วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ความเป็นมาโดยย่อของพระไตรปิฎก (ต่อ)

(ต่อจากครั้งที่แล้ว)

การสังคายนา กับความเป็นมาของพระไตรปิฎก
การสังคายนา หมายถึง การร้อยกรองพระธรรมวินัย คือ การประชุมสงฆ์ จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบในที่ประชุมนั้นว่า ตกลงกันอย่างนี้ และก็มีการท่องจำกันนำสืบๆต่อกันมา ในครั้งแรกๆการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆมาปรากฏว่ามีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิดตีความหมายผิดและชำระกันให้รู้ข้อผิดข้อถูก ชี้ขาดว่าควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการสังคายนา โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง

ในระยะหลังๆก็ทำเพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทาน ข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความจริง เมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับ การจัดระเบียบ การปัดกวาดเช็ดถูให้สะอาด ทำขึ้นเมื่อไร ก็มีประโยชน์เมื่อนั้น เหมือนการทำความสะอาด การจัดระเบียบในที่อยู่อาศัย

การสังคายนา จึงแตกต่างจากการสวดพระปาติโมกข์ เพราะการสวดปาติโมกข์เป็นการทบทวนความจำของที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางพระวินัย โดยเฉพาะข้อบัญญัติที่เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติของพระภิกษุและภิกษุณี ส่วนการสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดเข้าใจผิดได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันควร บางครั้งพระสงฆ์ในยุคนั้นๆทั้งๆไม่มีข้อถือผิดเข้าใจผิด แต่เห็นสมควรตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก แก้ตัวอักษรหรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อน ก็ถือว่าเป็นการสังคายนา

เพื่อความสะดวกในการศึกษาความเป็นมาของพระไตรปิฎก จากประวัติการสังคายนา จึงควรศึกษาประวัติย่อของการทำสังคายนาดังต่อไปนี้

สถานการณ์พระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน
สถานการณ์พระพุทธศาสนาบางอย่าง มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนพุทธปรินิพพาน ซึ่งตอนปลายพุทธสมัยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายประการ เช่น

พระมหาเถระผู้ใหญ่อย่างพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานเถระ เป็นต้น ได้นิพพานไปก่อนการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ทำให้โฉมหน้าพระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไป เพราะตามหลักฐานในจาตุมสูตร พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอัครสาวกทั้งสองว่า อยู่ในฐานะที่จะบริหารคณะสงฆ์ เสมอด้วยพระองค์ หากพระอัครสาวกทั้งสองไม่นิพพานไปก่อน ระบบการบริหารคณะสงฆ์อาจจะมีรูป มีสังฆปรินายกรูปเดียว เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองนิพพานไปแล้ว พระมหาเถระรูปอื่นไม่ได้รับยกย่องในฐานะดังกล่าว รูปการปกครองพระพุทธศาสนาจึงต้องให้พระสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัย ที่พระองค์ทรงบัญญัติแสดงแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์อย่างที่เป็นอยู่

ฝ่ายคฤหัสถ์ที่มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าสุทโธทนะ ได้สวรรคตและนิพพานไปก่อนไม่นานนัก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางอุตราอุบาสิกา เป็นต้น ก็ได้สิ้นชีวิตไปก่อนพระพุทธเจ้า ทำให้ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาขาดไปหลายท่าน

พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่ออกไปไกลมาก ทำให้การติดต่อสอบทานความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยในพระธรรมวินัยไม่สะดวกเท่าที่ควร ทั้งคนที่เข้ามาบวชก็มีเจตนาแตกต่างกัน ทำให้เรื่องเสื่อมเสียบางอย่างเกิดขึ้น และมีคนบางพวกที่ต้องการเป็นพระ แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คนเหล่านั้นได้แสดงความคิดเห็นของตนออกมาในโอกาสต่างๆ แต่ความแตกแยกอย่างรุนแรงคงไม่เกิดขึ้น หรือถึงแม้จะเกิดขึ้นก็สามารถระงับลงไปได้ดังกล่าวในตอนต้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่า คนพวกนี้จะหมดไปก็หาไม่ เป็นเพียงสงบอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง

พระเถระทั้งหลายในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาสูง ได้พยายามรักษาป้องกันพระธรรมวินัยไว้ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น พระจุนทเถระ ปรารภการนิรวาณของท่านมหาวีระ จนสาวกแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ได้เสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย จนพระสารีบุตรได้ระบพุทธานุมัติให้จัดทำ แต่ทำไม่สำเร็จเพราะท่านนิพพานเสียก่อน

หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง7วัน คนที่ต้องการเป็นพระในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็แสดงตัวออกมาจนเป็นเหตุนำไปสู่การสังคายนาครั้งที่1 ความย่อว่า

สังคายนาครั้งที่1
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้7วัน พระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยบริวารประมาณ500รูป ได้ทราบจากปริพาชกท่านหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้7วันแล้ว ขณะที่ท่านและบริวารพักอยู่ ณ เมืองปาวา ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ทราบข่าวต่างก็แสดงตัวออกมาแตกต่างกัน คือ

ท่านที่เป็นพระอริยบุคคล มีสติอดกลั้นด้วยคิดว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คนจะได้สิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั้งหลายแต่ที่ไหน ฝ่ายท่านที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ได้แสดงความเศร้าโศก เพราะปิยวิปโยคอย่างหนักว่า

"พระผู้มีพระภาคปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก จักษุแห่งโลกหายไปจากโลกเร็วนัก"

ในขณะที่พระอริยบุคคลทั้งหลายได้แสดงความจริงแห่งสังขาร เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นยอมรับตามพระพุทธดำรัสความว่า

"ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาคได้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความเว้น ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์และสังขารทั้งหลายที่รักที่ชอบใจทั้งปวง ย่อมไม่อาจจะหาสิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั้งหลาย สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา การที่เราจะปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าสลายเลย ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้"

ท่านสุภัททวุฑฒบรรพชิต กลับกล่าวปลอบโยนด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไปว่า "พวกเรา พ้นจากมหาสมณะนั้นด้วยดีแล้ว เพราะเมื่อก่อนได้เบียดเบียนเรา ด้วยการตักเตือนว่า นี่ควร นี่ไม่ควร สำหรับพวกเราทั้งหลาย บัดนี้ พวกเราสบายแล้ว พวกเราต้องการทำสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น ไม่ต้องการทำสิ่งใดก็ไม่ทำสิ่งนั้น"

คำพูดของท่านสุภัททวุฑฒบรรพชิต ถือว่าเป็นการกล่าวจ้วงจาบขาดความเคารพต่อพระธรรมวินัยทั้งๆที่ตนเองเป็นพุทธสาวก เสมือนผู้แสดงตนเป็นขบถต่อพระศาสดา แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่ใกล้การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระมหากัสสปเถระจึงไม่ได้กล่าวอะไรในขณะนั้น

หลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปเถระจึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์ พร้อมกับเสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยให้เหตุผลว่า ถ้าปล่อยให้นานไป

"สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัยจักเจริญ สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยจะเสื่อมถอย พวกอธรรมวาทีอวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญ ฝ่ายธรรมวาทีวินัยวาทีจะเสื่อมถอย"

นอกจากนี้ พระกัสสปเถระยังมีเหตุผลส่วนตัวท่าน ที่จะต้องพิทักษ์ศาสนธรรม อันเป็นตัวแทนของพระศาสดาไว้ คือ ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า มีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิของพระองค์กับท่าน อันเปรียบเสมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงเปลื้องเกราะมอบให้เชษฐโอรส เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระราชโอรสจะเป็นผู้รับผิดชอบราชการแผ่นดินต่อไป หลังจากพระองค์สวรรคตไปแล้ว ฐานะที่ทรงยกย่องพระมหากัสสปเถระทั้ง2นี้ ไม่เคยยกย่องพระสาวกรูปอื่นเลย

ในที่สุด มติที่ประชุมของเถระทั้งหลายในคราวนั้น กำหนดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยใช้การกสงฆ์500รูป เป็นพระอรหันต์ล้วนๆ เพื่อประกอบกันเป็นพระสังคีติกาจารย์ และกำหนดให้ทำสังคายนาที่สัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เมื่อพระมหากัสสปเถระเลือกพระอรหันต์ทั้งหลายอยู่นั้น เลือกไปได้ครบ499รูป ก็เกิดปัญหาคือสังคายนาครั้งนี้จะขาดพระอานท์ไม่ได้ เพราะท่านทรงจำพระธรรมวินัยไว้ได้มาก แต่ถ้าจะเลือกท่านเข้าร่วมด้วย ผิดมติที่ประชุม เพราะยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ในที่สุดที่ประชุมจึงเสนอให้ พระมหากัสสปะเลือกพระอานนท์เข้าไปด้วย โดยให้เหตุผลว่า

-แม้พระอานนท์เถระจะเป็นพระเสขบุคคลอยู่ แต่ท่านไม่ลำเอียงด้วยอคติ4ประการ

-พระอานนทเถระ เป็นเสมือนคลังพระสัทธรรม เพราะได้สดับจากพระพุทธเจ้า พระเถระทั้งหลายเป็นอันมาก

