยกล่าวไปใยถึงการคิดในใจเล่า ในเรื่องนี้เราสันนิษฐาน ได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละธรรม ๓ ประการเสียได้แล้ว ได้ทำให้มากซึ่ง ธรรม ๓ ประการเป็นแน่ ได้ละธรรม ๓ ประการเหล่าไหน ได้ละธรรม ๓ ประ- *การเหล่านี้ คือ กามวิตก ๑ พยาปาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ได้ทำให้มากซึ่ง ธรรม ๓ ประการเหล่าไหน ได้ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ เนกขัมมวิตก ๑ อัพยาปาทวิตก ๑ อวิหิงสาวิตก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้สามัคคีกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ ต่างมองดูกันและกันด้วยนัยน์ตาอันแสดงความรักอยู่ ทิศเช่นนี้ย่อมผาสุกแก่เรา แม้แต่จะไป จะป่วยกล่าวไปใยถึงการคิดในใจเล่า ในเรื่องนี้เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละธรรม ๓ ประการนี้ได้เสียแล้ว ได้ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการนี้เป็นแน่ ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสถึงการที่ในทิศใดๆก็ตาม ภิกษุทั้งหลายวิวาทบาดหมาง ขัดแย้งกันอยู่ พระองค์ย่อมไม่ทรงมีความผาสุกในพระทัยเมื่อเพียงจะดำริถึงทิศนั้น สถานที่นั้น จะกล่าวไปทำไมถึงการที่จะไปเยือน พระองค์ทรงสันนิษฐานว่าผู้มีอายุเหล่านั้นคงจะประกอบไปด้วยธรรม3ประการคือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ความรักใคร่กลมเกลียวกันในหมูาท่านผู้มีอายุนั้นย่อมมีได้เพราะการละซึ่งธรรม3ประการดังกล่าว และเจริญซึ่งธรรม3ประการคือเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก]
โคตมสูตร
[๕๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ ใกล้พระนครเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว จึงแสดง ธรรม ไม่รู้ไม่แสดง แสดงธรรมมีเหตุ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุ แสดง ธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว จึงแสดงธรรม ไม่รู้ไม่แสดง แสดงธรรมมีเหตุ ไม่ใช่แสดงไม่มีเหตุ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ท่านทั้งหลายควรทำโอวาท ควรทำอนุสาสนี ก็แหละท่านทั้งหลายควรที่จะ ยินดี ควรที่จะชื่นชม ควรที่จะโสมนัสว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสคำไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ พัน โลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว ฯ
[สมัยหนึ่ง ที่พระนครเวสาลี ณ โคตมกะเจดีย์ พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ธรรมทั้งหลายที่พระองค์ตรัสนั้น
1.พระองค์ทรงรู้ยิ่งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงตรัส มิใช่ว่าตรัสโดยไม่รู้
2.พระองค์ตรัสโดยมีเหตุ มิใช่ตรัสโดยไม่มีเหตุ
3.พระองค์ตรัสธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่ว่าตรัสโดยไม่มีปาฏิหาริย์ควรที่ภิกษุทั้งหลายจะชื่นชม โสมนัส และเมื่อพระองค์ตรัสดังนี้แล้ว พันโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว]
ภรัณฑุสูตร
[๕๖๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท เสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์ เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ได้ทรงสดับ ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์ โดยลำดับแล้ว ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ไปเถิดมหานามะ ท่านจงรู้สถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ ที่อาตมาควรอยู่สักคืนหนึ่งวันนี้ เจ้า ศากยะพระนามว่ามหานามะ รับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปยัง พระนครกบิลพัสดุ์ เที่ยวไปจนทั่ว ก็มิได้เห็นสถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคควรจะประทับอยู่สักคืนหนึ่ง ลำดับนั้นแล เจ้าศากยะพระ- *นามว่ามหานามะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ไม่มีสถานที่พัก ซึ่งพระผู้มีพระภาค ควรจะประทับสักคืนหนึ่งวันนี้ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนี้เป็นเพื่อนพรหมจารี เก่าแก่ของพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคจงประทับอยู่ ณ อาศรมของ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนั้นสักคืนหนึ่งในวันนี้เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไป เถิดมหานามะ ท่านจงปูลาดเครื่องลาดเถิด เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบส กาลามโคตร แล้วทรงปูลาดเครื่องลาด ทรงตั้งน้ำไว้เพื่อจะล้างพระบาท แล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ ข้าพระองค์ได้ลาดเครื่องลาดเสร็จแล้ว ได้ตั้งน้ำไว้เพื่อชำระยุคลบาท แล้ว บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรเถิด ลำดับนั้นแล พระผู้มี พระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร แล้วประทับนั่งบน อาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ทรงล้างพระบาททั้งสอง ครั้งนั้นแล เจ้า ศากยะพระนามว่ามหานามะทรงดำริว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย ต่อวันพรุ่งนี้ เราจึงจักเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำ ประทักษิณแล้วเสด็จหลีกไป ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เจ้าศากยะ พระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทรงถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรมหานามะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มี ปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ศาสดาพวกหนึ่งในโลกนี้ บัญญัติ การกำหนดรู้กาม ไม่บัญญัติการกำหนดรู้รูป ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กาม และบัญญัติการกำหนดรู้รูป แต่ไม่บัญญัติ การกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กามด้วย บัญญัติการกำหนดรู้รูป ด้วย บัญญัติการกำหนดรู้เวทนาด้วย ดูกรมหานามะ ศาสดา ๓ จำพวก นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรมหานามะ คติของศาสดา ๓ จำพวกนี้เป็น อย่างเดียวกัน หรือว่าเป็นต่างๆ กัน เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้ ภรัณฑุ- *ดาบสกาลามโคตรได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกราบทูลว่าเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อภรัณฑุดาบสกาลามโคตรกล่าวเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่าน จงกล่าวว่าเป็นต่างๆ กัน แม้ครั้งที่สอง ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าว กะเจ้าศากยพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่าง เดียวกัน แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน แม้ครั้งที่สาม ภรัณฑุดาบส กาลามโคตร ก็ได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ได้ ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน ครั้งนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้คิดว่า เราถูก พระสมณโคดมรุกรานเอาแล้ว ต่อหน้าเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ผู้มี ศักดิ์ใหญ่ถึงสามครั้ง ผิฉะนั้น เราพึงหลีกไปเสียจากนครกบิลพัสดุ์ ลำดับนั้น แล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตร ได้หลีกไปแล้วจากนครกบิลพัสดุ์ เขาได้ หลีกไปแล้วเหมือนอย่างนั้นทีเดียว มิได้กลับมาอีกเลย ฯ
[ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จไปตามโกศลชนบท ลุถึงพระนครกบิลพัสดุ์ เจ้ามหานามะศากยะทรงทราบแล้วได้เสด็จมาเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคตรัสให้เจ้ามหานามะศากยะช่วยเป็นธุระเรื่องสถานที่ประทับว่าในสถานที่ใดจะเหมาะสมและพอจะประทับได้ เจ้ามหานามะรับสั่งแล้วไม่อาจหาสถานที่ในตระกูลที่เหมาะสมเลย มีแต่อาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร ซึ่งเป็นพระสหายเก่าแก่พระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้มากราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทราบสดับแล้วก็ทรงทราบถึงสถานที่นั้นว่าควรแก่การประทับในราตรีนั้น ครั้นแล้วได้เสด็จยังอาศรมนั้น เจ้ามหานามะศากยะลาดเครื่องลาดและตั้งน้ำเพื่อชำระยุคลบาทแล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงที่นั้นแล้ว ประทับนั่งที่บนอาสนะ แล้วชำระพระยุคลบาททั้งสอง เจ้ามหานามะทรงเสด็จกลับก่อนเพราะเป็นเวลาค่ำแล้ว ได้กระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ วันรุ่งขึ้นจึงมาเข้าเฝ้า ทรงถวายบังคมแล้วทรงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสแก่เจ้ามหานามะศากยะว่า ดูกรมหานามะ ศาสดา3จำพวกนี้มีอยู่ในโลก คือ
1.ศาสดาจำพวกหนึ่งบัญญัติถึงการรับรู้ถึงแต่กาม ไม่รับรู้เรื่องรูป ไม่รับรู้เรื่องเวทนา(ความรู้สึกสุขทุกข์)
2.ศาสดาจำพวกหนึ่งบัญญัติถึงการรับรู้ถึงแต่กามและรูป ไม่รับรู้เรื่องเวทนา
3.ศาสดาจำพวกหนึ่งบัญญัติถึงการรับรู้ทั้งเรื่องกาม รูป และเวทนา
ดูกรมหานามะ คติที่ไปของศาสดา3จำพวกนี้แตกต่างกันหรือเหมือนกัน ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวแก่เจ้ามหานามะศากยะว่า พระองค์จงกราบทูลว่าเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวตอบไปว่าแตกต่างกัน แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวแก่เจ้ามหานามะศากยะว่า ท่านจงกราบทูลไปว่าเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับแล้วจึงตรัสแก่เจ้ามหานามะศากยะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกล่าวไปว่าแตกต่างกัน

ครั้งนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรคิดว่า เราถูกพระสมณโคดมรุกรานแล้วต่อหน้าเจ้ามหานามะศากยะผู้มีศักดิ์ใหญ่ถึงสามครั้ง เราพึงหลีกไปเสียจากพระนครกบิลพัสดุ์ ลำดับนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้หลีกไปจากพระนครกบิลพัสดุ์ มิได้กลับมาอีกเลย]

หัตถกสูตร
[๕๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐม ยามล่วงไป หัตถกเทพบุตรมีรัศมีงามยิ่งนัก ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ คิดว่า จักยืนตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วทรุดลงนั่งไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้ เปรียบเหมือนเนยใสหรือน้ำนมที่เขาเท ลงบนทรายย่อมจมลง ตั้งอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด หัตถกเทวบุตรก็ฉันนั้น เหมือนกัน คิดว่า จักยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาคแล้วทรุดลงนั่ง ไม่ สามารถที่จะยืนอยู่ได้ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะหัตถกเทพบุตรว่า ดูกรหัตถกะ ท่านจงนิรมิตอัตภาพอย่างหยาบๆ หัตถกเทพบุตรทูลรับพระผู้มี พระภาคแล้ว นิรมิตอัตภาพอย่างหยาบ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกร หัตถกะ ธรรมที่เป็นไปแก่ท่านผู้เป็นมนุษย์แต่ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ยังเป็นไป แก่ท่านอยู่บ้างหรือ หัตถกเทพบุตรกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ธรรมที่เป็นไป แก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็ยังเป็นไปแก่ข้าพระองค์อยู่ และธรรมที่มิได้เป็นไปแก่ข้าพระองค์ เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็เป็น ไปอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์อยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นพระเจ้าข้า เกลื่อน กล่นไปด้วยเทพบุตรอยู่ พวกเทพบุตรต่างมากันแม้จากที่ไกล ก็ด้วยตั้งใจว่า จักฟังธรรมในสำนักของหัตถกเทพบุตร ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อ ธรรม ๓ อย่างก็ได้ทำกาละเสียแล้ว ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ข้าพระองค์ ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเพื่อการฟังพระสัทธรรม ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการ อุปัฏฐากพระสงฆ์ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยัง ไม่ทันเบื่อธรรม ๓ อย่างนี้แล ได้ทำกาละเสียแล้ว ครั้นหัตถกเทพบุตรได้ กล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้ต่อไปอีกว่า แน่ละ ในกาลไหนๆ จึงจักอิ่มต่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค การอุปัฏฐากพระสงฆ์ และการฟังพระสัทธรรม หัตถก อุบาสกยังศึกษาอธิศีลอยู่ ยินดีแล้วในการฟังพระสัทธรรม ยังไม่ทันอิ่มต่อธรรม ๓ อย่าง ก็ไปพรหมโลกชั้นอวิหา เสียแล้ว ฯ
กฏุวิยสูตร
[๕๖๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤค- *ทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรง ผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังพระนครพาราณสีเพื่อ บิณฑบาต พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ไร้ความ แช่มชื่น มีความแช่มชื่นแต่ภายนอก หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มี สมาธิ มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในสำนัก ของพวกมิลักขะ ซึ่งชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่ขายโค แล้วได้ตรัสกะภิกษุนั้น ว่า ดูกรภิกษุ เธออย่าได้ทำตนให้เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ข้อที่ว่า แมลงวัน จักไม่ไต่ตอม จักไม่กัดตนที่ทำให้มักใหญ่ใฝ่สูง ชุ่มเพราะกลิ่นดิบนั้นแล ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้น อันพระผู้มีพระภาคตรัสสอน ด้วยพระโอวาทนี้ ได้ถึงความสลดใจแล้ว ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครพาราณสี ในเวลาภายหลังภัต เสด็จกลับ จากเที่ยวบิณฑบาตแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเช้านี้ เรานุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังพระนครพาราณสี เพื่อบิณฑบาต เราได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้ไร้ความแช่มชื่น มีความแช่มชื่นแต่ ภายนอก หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในสำนักของพวกมิลักขะ ซึ่งชุม นุมกันอยู่ ณ สถานที่ขายโค ครั้นแล้ว เราได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า ดูกร ภิกษุ เธออย่าได้ทำตนให้เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ข้อที่ว่าแมลงวันจักไม่ไต่ ตอม จักไม่กัดตนที่ทำให้มักใหญ่ใฝ่สูง ชุ่มเพราะกลิ่นดิบนั้นแล ไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้นอันเราสอนด้วย