วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ที่พระนครเวสาลี

พระสูตรในวันนี้กล่าวถึงพระนครเวสาลี สถานที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขาร แต่ครั้งพระองค์และท่านพระอานนท์จะทรงเดินทางไปตามหัวเมืองต่างๆ มีจุดหมายปลายทาง ณ ที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเองจะทรงเลือกเป็นสถานที่ปรินิพพาน ครั้งนั้น พระองค์ตรัสแก่ท่านพระอานนท์ว่าเวลานี้พระองค์จะได้ทอดทัศนาพระนครเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย ตลอดรายทางพระองค์ทรงสั่งสอนชนเป็นอันมากว่า ศีลคืออะไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่าพระผู้มีพระภาคทรงเลือกเอาเมืองกุสินารา ซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองเล็ก ท่านพระอานนท์ทูลทัดทานว่าขอพระองค์จงทรงเลือกเมืองที่ใหญ่กว่านี้และสมพระเกียรติยิ่งกว่านี้เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ในอดีตกาล สถานที่เมืองกุสินารานี้เป็นเมืองใหญ่ชื่อว่ากุสาวดี คับคั่งด้วยประชาชนพลเมืองและยวดยานพาหนะ จอแจด้วยเสียงเจรจาและต่อรองค้าขาย เป็นแหล่งแห่งการค้าขายและการประกอบสัมมาอาชีพ พระองค์เองทรงเสวยพระชาติเป็นพระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ใจความดังปรากฎในมหาสุทัสสนสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่มที่2

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎกเล่ม12 อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
**********************************************
กุสินารวรรคที่ ๓
กุสินารสูตร
[๕๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ชื่อว่า พลิหรณะ ใกล้พระนครกุสินารา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีหรือบุตร คฤหบดี เข้าไปหาเธอแล้วนิมนต์เพื่อฉันอาหารในวันพรุ่งนี้ ภิกษุปรารถนาอยู่ ย่อมจะรับนิมนต์ ภิกษุนั้น โดยราตรีนั้นล่วงไป เวลาเช้า นุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น แล้วนั่งลงบน อาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยขาทนียโภชนี- *ยาหารอันประณีตด้วยมือของตนจนเพียงพอ เธอคิดเช่นนี้ว่า ดีแท้ๆ คฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีนี้ อังคาสเราด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนจน เพียงพอ เธอคิดแม้เช่นนี้ว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ แม้ต่อๆ ไป ก็พึงอังคาสเราด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต เห็นปานดังนี้ ด้วยมือของตนจน เพียงพอ เธอกำหนัด หมกมุ่น พัวพัน ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคบิณฑบาตนั้น เธอตรึกเป็นกามวิตกบ้าง ตรึกเป็นพยาบาทวิตกบ้าง ตรึกเป็น วิหิงสาวิตกบ้าง ในเพราะบิณฑบาต ดูกรภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาตที่ถวายแก่ภิกษุ ผู้เห็นปานดังนี้ เรากล่าวว่าไม่มีผลมาก ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะภิกษุเป็นผู้ ประมาทอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านหรือ นิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนิมนต์เธอเพื่อฉันอาหารในวัน พรุ่งนี้ ภิกษุปรารถนาอยู่ ย่อมจะรับนิมนต์ ภิกษุนั้น โดยราตรีนั้นล่วงไป เวลาเช้า นุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอนี้ด้วย ขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนจนเพียงพอ เธอไม่คิดแม้เช่นนี้ว่า ดีแท้ๆ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ อังคาสเราด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนเพียงพอ เธอไม่คิดเช่นนี้ว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ แม้ต่อๆ ไปก็พึงอังคาสเราด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนจน เพียงพอ เธอไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคบิณฑบาตนั้น เธอตรึกเป็นเนกขัมมวิตกบ้าง ตรึกเป็นอัพยาบาทวิตกบ้าง ตรึกเป็นอวิหิงสาวิตกบ้าง ในเพราะบิณฑบาตนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาตที่ ถวายแก่ภิกษุผู้เห็นปานดังนี้ เรากล่าวว่า มีผลมาก ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะ ภิกษุเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ ฯ
[สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงประทับอยู่ที่ป่าชื่อพลิหรณะ ไม่ไกลจากเมืองกุสินารา พระผู้มีพระภาคทรงเตือนภิกษุทั้งหลายมิให้มีจิตคิดจดจ่อในบิณฑบาตว่า วันนี้เราได้รับอาการอย่างประณีตและเพียงพอแก่ความต้องการ แม้วันต่อๆไปก็ขอเราจงได้รับบิณฑบาตเช่นนี้อีก ซึ่งความปริวิตกดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วยกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก]
ภัณฑนสูตร
[๕๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุทั้งหลาย เกิดบาดหมาง กัน เกิดทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ทิศเช่นนี้ ย่อมไม่ผาสุกแก่เราแม้แต่คิดในใจ จะกล่าวไปใยถึงการไปเล่า ในเรื่องนี้ เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นละทิ้งธรรม ๓ ประการเสียแล้ว ได้ทำ ให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการเป็นแน่ ได้ละธรรม ๓ ประการเหล่าไหน ได้ละธรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ เนกขัมมวิตก ๑ อัพยาปาทวิตก ๑ อวิหิงสาวิตก ๑ ได้ ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการเหล่าไหน ได้ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุ ทั้งหลาย เกิดบาดหมางกัน เกิดทะเลาะวิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก อยู่ ทิศเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผาสุกแก่เราแม้แต่คิดในใจ จะป่วยกล่าวไปใยถึงการ ไป ในเรื่องนี้เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละทิ้งธรรม ๓ ประการ นี้เสียแล้ว ได้ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการนี้เป็นแน่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศ ใด ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้สามัคคีกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนม กับน้ำ ต่างมองดูกันและกันด้วยนัยน์ตาอันแสดงความรักอยู่ ทิศเช่นนี้ย่อมผาสุก แก่เราแม้แต่จะไป จะป่วยกล่าวไปใยถึงการคิดในใจเล่า ในเรื่องนี้เราสันนิษฐาน ได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละธรรม ๓ ประการเสียได้แล้ว ได้ทำให้มากซึ่ง ธรรม ๓ ประการเป็นแน่ ได้ละธรรม ๓ ประการเหล่าไหน ได้ละธรรม ๓ ประ- *การเหล่านี้ คือ กามวิตก ๑ พยาปาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ได้ทำให้มากซึ่ง ธรรม ๓ ประการเหล่าไหน ได้ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ เนกขัมมวิตก ๑ อัพยาปาทวิตก ๑ อวิหิงสาวิตก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้สามัคคีกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ ต่างมองดูกันและกันด้วยนัยน์ตาอันแสดงความรักอยู่ ทิศเช่นนี้ย่อมผาสุกแก่เรา แม้แต่จะไป จะป่วยกล่าวไปใยถึงการคิดในใจเล่า ในเรื่องนี้เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละธรรม ๓ ประการนี้ได้เสียแล้ว ได้ทำให้มากซึ่งธรรม ๓ ประการนี้เป็นแน่ ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสถึงการที่ในทิศใดๆก็ตาม ภิกษุทั้งหลายวิวาทบาดหมาง ขัดแย้งกันอยู่ พระองค์ย่อมไม่ทรงมีความผาสุกในพระทัยเมื่อเพียงจะดำริถึงทิศนั้น สถานที่นั้น จะกล่าวไปทำไมถึงการที่จะไปเยือน พระองค์ทรงสันนิษฐานว่าผู้มีอายุเหล่านั้นคงจะประกอบไปด้วยธรรม3ประการคือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ความรักใคร่กลมเกลียวกันในหมูาท่านผู้มีอายุนั้นย่อมมีได้เพราะการละซึ่งธรรม3ประการดังกล่าว และเจริญซึ่งธรรม3ประการคือเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก]
โคตมสูตร
[๕๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ ใกล้พระนครเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว จึงแสดง ธรรม ไม่รู้ไม่แสดง แสดงธรรมมีเหตุ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุ แสดง ธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว จึงแสดงธรรม ไม่รู้ไม่แสดง แสดงธรรมมีเหตุ ไม่ใช่แสดงไม่มีเหตุ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ท่านทั้งหลายควรทำโอวาท ควรทำอนุสาสนี ก็แหละท่านทั้งหลายควรที่จะ ยินดี ควรที่จะชื่นชม ควรที่จะโสมนัสว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสคำไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ พัน โลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว ฯ