พระมหากัสสปเถระจึงเลือกพระอานนท์เถระเข้าร่วมในการสังคายนา และประกาศด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมรับญัตติ3ประการ คือ
1.ยอมรับให้พระเถระจำนวน500รูป ที่คัดเลือกตามมติสงฆ์ เป็นพระสังคีติกาจารย์ มีหน้าที่ในการสังคายนาพระธรรมวินัย
2.ใช้สัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เป็นที่ทำสังคายนา
3.ห้ามพระอื่นนอกจากพระสังคีติกาจารย์ เข้าจำพรรษาในกรุงราชคฤห์ เพื่อสะดวกแก่การบิณฑบาต และป้องกันผู้ไม่หวังดีทำอันตรายแก่การสังคายนา

เมื่อพระสงฆ์ทั้งปวงลงมติยอมรับเป็นเอกฉันท์แล้ว พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายก็เดินทางเข้ากรุงราชคฤห์ ขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องการซ่อมวิหาร18ตำบล สร้างสถานที่ทำสังคายนา ซึ่งทรงรับภาระเกี่ยวกับด้านราชอาณาจักรทุกประการ พระอานนทเถระได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหัตก่อนการทำสังคายนา จึงเป็นอันว่าการทำสังคายนาในคราวนั้น ทำโดยพระอรหันต์ล้วนทั้ง500องค์ โดยเริ่มลงมือทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้3เดือน พระมหากัสสปเถระ ทำหน้าที่ปุจฉาพระวินัยและพระธรรมตามลำดับ โดยที่ประชุมกำหนดให้สังคายนาพระวินัยก่อน เพราะถือว่าพระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยคงดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาย่อมชื่อว่าดำรงอยู่

ทำสังคายนากันอย่างไร?
ในชั้นแรก พระมหากัสสปเถระ พระอุบาลีเถระ และพระอานนทเถระ ได้สวดประกาศสมมติตน เพื่อทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชนาพระวินัยและพระธรรม ตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ต่อแต่นั้น พระมหากัสสปเถระจะสอบถามพระวินัยแต่ละข้อในส่วนที่เกี่ยวกับ วัตถุ นิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ เป็นต้น แห่งสิกขาบทแต่ละบท เมื่อพระอุบาลีตอบไปตามลำดับแล้ว พระสงฆ์ที่ประชุมกันจะสวดพระวินัยข้อนั้นๆพร้อมกัน เมื่อตรงกันไม่ผิดพลาดแล้ว สงฆ์รับว่าถูกต้องแล้ว จึงถามข้ออื่นต่อไป ทำกันโดยนัยนี้จนจบพระวินัยปิฎก แบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้5หมวด คือ อาทิกรรม ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค และบริวาร ปัจจุบันพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขนาดใหญ่ถึง8เล่ม เรียกเป็นหัวใจพระวินัย ว่า อา. ปา. ม. จุ. ป.

ในด้านพระสูตรนั้น ท่านเริ่มสังคายนาพระสูตรขนาดยาวก่อน คือ พรหมชาลสูตร สามัญญผลสูตร เป็นต้น สิ่งที่พระมหากัสสปเถระถาม คือ นิทาน บุคคล เนื้อหาแห่งพระสูตรนั้นๆ เมื่อพระอานนทเถระตอบแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็สาธยายพระสูตรนั้นๆพร้อมกัน จนจบพระสูตรทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น5นิกาย การสังคายนาในคราวนั้น ใช้เวลาถึง7เดือนจึงสำเร็จ

หลังจากเสร็จการสังคายนาแล้ว พระอานนทเถระได้แจ้งให้สงฆ์ทราบว่า ก่อนจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้ารับสั่งไว้ว่า

"เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กๆน้อยๆเสียบ้างก็ได้"

แต่เพราะพระอานนทเถระไม่ได้กราบทูลถามว่า สิกขาบทเล็กๆน้อยๆนั้นคือสิกขาบทอะไรบ้าง กับสงฆ์ไม่อาจหาข้อยุติได้ว่า สิกขาบทเช่นไรเรียกว่าสิกขาบทเล็กน้อย พระมหากัสสปเถระ จึงเสนอเป็นญัตติในที่ประชุมว่าด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาความว่า

-สิกขาบทบางอย่างที่เกี่ยวกับชาวบ้าน ชาวบ้านย่อมทราบว่าอะไรควร หรือไม่ควร สำหรับสมณศากยบุตรทั้งหลาย

-หากจะถอนสิกขาบทบางข้อ ชาวบ้านจะตำหนิว่า พวกเราศึกษาและปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลายในขณะที่พระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่เท่านั้น พอพระศาสดานิพพานก็ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติ

-ขอให้สงฆ์ทั้งปวงอย่าเพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญญัติไว้ สมาทานศึกษาตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น
***********************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น