โอวาทนี้ ได้ถึงความสลดใจแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความมักใหญ่ใฝ่สูงคืออะไร กลิ่นดิบ คืออะไร แมลงวันคืออะไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ ความ มักใหญ่ใฝ่สูง คือ อภิชฌา กลิ่นดิบ คือ พยาบาท แมลงวัน คือ วิตกที่ เป็นบาปเป็นอกุศล ดูกรภิกษุ ข้อที่ว่า แมลงวันจักไม่ไต่ตอม จักไม่กัดตนที่ทำ ให้มักใหญ่ใฝ่สูง ชุ่มเพราะกลิ่นดิบนั้นแล ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ แมลงวันคือความดำริที่อิงราคะ จักไม่ตอมบุคคลผู้ไม่คุ้ม ครองในจักษุและโสต ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ภิกษุ ผู้ทำตนให้เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ชุ่มเพราะกลิ่นดิบ ย่อม อยู่ห่างไกลจากนิพพาน เป็นผู้มีส่วนแห่งความคับแค้นถ่าย เดียว คนพาลสันดานเขลา ถูกแมลงวันทั้งหลายไต่ตอม ไม่ได้เพื่อนที่เสมอตน พึงเที่ยวไปในบ้านบ้าง ในป่าบ้าง ส่วน ชนพวกที่สมบูรณ์ด้วยศีล ยินดีในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบด้วย ปัญญา เป็นผู้สงบระงับ อยู่เป็นสุข แมลงวันไม่ อาศัยเขา ฯ
อนุรุทธสูตรที่ ๑
[๕๖๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาสเถิด ข้า พระองค์เห็นแต่มาตุคามโดยมาก เมื่อตายไปเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มาตุคาม ประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอ เมื่อตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอนุรุทธะ มาตุคามประกอบด้วย ธรรม ๓ อย่าง เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ มาตุคามในโลกนี้ เวลาเช้า มีใจอันมลทินคือความตระหนี่ กลุ้มรุม อยู่ครองเรือน ๑ เวลาเที่ยง มีใจอันความริษยากลุ้มรุม อยู่ครอง เรือน ๑ เวลาเย็น มีใจอันกามราคะกลุ้มรุม อยู่ครองเรือน ๑ ดูกรอนุ- *รุทธะ มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ อย่างนี้แล เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ
อนุรุทธสูตรที่ ๒
[๕๗๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่ อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ขอโอกาสเถิดท่านสารีบุตร ผมตรวจดูตลอดพันโลกด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ก็ผมปรารภ ความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่น เป็นเอกัคคตา เออก็ไฉนเล่า จิตของผมจึงยังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรท่านอนุรุทธะ การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า เราตรวจ ดูตลอดพันโลก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ดังนี้ เป็นเพราะ มานะของท่าน การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า ก็เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา ดังนี้ เป็นเพราะอุทธัจจะของท่าน ถึงการที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า เออก็ไฉนเล่า จิต ของเรายังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็เป็นเพราะกุกกุจจะของท่าน เป็นความดีหนอ ท่านพระอนุรุทธะจงละธรรม ๓ อย่างนี้ ไม่ใส่ใจธรรม ๓ อย่างนี้ แล้วน้อมจิตไปในอมตธาตุ ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะต่อมาได้ละ ธรรม ๓ อย่างนี้ ไม่ใส่ใจถึงธรรม ๓ อย่างนี้ น้อมจิตไปในอมตธาตุ ครั้งนั้น แล ท่านพระอนุรุทธะ หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีตนอัน ส่งไปอยู่ ไม่นานนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่ กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องกันนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละ ท่านพระอนุรุทธะ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
[ครั้งหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธิ์ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ครั้นปราศรัยพอได้แสดงการระลึกถึงกันแล้ว ท่านพระอนุรุทธิ์ได้ปรารภแก่ท่านพระอานนท์ว่า ขอโอกาสเถิด ท่านพระสารีบุตร ผมตรวจดูตลอดพันโลกธาตุแล้วด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ลาวงจักษุของมนุษย์ ก็ผมนั้นได้ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้ไม่หลงลืม ทั้งกายสังขารก็สงบระงับ จิตของผมก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ก็ไฉนเล่า จิตของผมจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ท่านพระสารีบุตรกล่าวแก่ท่านพระอนุรุทธิ์ว่า ดูกรท่านอนุรุทธิ์ การที่ท่านดำริดังนี้ว่า
1.ผมตรวจดูตลอดพันโลกธาตุแล้วด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ลาวงจักษุของมนุษย์ ในข้อนี้เป็นมานะ(ความเย่อหยิ่งถือตัว)ของท่าน
2.ผมนั้นได้ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้ไม่หลงลืม ทั้งกายสังขารก็สงบระงับ จิตของผมก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ในเรื่องนี้เป็นอุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน)ของท่าน
3.ไฉนเล่า จิตของผมจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ในเรื่องนี้เป็นกุกกุจจะ(ความรำคาญใจไม่เป็นสุข)ของท่านเป็นความดีหนอ ท่านพระอนุรุทธิ์จงอย่าไปใส่ใจธรรมสามประการนี้ พึงระลึกถึงพระนิพพาน ยังความเพียรเพื่อความบรรลุในคุณธรรมอันยังไม่มีในตนให้บังเกิดขึ้น

ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธิ์ได้หลีกออกจากหมู่ภิกษุแต่ผู้เดียว มีความไม่ประมาท ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม ไม่นานนักก็ได้กระทำให้แจ้งซึ่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมอันเป็นจุดมุ่งหมายของกุลบุตรทั้งหลายที่ออกบวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ด้วยตนเอง มีชาติและชรามรณะอันสิ้นแล้ว มิได้มีกิจอย่างอื่นที่จะยิ่งไปกว่านี้ ท่านพระอนุรุทธิ์ได้เป็นพระอรหันตขีณาสวเจ้าองค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย]

ปฏิจฉันนสูตร
[๕๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิด เผยไม่เจริญ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ มาตุคาม ปิดบังเอาไว้จึงจะงดงาม เปิดเผย ไม่งดงาม ๑ มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังเข้าไว้จึงรุ่งเรือง เปิดเผยไม่รุ่งเรือง ๑ มิจฉาทิฐิ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่าง นี้แล ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ดวงจันทร์ เปิดเผย จึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑ ดวงอาทิตย์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑ ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้แล เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ฯ
เลขสูตร
