วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แนะนำวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง

ผมได้ลองดูเนื้อหาทางพระบวรพุทธศาสนามานำเสนอ ต้องการแบบที่น่าสนใจสักหน่อยก่อนที่จะกลับมาเข้าสู่เนื้อหาพระไตรปิฎกในกลางสัปดาห์นี้ ก็เห็นว่าเรื่องไตรภูมิพระร่วงนี้น่าสนใจ เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนความจริงที่ว่าประเทศไทยกับพระพุทธศาสนานั้นมีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณกาลแล้ว แต่ครั้งยังเป็นแคว้นสุโขทัย ผมจึงนำเนื้อหาบทที่2จากหนังสือ "งานวิจัยทางพระพุทธศาสนา" ประพันธ์โดย พระราชปริยัติ (สฤษดิ์ สิริธโร) สำหรับเป็นตำราของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ มานำเสนอครับ คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านครับ

*****************************************************

ประวัติความเป็นมา

หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นหนังสือแสดงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่แต่งในสมันกรุงสุโขทัยได้รับการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก เดิมเรียกว่า "เตภูมิกถา" ภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "ไตรภูมิพระร่วง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์ผู้ทรงนิพนธ์ คือพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นเรื่องที่นับถือกันแพร่หลายมาแต่โบราณ ได้มีการเขียนเป็นรูปภาพไว้ตามฝาผนังวัด และเขียนจำลองลงไว้ในสมุด ต้นฉบับที่จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือได้มาจากจังหวัดเพชรบุรี เป็นฉบับใบลานจำนวน10ผูก จารด้วยอักษรขอมในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นฉบับที่พระมหาช่วยวัดปากน้ำ (วัดกลางวรวิหาร) จังหวัดสมุทรปราการ ได้ต้นฉบับมาจากจังหวัดเพชรบุรี จารลงบนใบลานเสร็จเมื่อเวลาบ่าย3โมงเศษ ปีจอพุทธศักราช2321 รวมเวลาจาร9เดือน 26วัน หอพระสมุดวชิรญาณได้ถอดความออกเป็นอักษรไทย โดยมิได้แก้ไขถ้อยคำให้ผิดไปจากต้นฉบับเดิม จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือเผยแพร่ ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2455 และได้มีการจัดพิมพ์เผนแพร่เป็นลำดับมา จนปัจจุบัน ทางกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์เป็นวรรณกรรมสุโขทัย จัดพิมพ์ครั้งที่2 พ.ศ.2539

เมื่อระหว่างวันที่19-21เดือนธันวาคม พ.ศ.2526 กรมศิลปากร ได้จัดสัมมนาเรื่องไตรภูมิพระร่วง เนื่องในวาระที่พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์อักษรหรือลายสือไทยมาครบ700ปี ได้สัมมนากันในประเด็นเรื่องกำเนิดและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไตรภูมิ คุณค่าของวรรณกรรมเรื่องไตรภูมิพระร่วง อิทธิพลของไตรภูมิพระร่วงต่อสังคมไทย อิทธิพลของไตรภูมิพระร่วงต่อลักษณะศิลปกรรมและวรรณกรรมไทย และแนวทางการนำปรัชญาจากไตรภูมิพระร่วงไปใช้ประโยชน์ในด้านสังคมด้านการเมือง การปกครอง ในด้านภาษาและวรรณกรรม ในด้านศาสนาและปรัชญา ในด้านศืลปกรรม

เมื่อพ.ศ.2528 คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประเทศอินโดนิเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย ในการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการ เมื่อพ.ศ.2526 ณ กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนืเซีย ได้มีมติให้คณะทำงานของแต่ละประเทศคัดเลือกงานวรรณกรรมถ่ายทอดที่คัดเลือกแล้ว จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาประจำชาติ หรือแปลเป็นภาษาต่างประเทศ คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ประเทศไทย ได้เสนอขออนุมัติเรียบเรียงถอดความวรณกรรมเรื่องไตรภูมิกถา จัดพิมพ์เผยแพร่ ใช้ชื่อว่า ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ เป็นไตรภูมิกถาฉบับภาษาร่วมสมัย

เมื่อพ.ศ.2542 คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จัดพิมพ์หนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี จำนวน2เล่ม คือ เล่ม1-2 เป็นหนังสือขนาดใหญ่พิมพ์ภาพไตรภูมิสวยงามจากสมุดข่อยมีคำบรรยายประกอบ

เมื่อพ.ศ.2544 คณะกรรมการราชบัณฑิตยสถานได้นำต้นฉบับไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ พระมหาธรรมราชาที่1 พญาลิไทย ฉบับตรวจสอบชำระใหม่ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2526 กับไตรภูมิกถา ฉบับอยุธยา ไตรภูมิพระร่วง ความเก่า มหาช่วยจารในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.2330 (ฉบับอัดสำเนา) ตรวจสอบชำระจัดพิมพ์เป็นไตรภูมิกถา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดยใช้ชื่อที่ปกว่า พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยสุโขทัย ไตรภูมิกถา จัดพิมพ์เผยแพร่ นับว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์เท่าที่มีมา