[สมัยหนึ่ง ที่พระนครเวสาลี ณ โคตมกะเจดีย์ พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ธรรมทั้งหลายที่พระองค์ตรัสนั้น
1.พระองค์ทรงรู้ยิ่งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงตรัส มิใช่ว่าตรัสโดยไม่รู้
2.พระองค์ตรัสโดยมีเหตุ มิใช่ตรัสโดยไม่มีเหตุ
3.พระองค์ตรัสธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่ว่าตรัสโดยไม่มีปาฏิหาริย์ควรที่ภิกษุทั้งหลายจะชื่นชม โสมนัส และเมื่อพระองค์ตรัสดังนี้แล้ว พันโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว]
ภรัณฑุสูตร
[๕๖๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท เสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์ เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ได้ทรงสดับ ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์ โดยลำดับแล้ว ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ไปเถิดมหานามะ ท่านจงรู้สถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ ที่อาตมาควรอยู่สักคืนหนึ่งวันนี้ เจ้า ศากยะพระนามว่ามหานามะ รับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปยัง พระนครกบิลพัสดุ์ เที่ยวไปจนทั่ว ก็มิได้เห็นสถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคควรจะประทับอยู่สักคืนหนึ่ง ลำดับนั้นแล เจ้าศากยะพระ- *นามว่ามหานามะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ไม่มีสถานที่พัก ซึ่งพระผู้มีพระภาค ควรจะประทับสักคืนหนึ่งวันนี้ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนี้เป็นเพื่อนพรหมจารี เก่าแก่ของพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคจงประทับอยู่ ณ อาศรมของ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนั้นสักคืนหนึ่งในวันนี้เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไป เถิดมหานามะ ท่านจงปูลาดเครื่องลาดเถิด เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบส กาลามโคตร แล้วทรงปูลาดเครื่องลาด ทรงตั้งน้ำไว้เพื่อจะล้างพระบาท แล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ ข้าพระองค์ได้ลาดเครื่องลาดเสร็จแล้ว ได้ตั้งน้ำไว้เพื่อชำระยุคลบาท แล้ว บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรเถิด ลำดับนั้นแล พระผู้มี พระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร แล้วประทับนั่งบน อาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ทรงล้างพระบาททั้งสอง ครั้งนั้นแล เจ้า ศากยะพระนามว่ามหานามะทรงดำริว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย ต่อวันพรุ่งนี้ เราจึงจักเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำ ประทักษิณแล้วเสด็จหลีกไป ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เจ้าศากยะ พระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทรงถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรมหานามะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มี ปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ศาสดาพวกหนึ่งในโลกนี้ บัญญัติ การกำหนดรู้กาม ไม่บัญญัติการกำหนดรู้รูป ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กาม และบัญญัติการกำหนดรู้รูป แต่ไม่บัญญัติ การกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กามด้วย บัญญัติการกำหนดรู้รูป ด้วย บัญญัติการกำหนดรู้เวทนาด้วย ดูกรมหานามะ ศาสดา ๓ จำพวก นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรมหานามะ คติของศาสดา ๓ จำพวกนี้เป็น อย่างเดียวกัน หรือว่าเป็นต่างๆ กัน เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้ ภรัณฑุ- *ดาบสกาลามโคตรได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกราบทูลว่าเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อภรัณฑุดาบสกาลามโคตรกล่าวเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่าน จงกล่าวว่าเป็นต่างๆ กัน แม้ครั้งที่สอง ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าว กะเจ้าศากยพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่าง เดียวกัน แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน แม้ครั้งที่สาม ภรัณฑุดาบส กาลามโคตร ก็ได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ได้ ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน ครั้งนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้คิดว่า เราถูก พระสมณโคดมรุกรานเอาแล้ว ต่อหน้าเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ผู้มี ศักดิ์ใหญ่ถึงสามครั้ง ผิฉะนั้น เราพึงหลีกไปเสียจากนครกบิลพัสดุ์ ลำดับนั้น แล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตร ได้หลีกไปแล้วจากนครกบิลพัสดุ์ เขาได้ หลีกไปแล้วเหมือนอย่างนั้นทีเดียว มิได้กลับมาอีกเลย ฯ
[ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จไปตามโกศลชนบท ลุถึงพระนครกบิลพัสดุ์ เจ้ามหานามะศากยะทรงทราบแล้วได้เสด็จมาเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคตรัสให้เจ้ามหานามะศากยะช่วยเป็นธุระเรื่องสถานที่ประทับว่าในสถานที่ใดจะเหมาะสมและพอจะประทับได้ เจ้ามหานามะรับสั่งแล้วไม่อาจหาสถานที่ในตระกูลที่เหมาะสมเลย มีแต่อาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร ซึ่งเป็นพระสหายเก่าแก่พระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้มากราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทราบสดับแล้วก็ทรงทราบถึงสถานที่นั้นว่าควรแก่การประทับในราตรีนั้น ครั้นแล้วได้เสด็จยังอาศรมนั้น เจ้ามหานามะศากยะลาดเครื่องลาดและตั้งน้ำเพื่อชำระยุคลบาทแล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงที่นั้นแล้ว ประทับนั่งที่บนอาสนะ แล้วชำระพระยุคลบาททั้งสอง เจ้ามหานามะทรงเสด็จกลับก่อนเพราะเป็นเวลาค่ำแล้ว ได้กระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ วันรุ่งขึ้นจึงมาเข้าเฝ้า ทรงถวายบังคมแล้วทรงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสแก่เจ้ามหานามะศากยะว่า ดูกรมหานามะ ศาสดา3จำพวกนี้มีอยู่ในโลก คือ
1.ศาสดาจำพวกหนึ่งบัญญัติถึงการรับรู้ถึงแต่กาม ไม่รับรู้เรื่องรูป ไม่รับรู้เรื่องเวทนา(ความรู้สึกสุขทุกข์)
2.ศาสดาจำพวกหนึ่งบัญญัติถึงการรับรู้ถึงแต่กามและรูป ไม่รับรู้เรื่องเวทนา
3.ศาสดาจำพวกหนึ่งบัญญัติถึงการรับรู้ทั้งเรื่องกาม รูป และเวทนา
ดูกรมหานามะ คติที่ไปของศาสดา3จำพวกนี้แตกต่างกันหรือเหมือนกัน ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวแก่เจ้ามหานามะศากยะว่า พระองค์จงกราบทูลว่าเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวตอบไปว่าแตกต่างกัน แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวแก่เจ้ามหานามะศากยะว่า ท่านจงกราบทูลไปว่าเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับแล้วจึงตรัสแก่เจ้ามหานามะศากยะว่า ดูกรมหานามะ ท่านจงกล่าวไปว่าแตกต่างกัน

ครั้งนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรคิดว่า เราถูกพระสมณโคดมรุกรานแล้วต่อหน้าเจ้ามหานามะศากยะผู้มีศักดิ์ใหญ่ถึงสามครั้ง เราพึงหลีกไปเสียจากพระนครกบิลพัสดุ์ ลำดับนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้หลีกไปจากพระนครกบิลพัสดุ์ มิได้กลับมาอีกเลย]

หัตถกสูตร
[๕๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐม ยามล่วงไป หัตถกเทพบุตรมีรัศมีงามยิ่งนัก ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ คิดว่า จักยืนตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วทรุดลงนั่งไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้ เปรียบเหมือนเนยใสหรือน้ำนมที่เขาเท ลงบนทรายย่อมจมลง ตั้งอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด หัตถกเทวบุตรก็ฉันนั้น เหมือนกัน คิดว่า จักยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาคแล้วทรุดลงนั่ง ไม่ สามารถที่จะยืนอยู่ได้ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะหัตถกเทพบุตรว่า ดูกรหัตถกะ ท่านจงนิรมิตอัตภาพอย่างหยาบๆ หัตถกเทพบุตรทูลรับพระผู้มี พระภาคแล้ว นิรมิตอัตภาพอย่างหยาบ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกร หัตถกะ ธรรมที่เป็นไปแก่ท่านผู้เป็นมนุษย์แต่ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ยังเป็นไป แก่ท่านอยู่บ้างหรือ หัตถกเทพบุตรกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ธรรมที่เป็นไป แก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็ยังเป็นไปแก่ข้าพระองค์อยู่ และธรรมที่มิได้เป็นไปแก่ข้าพระองค์ เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็เป็น ไปอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์อยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นพระเจ้าข้า เกลื่อน กล่นไปด้วยเทพบุตรอยู่ พวกเทพบุตรต่างมากันแม้จากที่ไกล ก็ด้วยตั้งใจว่า จักฟังธรรมในสำนักของหัตถกเทพบุตร ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อ ธรรม ๓ อย่างก็ได้ทำกาละเสียแล้ว ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ข้าพระองค์ ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเพื่อการฟังพระสัทธรรม ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการ อุปัฏฐากพระสงฆ์ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยัง ไม่ทันเบื่อธรรม ๓ อย่างนี้แล ได้ทำกาละเสียแล้ว ครั้นหัตถกเทพบุตรได้ กล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้ต่อไปอีกว่า แน่ละ ในกาลไหนๆ จึงจักอิ่มต่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค การอุปัฏฐากพระสงฆ์ และการฟังพระสัทธรรม หัตถก อุบาสกยังศึกษาอธิศีลอยู่ ยินดีแล้วในการฟังพระสัทธรรม ยังไม่ทันอิ่มต่อธรรม ๓ อย่าง ก็ไปพรหมโลกชั้นอวิหา เสียแล้ว ฯ
กฏุวิยสูตร
[๕๖๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤค- *ทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรง ผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังพระนครพาราณสีเพื่อ บิณฑบาต พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ไร้ความ แช่มชื่น มีความแช่มชื่นแต่ภายนอก หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มี สมาธิ มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในสำนัก ของพวกมิลักขะ ซึ่งชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่ขายโค แล้วได้ตรัสกะภิกษุนั้น ว่า ดูกรภิกษุ เธออย่าได้ทำตนให้เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ข้อที่ว่า แมลงวัน จักไม่ไต่ตอม จักไม่กัดตนที่ทำให้มักใหญ่ใฝ่สูง ชุ่มเพราะกลิ่นดิบนั้นแล ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้น อันพระผู้มีพระภาคตรัสสอน ด้วยพระโอวาทนี้ ได้ถึงความสลดใจแล้ว ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครพาราณสี ในเวลาภายหลังภัต เสด็จกลับ จากเที่ยวบิณฑบาตแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเช้านี้ เรานุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังพระนครพาราณสี เพื่อบิณฑบาต เราได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้ไร้ความแช่มชื่น มีความแช่มชื่นแต่ ภายนอก หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในสำนักของพวกมิลักขะ ซึ่งชุม นุมกันอยู่ ณ สถานที่ขายโค ครั้นแล้ว เราได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า ดูกร ภิกษุ เธออย่าได้ทำตนให้เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ข้อที่ว่าแมลงวันจักไม่ไต่ ตอม จักไม่กัดตนที่ทำให้มักใหญ่ใฝ่สูง ชุ่มเพราะกลิ่นดิบนั้นแล ไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้นอันเราสอนด้วย โอวาทนี้ ได้ถึงความสลดใจแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความมักใหญ่ใฝ่สูงคืออะไร กลิ่นดิบ คืออะไร แมลงวันคืออะไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ ความ มักใหญ่ใฝ่สูง คือ อภิชฌา กลิ่นดิบ คือ พยาบาท แมลงวัน คือ วิตกที่ เป็นบาปเป็นอกุศล ดูกรภิกษุ ข้อที่ว่า