[๕๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน ๑ บุคคลผู้เปรียบ ด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน ๑ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหินเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ในโลกนี้ โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้นนอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นหิน ไม่ลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ย่อมตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้นก็นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้ เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบ ด้วยรอยขีดที่แผ่นดินเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธ เนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบ เหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน ลบเลือนไปโดยเร็วเพราะลมและน้ำ ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้ เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบ ด้วยรอยขีดที่น้ำเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้จะถูกว่า ด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คง สมานไมตรี กลมเกลียว ปรองดองกันอยู่ เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ จะขาด จากกันก็ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูก ว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรีกลมเกลียว ปรองดองกันอยู่ นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
จบกุสินารวรรคที่ ๓
---------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุสินารสูตร ๒. ภัณฑนสูตร ๓. โคตมสูตร ๔. ภรัณฑุสูตร ๕. หัตถกสูตร ๖. กฏุวิยสูตร ๗. อนุรุทธสูตรที่ ๑ ๘. อนุรุทธสูตรที่ ๒ ๙. ปฏิจฉันนสูตร ๑๐. เลขสูตร ฯ ---------------
************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระพุทธอุปัฏฐาก

ธรรมะวันนี้จะกล่าวถึงท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงสรรเสริญว่าแม้พระอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์อื่นใด จะดีเลิศอย่างไรก็เพียงเสมอด้วยท่านพระอานนท์นี้เท่านั้น ไม่ยิ่งไปกว่านี้ ธรรมะวันนี้จึงเป็นการบูชาซึ่งท่านพระอานนท์องค์อรหันตขีณาสวเจ้าครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม12 อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ครับ

อนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
********************************************
อานันทวรรคที่ ๓
ฉันนสูตร
[๕๑๑] ๗๒. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ฉันนปริพาชกได้ไปหาท่านพระอานนท์ยังที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรท่านพระอานนท์ ท่านทั้งหลาย บัญญัติ การละราคะ บัญญัติการละโทสะ บัญญัติการละโมหะหรือ ท่านพระอานนท์ ตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราบัญญัติการละราคะ บัญญัติการละโทสะ บัญญัติ การละโมหะ ฯ ฉ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็ท่านทั้งหลายเห็นโทษในราคะอย่างไร จึงบัญญัติ การละราคะ เห็นโทษในโทสะอย่างไร จึงบัญญัติการละโทสะ เห็นโทษในโมหะ อย่างไร จึงบัญญัติการละโมหะ ฯ
[ท่านพระอานนท์แม้จะเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ว่าได้ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้รับฟังพระพุทธวจนะมามาก ได้ไตร่ตรองธรรมที่ได้สดับมาดีแล้วโดยตลอด ได้เห็นความน่าอัศจรรย์ใจของพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จึงมีศรัทธาเต็มเปี่ยม ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เลย แม้ญาณของท่านจะไม่ได้มาจากการละโมหะเสียได้เด็ดขาดเช่นกับพระอรหันต์ แต่ท่านได้ไตร่ตรองมาดีแล้วในธรรมอย่างมากมาย จึงสามารถอธิบายธรรมได้ราวกับเป็นพระอรหันต์หรือราวกับเป็นพระผู้มีพระภาคเอง ในพระสูตรนี้ฉันนปริพาชกถามว่าท่านพระอานนท์บัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะหรือ ท่านพระอานนท์รับว่าจริง เมื่อฉันนปริพาชกถามถึงเหตุผล ท่านพระอานนท์อธิบายว่าผุ้มีราคะ โทสะ โมหะ ย่อมคิดเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง ตนนั้นแหละที่ต้องเสวยทุกเวทนาทางใจ และต้องประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ และไม่รู้ถึงประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ฯลฯ ซึ่งโทษเหล่านี้ย่อมไม่มีแก่ผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว]
อา. ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้กำหนัด ถูกความกำหนัดครอบงำ รัดรึง จิตไว้ ย่อมคิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองบ้าง คิดเพื่อจะเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไป ทางจิตบ้าง เพื่อละราคะได้แล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเพื่อ จะเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ไม่ เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต บุคคลผู้กำหนัด ถูกความกำหนัดครอบงำ รัดรึงจิตไว้ ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติ ทุจริตด้วยใจ เพื่อละราคะได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติทุจริตด้วยกาย ไม่ประพฤติ ทุจริตด้วยวาจา ไม่ประพฤติทุจริตด้วยใจ บุคคลผู้กำหนัด อันความกำหนัด ครอบงำ รัดรึงจิตไว้ ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสอง ฝ่ายตามความเป็นจริง เมื่อละราคะได้แล้ว ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความ เป็นจริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตน และผู้อื่นตามความเป็นจริง ความกำหนัดแล ทำให้เป็นคนมืด ทำให้เป็นคนไร้ จักษุ ทำให้ไม่รู้อะไร ทำปัญญาให้ดับ เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน บุคคลผู้ดุร้าย ฯลฯ บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ รัดรึงจิต ไว้ ย่อมคิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองบ้าง คิดเพื่อจะเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง คิดเพื่อ จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทาง จิตบ้าง เมื่อละโมหะได้แล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเพื่อจะ เบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ไม่เสวย ทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ รัดรึงจิตไว้ ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ย่อมประพฤติทุจริตด้วยวาจา ย่อมประพฤติทุจริต ด้วยใจ เมื่อละโมหะได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติทุจริตด้วยกาย ไม่ประพฤติทุจริต ด้วยวาจา ไม่ประพฤติทุจริตด้วยใจ บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำจิต รัดรึงจิตไว้ ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ซึ่ง ประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ตามความเป็นจริง เมื่อละโมหะได้แล้ว ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็น จริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนและ ผู้อื่นทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง ไม่หลงและทำให้เป็นคนมืด ทำให้เป็นคนไร้ จักษุ ทำให้ไม่รู้อะไร ทำปัญญาให้ดับ เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน ดูกรผู้มีอายุ เราเห็นโทษในราคะเช่นนี้แล จึงบัญญัติการละราคะ เห็นโทษในโทสะเช่นนี้ จึงบัญญัติการละโทสะ เห็นโทษในโมหะเช่นนี้แล จึงบัญญัติการละโมหะ ฯ ฉ. ดูกรท่านผู้มีอายุ มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั้น มีหรือ ฯ อา. มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั้นมีอยู่ ฯ ฉ. ก็มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั้นเป็นไฉน ฯ อา. อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมา สมาธิ ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แล มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ นั้น ฯ ฉ. ดูกรท่านผู้มีอายุ มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ นั้นดี และสมควรเพื่อความไม่ประมาท ฯ