นอกจากนี้ พระครูสังวรสมาธิวัตร (ประเดิม โกมโล) วัดเพลงวิปัสสนา กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำบทเรียนไตรภูมิพระร่วง เป็นคำถามคำตอบ จัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2528 เหมาะสำหรับใช้ศึกษาในรายวิชาโดยเฉพาะ

พระราชประวัติผู้ทรงพระนิพนธ์

ผู้แต่งไตรภูมิกถา คือ พระมหาธรรมราชาที่1 หรือพญาลิไทย ทรงเป็นพระราชโอรสของพญาเลลิไทย เป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่6 แห่งราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1890-1919 มีพระนามเต็มว่าพระเจ้าศรีสุริยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช เรียกกันเป็นสามัญว่า พระมหาธรรมราชาที่1 ในศิลาจารึกเรียกพระนามเดิมว่า พญาลิไทย หรือพระมหาธรรมราชาที่1 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1911

พญาลิไทยทรงมีความสามารถอย่างยิ่งในการปกครองบ้านเมือง ได้โปรดให้มีการทะนุบำรุงกรุงสุโขทัยนานาประการ โปรดให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรก่ออิฐถือปูนอย่างมั่นคงและงดงามมาก ได้โปรดให้ขุดคลองและสร้างถนนตั้งแต่เมืองศรีสัขนาลัยผ่านเมืองสุโขทัย ไปถึงเมืองนครชุม(กำแพงเพชร) เพื่อเป็นการพระราชกุศลสนองพระคุณพระราชบิดา ถนนนี้ปัจจุบันเรียกว่า ถนนพระร่วง มีปรากฏตั้งแต่เมืองกำแพงเพขรถึงเมืองสุโขทัย ตลอดจนถึงเมืองสวรรคโลก ทรงสร้างเมืองสองแคว(พิษณุโลก) เป็นเมืองลูกหลวง และสร้างพระพุทธชินสีห์ ที่ฝีมือการช่างงดงามเป็นเยี่ยมทรงปกครองบ้านเมืองโดยทรงอาศัยธรรมานุภาพ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้มีความร่มเย็นเป็นสุข กรุงสุโขทัยจึงไม่มีข้าศึกศัตรูมาเบียดเบียน และไม่มีทาสในเมืองสุโขทัย

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของพญาลิไทย คือ การอุปถัมภ์การศึกษาพระพุทธศาสนาและศิลปศาสตร์ต่างๆ โดยทรงดำเนินการให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย ศึกษาพระไตรปิฎก และให้พวกพราหมณ์ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ต่างๆในบริเวณพระมหาปราสาท อาจนับได้ว่าเป็นการตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมและศิลปะศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เมื่อปีระกา พ.ศ.1900 ได้ทรงส่งราชบุรุษไปรับพระบรมธาตุมาจากประเทศลังกา แล้วโปรดให้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระมหาธาตุหรือมหาเจดีย์ที่สร้างขึ้นที่เมืองนครชุม ปัจจุบันเป็นเมืองเก่าอยู่หลังเมืองกำแพงเพชร และเมื่อปีฉลู พ.ศ.1904 ได้ทรงส่งราชบุรุษไปอาราธนาพระมหาสวามี สังฆราชจากประเทศลังกา มาอยู่ที่วัดป่ามะม่วง หรืออัมพวนาราม พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพญาลิไทยทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่แท้จริง ได้แก่การที่ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา ณ วัดป่ามะม่วง โดยมีพระสวามีสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อพ.ศ.1905 นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

พญาลิไทยได้รับยกย่องทั่วไปว่าเป็นกษัตริน์นักปราชญ์ ได้โปรดให้สร้างศิลาจารึกไว้หลายหลัก ทั้งภาษาไทย ภาษามคธ และภาษาขอม ได้แก่ จารึกสุโขทัยหลักที่2 ถึงหลักที่10 ศิลาจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย พญาลิไทยทรงเชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์จนอาจจะถอน ยก และลบ ปีเดือนได้ถูกต้องแม่นยำ ทรงรอบรู้วิชาดาราศาสตร์ อาจคำนวณการโคจรของดวงดาว กำหนดจันทรคราสและสุริยคราสได้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังเชี่ยวชาญในไสบศาสตร์ ทรงบัญญัติคัมภีร์ศาสตราคมเป็นปฐมธรรมเนียมสืบต่อมา

