วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แนะนำวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง (ต่อ)

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

9.นวมกัณฑ์ ว่าด้วย อวินิโภครูป คือโลกแห่งวัตถุ และธรรมชาติแวดล้อมกล่าวโดยสรุปภูมิทั้ง3ภูมิว่า สัตว์โลกทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้ง3นี้ ล้วนแต่ตกอยู่ในอำนาจอนิจจลักษณะ แม้แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมล้วนๆ เช่น ภูเขา แม่น้ำ พระอาทิตย์ พระจันทร์ นพเคราะห์ ดารากร ชมพูทวีป ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นอวินิโภครูป ก็ตกอยู่ในอำนาจอนิจจลักษณะทั้งสิ้น
10.ทสมกัณฑ์ ว่าด้วยโอกาสมหากัลปสุญญตา - กัลปวินาศและอุบัติ กล่าวโดยสรุป ฝูงอันมีจิตและชีวิตอันเกิดในภูมิทั้ง31ชั้นนั้นไม่เที่ยง ย่อมฉิบหายด้วยมัตยุราชกระทำให้หายไซร้ สิ่งทั้งหลายที่มีแต่รูปไม่มีจิตอันมีในภูมิ12ชั้นแห่งนี้ ยกเว้นแต่อสัญญีสัตว์ขึ้นไป ที่ต่ำแต่อสัญญีสัตว์ลงมามีพระสุเมรุราชย่อมฉิบหาย(ไป) ด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยลม
11.เอกาทสมกัณฑ์ คือ นิพพานกถา หรือ โลกุตตรภูมิ ว่าด้วยพระนิพพานอันเป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน ไม่รู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย และกล่าวถึงวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน

ในส่วนอวสานพจน์ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายในการแต่งไตรภูมิกถาประวัติสังเขปของผู้นิพนธ์ วัน เดือน ปี ที่แต่งจบบริบูรณ์และหนังสืออุเทศ ตลอดจนประโยชน์ของการศึกษา การฟังไตรภูมิกถา และอานิสงส์ของการเจริญกรรมฐาน โดยพิจารณาสังขารให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงทิพยสมบัติ พระนิพพาน และการจะได้พบพระศรีอาริย์ในอนาคตว่า ผู้ปรารถนาจะได้รับหรือได้พบสิ่งที่กล่าวมา ขอให้สดับตรับฟังไตรภูมิกถา "ด้วยทำนุอำรุงด้วยในศรัทธา อย่าได้ประมาทสักอันไส้ จะได้พบได้ไหว้ได้ฟังธรรมแห่งพระอาริยเจ้า"

นอกจากนี้ พญาลิไทยได้ทรงขยายความและได้ทรงบอกรายละเอียดของเนื้อหาในไตรภูมิพระร่วงไว้ตามลำดับตอนหรือกัณฑ์ดังต่อไปนี้
1.กามภูมิหรือกามาวจรภูมิ หมายเอา ระดับจิตใจที่ยังปรารถนากามเป็นอารมณ์ คือ ยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ ได้แก่ ระดับจิตใจของสัตว์ในกามภพทั้ง11ชั้น
2.รูปภูมิหรือรูปาวจรภูมิ หมายเอา ระดับจิตใจที่ปรารถนารูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ ระดับจิตใจของท่านผู้ได้ฌานหรือผู้อยู่ในรูปภพทั้ง16ชั้น เรียกว่า โสฬสพรหม
3.อรูปภูมิหรืออรูปาวจรภูมิ หมายเอา ระดับจิตใจที่ปรารถนาอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ จิตของท่านผู้ได้อรูปฌาน หรือผู้อยู่ในอรูปภพทั้ง4ชั้น

บรรดาภูมิทั้ง3ภูมิ แยกย่อยออกไปอีกรวมเป็น31ภูมิ ดังนี้
1.อบายภูมิหรือทุคติภูมิ4 ได้แก่ ภูมิที่ปราศจากความเจริญ4ชั้น ได้แก่
1.1นิรยะได้แก่ นรก,สภาวะหรือที่อันไม่มีความสุขความเจริญ,ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย
1.2ติรัจฉานโยนิ ได้แก่ กำเนิดดิรัจฉาน, พวกมืดโง่เขลา
1.3ปิตติวิสัย ได้แก่ แดนเปรต, ภูมิแห่งผู้หิวกระหายไร้สุข
1.4อสุรกาย ได้แก่ พวกอสูร. พวกหวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง

2.กามสุคติภูมิ7 ได้แก่ กามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ.ภูมิที่เป็นสุคติซึ่งยังเกี่ยวข้องกับกาม
2.1มนุษย์
2.2จาตุมหาราชิกา ได้แก่ สวรรค์ที่ท้าวมหาราช4หรือท้าวจตุโลกบาลปกครอง คือ ท้าวฐตรฐ จอมคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค ครองทิศตะวันตก ท้าวกุเวรหรือเวสสุวัณณ์ จอมยักษ์ ครองทิศเหนือ
2.3ดาวดึงส์ ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพ33 มีท้าวสักกะหรือพระอินทร์เป็นจอมเทพ บางทีเรียก ไตรตรึงส์
2.4ยามา ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป้นผู้ครอง
2.5ดุสิต ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพผู้อิ่มเอิบด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ ถือกันว่าเป็นที่อุบัติของพระโพธิสัตว์ในพระชาติสุดท้ายก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า และเป็นที่อุบัติของพระพุทธมารดา
2.6นิมมานรดี ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพผู้มีความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ ถือกันว่าเทวดาชั้นนี้ปรารถนาสิ่งใดย่อมนิรมิตได้เอง
2.7ปรนิมมิตวสวัตตี ได้แก่ แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิมิตให้ คือ เสวยสมบัติที่เทพพวกอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตตีเป็นจอมเทพจาก2.2ถึง2.7 เรียกว่า ฉกามาพจรสวรรค์6ชั้น : สวรรค์ = ภพที่มีอารมณ์เป็นเลิศ, โลกที่มีแต่ความสุข , เทวโลก