[มรรคาที่จะละราคะ โทสะ โมหะคือมรรคมีองค์แปด ซึ่งท่านพระอานนท์ย่อมทราบจากพระเถระผู้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์]
อาชีวกสูตร
[๕๑๒] ๗๓. สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้กรุง โกสัมพี ครั้งนั้นแล คฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวกคนหนึ่ง เข้าไปหาท่าน พระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถาม ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ คนพวกไหนเล่า ได้กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว พวกไหน ปฏิบัติดีแล้วในโลก พวกไหนดำเนินไปดีแล้วในโลก ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี ถ้าเช่นนั้นเราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านชอบใจอย่างใด ก็พึง กล่าวแก้อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดแสดงธรรม เพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้น กล่าวธรรมดีแล้วหรือหาไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ฯ ค. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ แสดงธรรม เพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นกล่าวธรรมดีแล้ว ในข้อนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ ฯ อา. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดปฏิบัติ เพื่อละราคะ ปฏิบัติเพื่อละโทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้ว ในโลกใช่หรือไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ฯ ค. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดปฏิบัติเพื่อละราคะ ปฏิบัติเพื่อละ โทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้วในโลก ในข้อนี้ข้าพเจ้า มีความเห็นอย่างนี้ ฯ อา. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดละ ราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใดละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละ โมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้นดำเนินไปดีแล้วในโลกใช่หรือไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างนี้ ฯ ค. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใดละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้นดำเนินไปดีแล้วในโลก ในข้อนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างไร ฯ อา. ดูกรคฤหบดี ข้อนี้ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใดแสดงธรรม เพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้น กล่าวธรรมดีแล้ว ข้อนี้ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใดปฏิบัติเพื่อละราคะ ปฏิบัติเพื่อละโทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้อนี้ ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใดละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มี ที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใด ละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มี ที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้น ดำเนินไปดีแล้วในโลก ดังนี้แล ฯ ค. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้น่าอัศจรรย์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมี ธรรมเทศนาจักไม่ชื่อว่าเป็นการยกย่องธรรมของตนเอง และจักไม่เป็นการรุกราน ธรรมของผู้อื่น เป็นธรรมเทศนาเฉพาะแต่ในเหตุ ท่านกล่าวแต่เนื้อความ และ มิได้นำตนเข้าไป ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ท่านทั้งหลายแสดงธรรมเพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ ท่านทั้งหลายกล่าวธรรมดีแล้ว ท่านทั้งหลายปฏิบัติดีแล้วในโลก ท่านทั้งหลายละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายละโทสะได้แล้ว ฯลฯ ท่านทั้งหลายละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายดำเนินไปดีแล้วในโลก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก พระผู้เป็นเจ้าอานนท์ประกาศธรรม โดยอเนกปริยายเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระ ภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึง สรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
[การตอบข้อธรรมของท่านพระอานนท์นั้น ท่านพระอานนท์ไม่เพียงแต่ทราบข้อธรรมเท่านั้น ท่านยังทราบในวิธีการตอบข้อธรรมอย่างสละสลวยเป็นที่น่าอัศจรรย์ ยังความเลื่อมใสให้เกิดแก่ผู้รับฟัง ดังในพระสูตรนี้คฤหบดีท่านหนึ่งไต่ถามท่านพระอานนท์ว่า คนจำพวกไหนกล่าวธรรมดีแล้ว คนจำพวกไหนปฏิบัติดีแล้ว คนจำพวกไหนดำเนินไปดีแล้ว ท่านพระอานนท์ตั้งคำถามย้อนไปแก่คฤหบดีนั้นว่า ท่านมีความเห็นว่าผู้กล่าวการละราคะ โทสะ โมหะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวธรรมดีแล้วหรือไม่ ผู้ปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วหรือไม่ ผู้ละราคะ โทสะ โมหะเป็นผู้ดำเนินไปดีแล้วหรือไม่ คฤหบดีนั้นมีจิตชื่นชมในการวิสัชนาธรรมของท่านพระอานนท์จนถึงขนาดปวารณาตนเป็นอุบาสกผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต]
สักกสูตร
[๕๑๓] ๗๔. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกชนบท ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรง เป็นไข้ หายจากความไข้ไม่นาน ครั้งนั้นแล เจ้ามหานามศากยะเสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นานมาแล้ว ที่ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงอย่างนี้ว่า ญาณเกิดแก่ผู้มีใจเป็นสมาธิ หาเกิดแก่ผู้ที่มีใจไม่เป็นสมาธิไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมาธิเกิดก่อน ญาณ เกิดทีหลัง หรือว่าญาณเกิดก่อน สมาธิเกิดทีหลัง ลำดับนั้นแล ท่าน- *พระอานนท์ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นไข้ หายจากความไข้ไม่นาน ก็เจ้ามหานามศากยะนี้ทูลถามปัญหาที่ลึกซึ้งกะพระผู้มีพระภาค ถ้ากระไร เรา ควรนำเอาเจ้ามหานามศากยะหลีกไปในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วแสดงธรรม ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ จับพระพาหาเจ้ามหานามศากยะนำหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวกะเจ้ามหานามศากยะว่า ดูกรมหานามะ พระผู้มี พระภาคตรัสศีลที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสศีลที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ดูกรมหานามะ มีศีลที่เป็นของพระเสขะเป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรม วินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่า ศีลที่เป็นของพระเสขะ ดูกรมหานามะ ก็สมาธิที่เป็นของพระเสขะ เป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ เข้า- *จตุตถฌานอยู่ ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่าสมาธิที่เป็นของพระเสขะ ดูกรมหานามะ ก็ปัญญาที่เป็นของพระเสขะเป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่า ปัญญาที่เป็นของพระเสขะ ฯ ดูกรมหานามะ พระอริยสาวกนั้นแล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรมหานามะ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสศีลที่เป็นของพระ เสขะไว้ก็มี ตรัสศีลที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระเสขะ ไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระเสขะไว้ ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ด้วยประการฉะนี้แล ฯ