แมลงวันจักไม่ไต่ตอม จักไม่กัดตนที่ทำ ให้มักใหญ่ใฝ่สูง ชุ่มเพราะกลิ่นดิบนั้นแล ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ แมลงวันคือความดำริที่อิงราคะ จักไม่ตอมบุคคลผู้ไม่คุ้ม ครองในจักษุและโสต ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ภิกษุ ผู้ทำตนให้เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ชุ่มเพราะกลิ่นดิบ ย่อม อยู่ห่างไกลจากนิพพาน เป็นผู้มีส่วนแห่งความคับแค้นถ่าย เดียว คนพาลสันดานเขลา ถูกแมลงวันทั้งหลายไต่ตอม ไม่ได้เพื่อนที่เสมอตน พึงเที่ยวไปในบ้านบ้าง ในป่าบ้าง ส่วน ชนพวกที่สมบูรณ์ด้วยศีล ยินดีในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบด้วย ปัญญา เป็นผู้สงบระงับ อยู่เป็นสุข แมลงวันไม่ อาศัยเขา ฯ
อนุรุทธสูตรที่ ๑
[๕๖๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาสเถิด ข้า พระองค์เห็นแต่มาตุคามโดยมาก เมื่อตายไปเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มาตุคาม ประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอ เมื่อตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอนุรุทธะ มาตุคามประกอบด้วย ธรรม ๓ อย่าง เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ มาตุคามในโลกนี้ เวลาเช้า มีใจอันมลทินคือความตระหนี่ กลุ้มรุม อยู่ครองเรือน ๑ เวลาเที่ยง มีใจอันความริษยากลุ้มรุม อยู่ครอง เรือน ๑ เวลาเย็น มีใจอันกามราคะกลุ้มรุม อยู่ครองเรือน ๑ ดูกรอนุ- *รุทธะ มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ อย่างนี้แล เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ
อนุรุทธสูตรที่ ๒
[๕๗๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่ อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ขอโอกาสเถิดท่านสารีบุตร ผมตรวจดูตลอดพันโลกด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ก็ผมปรารภ ความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่น เป็นเอกัคคตา เออก็ไฉนเล่า จิตของผมจึงยังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรท่านอนุรุทธะ การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า เราตรวจ ดูตลอดพันโลก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ดังนี้ เป็นเพราะ มานะของท่าน การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า ก็เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา ดังนี้ เป็นเพราะอุทธัจจะของท่าน ถึงการที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า เออก็ไฉนเล่า จิต ของเรายังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็เป็นเพราะกุกกุจจะของท่าน เป็นความดีหนอ ท่านพระอนุรุทธะจงละธรรม ๓ อย่างนี้ ไม่ใส่ใจธรรม ๓ อย่างนี้ แล้วน้อมจิตไปในอมตธาตุ ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะต่อมาได้ละ ธรรม ๓ อย่างนี้ ไม่ใส่ใจถึงธรรม ๓ อย่างนี้ น้อมจิตไปในอมตธาตุ ครั้งนั้น แล ท่านพระอนุรุทธะ หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีตนอัน ส่งไปอยู่ ไม่นานนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่ กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องกันนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละ ท่านพระอนุรุทธะ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
[ครั้งหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธิ์ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ครั้นปราศรัยพอได้แสดงการระลึกถึงกันแล้ว ท่านพระอนุรุทธิ์ได้ปรารภแก่ท่านพระอานนท์ว่า ขอโอกาสเถิด ท่านพระสารีบุตร ผมตรวจดูตลอดพันโลกธาตุแล้วด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ลาวงจักษุของมนุษย์ ก็ผมนั้นได้ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้ไม่หลงลืม ทั้งกายสังขารก็สงบระงับ จิตของผมก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ก็ไฉนเล่า จิตของผมจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ท่านพระสารีบุตรกล่าวแก่ท่านพระอนุรุทธิ์ว่า ดูกรท่านอนุรุทธิ์ การที่ท่านดำริดังนี้ว่า
1.ผมตรวจดูตลอดพันโลกธาตุแล้วด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ลาวงจักษุของมนุษย์ ในข้อนี้เป็นมานะ(ความเย่อหยิ่งถือตัว)ของท่าน
2.ผมนั้นได้ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไว้ไม่หลงลืม ทั้งกายสังขารก็สงบระงับ จิตของผมก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ในเรื่องนี้เป็นอุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน)ของท่าน
3.ไฉนเล่า จิตของผมจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ในเรื่องนี้เป็นกุกกุจจะ(ความรำคาญใจไม่เป็นสุข)ของท่านเป็นความดีหนอ ท่านพระอนุรุทธิ์จงอย่าไปใส่ใจธรรมสามประการนี้ พึงระลึกถึงพระนิพพาน ยังความเพียรเพื่อความบรรลุในคุณธรรมอันยังไม่มีในตนให้บังเกิดขึ้น

ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธิ์ได้หลีกออกจากหมู่ภิกษุแต่ผู้เดียว มีความไม่ประมาท ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม ไม่นานนักก็ได้กระทำให้แจ้งซึ่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมอันเป็นจุดมุ่งหมายของกุลบุตรทั้งหลายที่ออกบวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ด้วยตนเอง มีชาติและชรามรณะอันสิ้นแล้ว มิได้มีกิจอย่างอื่นที่จะยิ่งไปกว่านี้ ท่านพระอนุรุทธิ์ได้เป็นพระอรหันตขีณาสวเจ้าองค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย]

ปฏิจฉันนสูตร
[๕๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิด เผยไม่เจริญ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ มาตุคาม ปิดบังเอาไว้จึงจะงดงาม เปิดเผย ไม่งดงาม ๑ มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังเข้าไว้จึงรุ่งเรือง เปิดเผยไม่รุ่งเรือง ๑ มิจฉาทิฐิ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่าง นี้แล ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ดวงจันทร์ เปิดเผย จึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑ ดวงอาทิตย์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑ ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้แล เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ฯ
เลขสูตร
[๕๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน ๑ บุคคลผู้เปรียบ ด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน ๑ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหินเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ในโลกนี้ โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้นนอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นหิน ไม่ลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ย่อมตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้นก็นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้ เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบ ด้วยรอยขีดที่แผ่นดินเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธ เนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบ เหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน ลบเลือนไปโดยเร็วเพราะลมและน้ำ ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้ เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบ ด้วยรอยขีดที่น้ำเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้จะถูกว่า ด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คง สมานไมตรี กลมเกลียว ปรองดองกันอยู่ เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ จะขาด จากกันก็ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูก ว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรีกลมเกลียว ปรองดองกันอยู่ นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
จบกุสินารวรรคที่ ๓
---------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุสินารสูตร ๒. ภัณฑนสูตร ๓. โคตมสูตร ๔. ภรัณฑุสูตร ๕. หัตถกสูตร ๖. กฏุวิยสูตร ๗. อนุรุทธสูตรที่ ๑ ๘. อนุรุทธสูตรที่ ๒ ๙. ปฏิจฉันนสูตร ๑๐. เลขสูตร ฯ ---------------
************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น