3.รูปภูมิหรือรูปาวจรภูมิ16 ได้แก่ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป, รูปพรหม16ชั้น = สวรรค์ชั้นโสฬส แบ่งออกเป็นผู้สำเร็จฌาน4 เมื่อตายไปแล้วจะเกิดในรูปภูมินั้นๆคือ
3.1ปฐมฌานภูมิ3 ได้แก่ ระดับปฐมฌาน ภูมิสำหรับผู้สำเร็จฌานที่1
(1)พรหมปาริสัชชา ได้แก่ พวกบริษัทบริวารมหาพรหม
(2)พรหมปุโรหิตา ได้แก่ พวกปุโรหิตมหาพรหม
(3)มหาพรหมา ได้แก่ พวกท้าวมหาพรหม
3.2ทุติยฌานภูมิ3 ได้แก่ ระดับทุติยฌาน ภูมิสำหรับผู้สำเร็จฌานที่2
(4)ปริตตาภา ได้แก่ พวกรัศมีน้อย
(5)อัปปมาณาภา ได้แก่ พวกมีรัศมีประมาณไม่ได้
(6)อาภัสสรา ได้แก่ พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป
3.3ตติยฌานภูมิ3 ได้แก่ ระดับตติยฌาน ภูมิสำหรับผู้สำเร็จฌานที่3
(7)ปริตตสุภา ได้แก่ พวกมีลำรัศมีงามน้อย
(8)อัปปมาณสุภา ได้แก่ พวกมีลำรัศมีงามประมาณมิได้
(9)สุภกิณหา ได้แก่ พวกทีลำรัศมีงามกระจ่างจ้า
3.4จตุตถฌานภูมิ2 ได้แก่ ระดับจตุตถฌาน ภูมิสำหรับผู้สำเร็จฌานที่4
(10)เวหัปผลา ได้แก่ พวกมีผลไพบูลย์
(11)อสัญญีสัตว์ ได้แก่ พวกสัตว์ไม่มีสัญญา
3.5สุทธาวาส5 ได้แก่ พวกมีที่อยู่อันบริสุทธิ์ หรือที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือ ที่เกิดของพระอนาคามี คือ
(12)อวิหา ได้แก่ เหล่าท่านผู้ไม่ละไปเร็ว, ผู้คงอยู่นาน(13)อตัปปา ได้แก่ เหล่าผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร
(14)สุทัสสา ได้แก่ เหล่าท่านผู้ปรากฏโดยง่าย, ผู้น่าชม
(15)สุทัสสี ได้แก่ เหล่าท่านผู้เห็นโดยง่าย, ผู้เห็นชัด
(16)อกนิฏฐา ได้แก่ เหล่าท่านผู้ไม่มีความด้อยหรือเล็กน้อย, ผู้สูงสุด
รูปพรหมทั้ง16ชั้นนี้ เป็นพรหมที่มีรูปร่างและมีชีวิตจิตใจ แต่ว่าไม่มีเพศ ผู้ที่จะไปเกิดในรูปพรหม16ชั้นดังกล่าวนี้ ได้แก่ พระอริยบุคคลที่ยังต้องเกิดอีกต่อไป ยังไม่ถึงนิพพาน คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อนึ่ง พรหมตั้งแต่ชั้นที่12ถึงชั้นที่16รวม5ชั้นนี้ เรียกว่าสุทธาวาสพรหม ผู้ที่จะไปเกิดเป็นพรหม5ชั้นนี้จะต้องเป็นพระอนาคามีบุคคลทั้งนั้น

4.อรูปภูมิ คือภูมิที่มีความสุข เป็นภูมิของพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิต มี4แดน มักเขียนรูปพรหมที่ไม่มีรูปเป็นรูปดวงไฟลอยอยู่เหนือแท่นภายในวิมาน มติทางพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบพรหมว่าเป็นธรรมของผู้ใหญ่ มี4ประการที่เรียกว่า พรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

อนึ่ง ในไตรภูมิพระร่วงได้แบ่งอรูปภูมิไว้4แดน แบ่งตามผู้สำเร็จอรูปฌาน4 เมื่อตายแล้วไปเกิดในอรูปภูมิ4ดังนี้
4.1อากาสานัญจายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด)
4.2วิญญาณัญจายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด)
4.3อากิญจัญญายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร)
4.4เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ได้แก่ ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

ปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี ย่อมไม่เกิดในสุทธาวาส พระอริยะไม่เกิดในอสัญญีภพและในอบายภูมิ ในภูมินอกจากนี้ย่อมมีทั้งพระอริยะ และมิใช่พระอริยะไปเกิด

*******************************************************

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น