[แม้ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงหายจากการประชวรใหม่ๆ เจ้ามหานามศากยะได้ทูลถามปัญหาข้อธรรมที่ลึกซึ้งแก่พระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์มีความเห็นว่าท่านควรจะแบ่งเบาธุระของพระผู้มีพระภาค โดยเจ้ามหานามะศากยะทูลถามว่า สมาธิเกิดก่อน หรือญาณเกิดก่อน ท่านพระอานนท์จับพระพาหาเจ้ามหานามะศากยะมาอีกทางหนึ่งแล้วอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติศีล สมาธิ ปัญญา ของพระเสขะซึ่งยังต้องศึกษาต่อไป กับศีล สมาธิ ปัญญา ของพระอเสขะผู้หลุดพ้นแล้ว ศีล สมาธิและปัญญาของพระเสขะนั้นระดับหนึ่ง หรืออีกระดับหนึ่ง (พระเสขะได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี) ส่วน ศีล สมาธิ ปัญญาของพระอเสขะนั้นอีกระดับหนึ่ง]
นิคัณฐสูตร
[๕๑๔] ๗๕. สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าอภัยลิจฉวีกับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี ได้พากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ยังที่อยู่ อภิวาทท่านพระอานนท์แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วเจ้าอภัยลิจฉวีได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ นิครณฐนาฏบุตร เป็นคนรูเห็นธรรมทุกอย่าง ย่อมปฏิญญาญาณ- *ทัสสนะไว้อย่างไม่มีส่วนเหลือว่า สำหรับเราจะเดิน จะยืน จะหลับและตื่น ก็ตาม ญาณทัสสนะก็ปรากฏชั่วกาลนิรันดร เขาบัญญัติว่า กรรมเก่าหมดไป เพราะความเพียรเผากิเลส ฆ่าเหตุได้เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ด้วยประการฉะนี้ จึงเป็นอันว่า เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงหมดไป เพราะทุกข์หมดไป เวทนา จึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเสื่อมไปโดยไม่เหลือ การล่วง ทุกข์ย่อมมีได้ด้วยความหมดจด ที่ให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งบุคคลจะพึง เห็นเองนี้ ด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส ไว้อย่างไร ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูกรเจ้าอภัย ความหมดจดที่ทำให้กิเลส เสื่อมไปโดยไม่เหลือ ๓ อย่างแล พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ ทั้งหลาย เพื่อการล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความเสื่อมสูญแห่งทุกข์และ โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง ความหมดจด ๓ อย่าง เป็นไฉน คือ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย และสัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไป โดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้ได้บรรลุจะ พึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อัน วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ ๒. ภิกษุนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้แล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ เข้าจตุตถฌานอยู่ เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย และสัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำ ให้สิ้นไปโดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้บรรลุ จะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ ๓. ภิกษุนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้แล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย สัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลส เสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ ดูกรเจ้าอภัย ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมโดยไม่เหลือ ๓ อย่าง นี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าว ล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความเสื่อมสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อ บรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง เมื่อท่านพระอานนท์ได้กล่าวอย่างนี้แล้ว เจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีได้พูดกะเจ้าอภัยลิจฉวีว่า ดูกรอภัยเพื่อนรัก ทำไมท่านจึง ไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่านพระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า เจ้า อภัยลิจฉวีตอบว่า เพื่อนรัก ไฉนเราจักไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน พระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า ผู้ใดไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของ ท่านพระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิต ความคิดของผู้นั้นพึงเสื่อม ฯ
[เจ้าอภัยลิจฉวี และเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี ได้มากล่าวแก่ท่านพระอานนท์ว่า ศาสดาของพวกนิครนถ์กล่าวธรรมไว้น่าสนใจว่า ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายมาจากการละการสร้างกรรมใหม่ที่ไม่ดี ชดใช้กรรมเก่าที่ไม่ดีด้วย ท่านพระอานนท์อธิบายอย่างหลักแหลมและแจ่มแจ้งว่า นิครนถ์นั้นไม่ได้ทราบเลยว่าหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องที่จะละการสร้างกรรมใหม่ที่ไม่ดี และปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมเมื่อผลกรรมเก่าแสดงผลนั้นทำอย่างไร ข้อปฏิบัตินั้นคือศีล คือการละการทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ สมาธิได้แก่การบรรลุฌานขั้นต่างๆ เพราะผู้ได้ฌานเมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเข้าถึงพรหมโลก กรรมอันจะพาไปบังเกิดในอบายนั้นไม่สามารถให้ผล และปัญญา เพื่อละกิเลสทั้งหลายอันเป็นการตัดอบายภูมิทั้งหลายเสียได้เด็ดขาด หนทางเพื่อให้เกิดปัญญานั้นคือวิปัสสนา]
สมาทปกสูตร
[๕๑๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ท่าน ทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนใดและคนเหล่าใดเป็นมิตร อำมาตย์ ญาติ หรือสาโลหิต พึงสำคัญว่าเป็นคำที่ควรฟัง คนเหล่านั้น อันท่านทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้ง อยู่เสมอ พึงให้ดำรงอยู่ ในฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ๑. พึงชักชวน พึงให้ตั้งอยู่เสมอ พึงให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอย่าง ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ฯ ๒. พึงชักชวน พึงให้ตั้งอยู่เสมอ พึงให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอย่าง ไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ... อันวิญญู- *ชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ ๓. พึงชักชวน พึงให้ตั้งอยู่เสมอ เพื่อให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใส อย่างไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติ ดีแล้ว ... เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งกว่า ฯ ดูกรอานนท์ มหาภูต ๔ คือ ปฐวีธาตุ ๑ อาโปธาตุ ๑ เตโชธาตุ ๑ วาโย- *ธาตุ ๑ พึงเป็นอย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่ หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย นี้ความเป็นอื่นในข้อนั้น ข้อที่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น จักเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือเปรตวิสัย นี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกร อานนท์ มหาภูต ๔ คือ ปฐวีธาตุ ๑ อาโปธาตุ ๑ เตโชธาตุ ๑ วาโยธาตุ ๑ พึงเป็น อย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวใน พระธรรม ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย ฯลฯ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย นี้ความ เป็นอย่างอื่นในข้อนั้น ข้อที่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่น ไหว ในพระสงฆ์นั้น จักเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือเปรตวิสัย นี้ไม่ เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ ท่านทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนใด และคนเหล่า ใด เป็นมิตร อำมาตย์ ญาติหรือสาโลหิต พึงสำคัญว่าเป็นคำที่ควรฟัง คนเหล่า นั้น อันท่านทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้งอยู่เสมอ พึงให้ดำรงอยู่ในฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ
[หน้าที่ของพระอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกประการคือ การปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของพระภิกษุรูปอื่น และคอยชักชวนคฤหัสถ์ทั้งหลายที่มีจิตศรัทธาให้ถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธาคุทั้งหลายคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นองค์ประกอบแห่งรูปทั้งหลายยังจะแปรเป็นอย่างอื่นไปได้ แต่ว่าผู้มีจิตเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วจะไปสู่อบายภูมิ4นั้นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้เลย]
นวสูตร
[๕๑๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ภพ ภพ ดังนี้ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกร อานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุจักไม่มีแล้ว กามภพพึงปรากฏบ้าง หรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง วิญญาณประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างเลวของสัตว์ พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึง มีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในรูปธาตุ จัก ไม่มีแล้ว รูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณจึงชื่อว่า เป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง วิญญาณประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างกลางของ สัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในอรูปธาตุจักไม่ มีแล้ว อรูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง วิญญาณประดิษฐานแล้วเพราะธาตุอย่างประณีต ของ สัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการ- *ฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุดังกล่าว มาฉะนี้แล ฯ
ภวสูตร
[๕๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ภพ ภพ ดังนี้ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุจักไม่มีแล้ว กามภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ท่าน พระอานนท์ทูลว่า ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ อย่างเลวของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วย ประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผล ให้ในรูปธาตุจักไม่มีแล้ว รูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ อย่างกลางของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วย ประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ อรูปธาตุจักไม่มีแล้ว อรูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ อย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ภพย่อมมีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ฯ
[พระพุทธอุปัฏฐากต้องคอยไตร่ตรองข้อสงสัยอันชนทั้งหลายต้องการทราบโดยทั่วไป ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอธิบายแล้ว ชนทั้งหลายก็จะได้บรรเทาความสงสัยโดยทั่วกัน ในพระสูตรนี้ ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภพ เกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภพนั้นเกิดจากการกระทำกรรมนั้นเอง สำหรับผู้ที่ยังละอวิชชาไม่ได้ ถ้าบุคคลไม่ก่อกรรมโดยอาศัยธรรมธาตุอันเลวของตน การกำเนิดในกามภพย่อมไม่เกิดขึ้น ถ้าบุคคลไม่ก่อกรรมโดยอาศัยธรรมธาตุอันปานกลางของตน การกำเนิดในรูปภพย่อมไม่เกิดขึ้น ถ้าบุคคลไม่ก่อกรรมโดยอาศัยธรรมธาตุอันดีของตน การกำเนิดในอรูปภพย่อมไม่เกิดขึ้น]
สีลัพพตสูตร
[๕๑๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ มีการบำรุงดี มีผลทุกอย่างไปหรือ ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ ในปัญหาข้อนี้ ไม่ควรแก้แต่แง่เดียว ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น จงจำแนกไป ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อบุคคลนั้นเสพศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี อกุศลธรรมเจริญมากยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี เห็นปานนั้นไม่มีผล และเมื่อเขาเสพศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ซึ่งมีการบำรุงดี อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญมากยิ่งขึ้น ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี เห็นปานนั้นมีผล ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลธรรมปริยายนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพอ พระทัยลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์คิดว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา จึงลุก จากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคพอพระอานนท์หลีกไปได้ไม่นาน ได้รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ยังเป็นพระเสขะ แต่จะหาผู้ที่เสมอเธอทางปัญญาไม่ได้ง่าย เลย ฯ
[ในบางครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงสอบถามท่านพระอานนท์เพื่อจะทรงทราบความเห็นบางอย่าง ดังในพระสูตรนี้ ท่านพระอานนท์ผู้ยังเป็นพระเสขะ สามารถทูลตอบคำถามพระผู้มีพระภาคได้เป็นที่พอพระทัย ถึงขนาดพระองค์ตรัสชมเชยว่าท่านพระอานนท์นี้ยังเป็นพระเสขะ แต่จะหาผู้มีปัญญาเสมอด้วยเธอนั้นมิใช่ง่ายเลย กล่าวคือท่านพระอานนท์ไตร่ตรองถึงการเผยแผ่พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว สามารถทราบถึงเหตุผลบางประการได้ด้วยปัญญาของท่านเอง ซึ่งข้อนี้เป็นผลดีที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพระผู้มีพระภาคเจ้า]
คันธสูตร
[๕๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้ ฟุ้งไป แต่ตามลมอย่างเดียว ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นหอม ๓ อย่างนั้นเป็นไฉน คือ กลิ่นที่ราก ๑ กลิ่นที่แก่น ๑ กลิ่นที่ดอก ๑ กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้แลฟุ้งไปแต่ตาม ลมอย่างเดียว ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ พระเจ้าข้า กลิ่นหอมชนิดที่ฟุ้งไปตามลมก็ ได้ ฟุ้งทวนลมไปก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ ยังจะมีอยู่หรือ พระผู้- *มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ กลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลม ก็ได้ ฟุ้งทั้งไปตามลมและทวนลมก็ได้ มีอยู่ ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลม ก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ เป็นไฉน ฯ พ. ดูกรอานนท์ สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมใดในโลกนี้ ถึงพระ- *พุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจาก การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาด จากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็น มลทิน มีไทยธรรมเครื่องบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน สมณพราหมณ์ ทุกทิศย่อมกล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึง พระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจาก การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาด จากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีไทยธรรมเครื่องบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่ การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน แม้เทวดาทั้งหลายก็กล่าว สรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็น สรณะ ฯลฯ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน ดูกรอานนท์ กลิ่นหอม นี้นั้นแล ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลม ก็ได้ ฯ กลิ่นดอกไม้ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นกระลำพัก ก็ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นสัตบุรุษ ฟุ้งทวนลมไปได้ เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปทุกทิศ ฯ
[ดังในพระสูตรที่แล้ว ท่านพระอานนท์ย่อมช่วยเหลือพระเถระทั้งหลายมีท่านพระสารีบุตร ที่จะช่วยหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังที่จะมาเผยแผ่พระบวรพุทธศาสนา ดังในพระสูตรนี้เป็นการสรรเสริญผู้เคารพในพระรัตนตรัย มีศีล และจาคะ ซึ่งสมณพราหมณ์และเทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญประหนึ่งกลิ่นหอมที่ฟุ้งกระจายไปได้ทั้งตามลมและทวนลม]
จูฬนีสูตร
[๕๒๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟัง มาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมา- *สัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรง สามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง พระผู้มีพระภาคตรัส ตอบว่า ดูกรอานนท์ นั้นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ฯ ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ใน พรหมโลก ทำให้พ้นแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้ แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ใน พรหมโลก ทำให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วย พระสุรเสียง ฯ พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกร อานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ทำให้พันโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระ- *สุรเสียง ฯ พ. ดูกรอานนท์ เธอได้ฟังเรื่องพันโลกธาตุ เพียงเล็กน้อย ฯ อา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลเวลาแห่ง เทศนาที่พระองค์จะพึงตรัส ภิกษุทั้งหลายได้สดับธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค แล้ว จักทรงจำไว้ ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกร อานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศ สว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์ พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มี อปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มี มหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มี เทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพัน หนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มี พรหมโลกพันหนึ่ง ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลก คูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุ อย่างกลางมีล้าน จักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ดูกรอานนท์ ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่ พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร ฯ พ. ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่าง ใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้น พระตถาคตพึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุ อย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้ แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า เป็น ลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้ กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้า ศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสกะท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นเจ้าจักพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกรอุทายี ก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง ฯ
[ในพระสูตรนี้ท่านพระอานนท์ได้แสดงถึงความศรัทธาแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ด้วยอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน การจะเผยแผ่พระบวรพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นในโลกนั้นมิใช่ง่ายเลย แต่พระผู้มีพระภาคนั้นทรงมีอานุภาพยิ่งใหญ่ มีฤทธานุภาพมาก จะทรงกระทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน สำหรับเรื่องจักรวาลนั้นก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าศึกษาครับ]
จบอานันทวรรคที่ ๓
---------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ฉันนสูตร ๒. อาชีวกสูตร ๓. สักกสูตร ๔. นิคัณฐสูตร ๕. สมาทปกสูตร ๖. นวสูตร ๗. ภวสูตร ๘. สีลัพพตสูตร ๙. คันธสูตร ๑๐. จูฬนีสูตร ฯ ----------------
************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