พระปรีชาสามารถสำคัญที่สุดของพญาลิไทยที่ทำให้ได้รับยกย่องอย่างสูงว่าเป็นนักปราชญ์ได้แก่ ความรอบรู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา มีพระปรีชาแตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และปกรณ์พิเศษต่างๆ ทรงอุตสาหะศึกษาจากพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกยุคนั้น เช่น พระมหาเถรมุนีวงศ์ พระอโนมทัสสีเถรเจ้า พระมหาเถรธรรมปาลเจ้า พระมหาเถรธรรมสิทธัตถเจ้า พระมหาเถรพุทธพงศ์เจ้า พระมหาเถรปัญญานันทเจ้า และพระมหาเถรพุทธโฆษาจารย์แห่งเมืองหริภุญไชย นอกจากนี้ยังได้ทรงศึกษาในสำนักราชบัณฑิต อุปเสนราชบัณฑิต และอทรายราชบัณฑิตอีกด้วย ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ประกอบกับพระราชประสงค์ จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาล และส่งเสริมให้อาณาประชาราษฎร์ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสงบสุข พญาลิไทยจึงได้ทรงนิพนธ์เรื่อง ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง อันนับเป็นวรณคดีเล่มแรกของไทยขึ้น
พญาลิไทยทรงนิพนธ์เรื่อง ไตรภูมิกถา ในปีระกา พ.ศ.1888 เป็นปีที่6 หลังจากได้ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย

พญาลิไทย หรือ พระมหาธรรมราชาที่1 ทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ นักปกครองที่ทรงพระปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่ง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรเป็นประโยชน์ไพศาลทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร

พระเจ้าขุนรามคำแหงทรงบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรแผ่พระราชอาณาจักรและพระราชอำนาจด้วยการรบพุ่งปราบปรามราชศัตรู ฉันใด พระมหาธรรมราชาลิไทยก็ทรงบำเพ็ญในทางที่จะเป็นธรรมราชา คือปกครองพระราชอาณาจักรหมายด้วยธรรมานุภาพเป็นสำคัญฉันนั้น

****************************************************

เนื้อเรื่องย่อ

ไตรภูมิพระร่วงว่าด้วยภูมิ3 แต่เนื้อหาแสดงเนื้อเรื่องของภูมิทั้ง4ภูมิ จัดเนื้อหาออกเป็นตอน เรียกว่า กัณฑ์ มี11กัณฑ์ ดังนี้
1.ปฐมกัณฑ์ ว่าด้วยกามภูมิที่เป็นฝ่ายอบายภูมิหรือเป็นฝ่ายทุคติ ได้แก่ นรกภูมิ คือเรื่องนรกต่างๆ ทั้งนรกใหญ่ นรกบ่าว โลกันตนรกและมหาอวีจีนรก
2.ทุติยกัณฑ์ ว่าด้วยกามภูมิที่เป็นฝ่ายอบายภูมิ (ต่อ) ได้แก่ ติรัจฉานภูมิ คือเรื่องของสัตว์ดิรัจฉานประเภทต่างๆ ได้แก่ พวกไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี่เท้า และพวกมีเท้าเกินสี่เท้า
3.ตติยกัณฑ์ ว่าด้วยกามภูมิที่เป็นฝ่ายอบายภูมิ (ต่อ) ได้แก่เปรตภูมิ คือเรื่องของเปรตประเภทต่างๆ
4.จตุตถกัณฑ์ ว่าด้วยกามภูมิที่เป็นฝ่ายอบายภูมิ (ต่อ) ได้แก่ อสุรกายภูมิ คือเรื่องของอสุรกายประเภทต่างๆ
5.ปัญจมกัณฑ์ ว่าด้วยภูมิที่เป็นฝ่ายสุคติ ได้แก่ มนุสสภูมิ คือเรื่องของมนุษย์โดยกล่าวถึงประเภทของมนุษย์4ประเภท มหาทวีปทั้ง4 พระเจ้ามหาจักรพรรดิ พระเจ้าอโศกมหาราช(จุลจักรพรรดิ) โชติกเศรษฐี บุญกิริยาวัตถุ โยนิ4 และเหตุแห่งมรณะ4
6.ฉัฏฐกัณฑ์ ว่าด้ยภูมิที่เป็นฝ่ายสุคติ (ต่อ) ได้แก่ ฉกามาพจรภูมิ คือสวรรค์ทั้ง6ชั้น
7.สัตตมกัณฑ์ ว่าด้วยรูปภูมิ (ภูมิที่2) คือ รูปพรหมหรือพรหมโลก ฝ่ายที่มีรูปร่าง16ชั้น
8.อัฏฐมกัณฑ์ ว่าด้วยอรูปภูมิ (ภูมิที่3) คืออรูปพรหมหรือพรหมโลกฝ่ายที่ไม่มีรูปร่าง4ชั้น และกล่าวถึงฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า

(ยังมีต่อ)

1 ความคิดเห็น: