วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระพุทธอุปัฏฐาก

ธรรมะวันนี้จะกล่าวถึงท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงสรรเสริญว่าแม้พระอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์อื่นใด จะดีเลิศอย่างไรก็เพียงเสมอด้วยท่านพระอานนท์นี้เท่านั้น ไม่ยิ่งไปกว่านี้ ธรรมะวันนี้จึงเป็นการบูชาซึ่งท่านพระอานนท์องค์อรหันตขีณาสวเจ้าครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม12 อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ครับ

อนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
********************************************
อานันทวรรคที่ ๓
ฉันนสูตร
[๕๑๑] ๗๒. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ฉันนปริพาชกได้ไปหาท่านพระอานนท์ยังที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรท่านพระอานนท์ ท่านทั้งหลาย บัญญัติ การละราคะ บัญญัติการละโทสะ บัญญัติการละโมหะหรือ ท่านพระอานนท์ ตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราบัญญัติการละราคะ บัญญัติการละโทสะ บัญญัติ การละโมหะ ฯ ฉ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็ท่านทั้งหลายเห็นโทษในราคะอย่างไร จึงบัญญัติ การละราคะ เห็นโทษในโทสะอย่างไร จึงบัญญัติการละโทสะ เห็นโทษในโมหะ อย่างไร จึงบัญญัติการละโมหะ ฯ
[ท่านพระอานนท์แม้จะเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ว่าได้ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้รับฟังพระพุทธวจนะมามาก ได้ไตร่ตรองธรรมที่ได้สดับมาดีแล้วโดยตลอด ได้เห็นความน่าอัศจรรย์ใจของพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จึงมีศรัทธาเต็มเปี่ยม ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เลย แม้ญาณของท่านจะไม่ได้มาจากการละโมหะเสียได้เด็ดขาดเช่นกับพระอรหันต์ แต่ท่านได้ไตร่ตรองมาดีแล้วในธรรมอย่างมากมาย จึงสามารถอธิบายธรรมได้ราวกับเป็นพระอรหันต์หรือราวกับเป็นพระผู้มีพระภาคเอง ในพระสูตรนี้ฉันนปริพาชกถามว่าท่านพระอานนท์บัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะหรือ ท่านพระอานนท์รับว่าจริง เมื่อฉันนปริพาชกถามถึงเหตุผล ท่านพระอานนท์อธิบายว่าผุ้มีราคะ โทสะ โมหะ ย่อมคิดเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง ตนนั้นแหละที่ต้องเสวยทุกเวทนาทางใจ และต้องประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ และไม่รู้ถึงประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ฯลฯ ซึ่งโทษเหล่านี้ย่อมไม่มีแก่ผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว]
อา. ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้กำหนัด ถูกความกำหนัดครอบงำ รัดรึง จิตไว้ ย่อมคิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองบ้าง คิดเพื่อจะเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไป ทางจิตบ้าง เพื่อละราคะได้แล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเพื่อ จะเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ไม่ เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต บุคคลผู้กำหนัด ถูกความกำหนัดครอบงำ รัดรึงจิตไว้ ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติ ทุจริตด้วยใจ เพื่อละราคะได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติทุจริตด้วยกาย ไม่ประพฤติ ทุจริตด้วยวาจา ไม่ประพฤติทุจริตด้วยใจ บุคคลผู้กำหนัด อันความกำหนัด ครอบงำ รัดรึงจิตไว้ ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสอง ฝ่ายตามความเป็นจริง เมื่อละราคะได้แล้ว ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความ เป็นจริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตน และผู้อื่นตามความเป็นจริง ความกำหนัดแล ทำให้เป็นคนมืด ทำให้เป็นคนไร้ จักษุ ทำให้ไม่รู้อะไร ทำปัญญาให้ดับ เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน บุคคลผู้ดุร้าย ฯลฯ บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ รัดรึงจิต ไว้ ย่อมคิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองบ้าง คิดเพื่อจะเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง คิดเพื่อ จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทาง จิตบ้าง เมื่อละโมหะได้แล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเพื่อจะ เบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ไม่เสวย ทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ รัดรึงจิตไว้ ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ย่อมประพฤติทุจริตด้วยวาจา ย่อมประพฤติทุจริต ด้วยใจ เมื่อละโมหะได้แล้ว ย่อมไม่ประพฤติทุจริตด้วยกาย ไม่ประพฤติทุจริต ด้วยวาจา ไม่ประพฤติทุจริตด้วยใจ บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำจิต รัดรึงจิตไว้ ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ซึ่ง ประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ตามความเป็นจริง เมื่อละโมหะได้แล้ว ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็น จริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตนและ ผู้อื่นทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง ไม่หลงและทำให้เป็นคนมืด ทำให้เป็นคนไร้ จักษุ ทำให้ไม่รู้อะไร ทำปัญญาให้ดับ เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน ดูกรผู้มีอายุ เราเห็นโทษในราคะเช่นนี้แล จึงบัญญัติการละราคะ เห็นโทษในโทสะเช่นนี้ จึงบัญญัติการละโทสะ เห็นโทษในโมหะเช่นนี้แล จึงบัญญัติการละโมหะ ฯ ฉ. ดูกรท่านผู้มีอายุ มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั้น มีหรือ ฯ อา. มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั้นมีอยู่ ฯ ฉ. ก็มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั้นเป็นไฉน ฯ อา. อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมา สมาธิ ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แล มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ นั้น ฯ ฉ. ดูกรท่านผู้มีอายุ มรรคาปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ นั้นดี และสมควรเพื่อความไม่ประมาท ฯ
[มรรคาที่จะละราคะ โทสะ โมหะคือมรรคมีองค์แปด ซึ่งท่านพระอานนท์ย่อมทราบจากพระเถระผู้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์]
อาชีวกสูตร
[๕๑๒] ๗๓. สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้กรุง โกสัมพี ครั้งนั้นแล คฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวกคนหนึ่ง เข้าไปหาท่าน พระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถาม ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ คนพวกไหนเล่า ได้กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว พวกไหน ปฏิบัติดีแล้วในโลก พวกไหนดำเนินไปดีแล้วในโลก ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี ถ้าเช่นนั้นเราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านชอบใจอย่างใด ก็พึง กล่าวแก้อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดแสดงธรรม เพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้น กล่าวธรรมดีแล้วหรือหาไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ฯ ค. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ แสดงธรรม เพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นกล่าวธรรมดีแล้ว ในข้อนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ ฯ อา. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดปฏิบัติ เพื่อละราคะ ปฏิบัติเพื่อละโทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้ว ในโลกใช่หรือไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ฯ ค. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดปฏิบัติเพื่อละราคะ ปฏิบัติเพื่อละ โทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้วในโลก ในข้อนี้ข้าพเจ้า มีความเห็นอย่างนี้ ฯ อา. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนพวกใดละ ราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใดละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละ โมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้นดำเนินไปดีแล้วในโลกใช่หรือไม่ หรือว่าในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างนี้ ฯ ค. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนพวกใดละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใดละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้นดำเนินไปดีแล้วในโลก ในข้อนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างไร ฯ อา. ดูกรคฤหบดี ข้อนี้ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใดแสดงธรรม เพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ คนพวกนั้น กล่าวธรรมดีแล้ว ข้อนี้ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใดปฏิบัติเพื่อละราคะ ปฏิบัติเพื่อละโทสะ ปฏิบัติเพื่อละโมหะ คนพวกนั้นปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้อนี้ ท่านได้กล่าวแก้แล้วว่า คนพวกใดละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มี ที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกใด ละโทสะได้แล้ว ฯลฯ คนพวกใดละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มี ที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา คนพวกนั้น ดำเนินไปดีแล้วในโลก ดังนี้แล ฯ ค. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้น่าอัศจรรย์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมี ธรรมเทศนาจักไม่ชื่อว่าเป็นการยกย่องธรรมของตนเอง และจักไม่เป็นการรุกราน ธรรมของผู้อื่น เป็นธรรมเทศนาเฉพาะแต่ในเหตุ ท่านกล่าวแต่เนื้อความ และ มิได้นำตนเข้าไป ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ท่านทั้งหลายแสดงธรรมเพื่อละราคะ แสดงธรรมเพื่อละโทสะ แสดงธรรมเพื่อละโมหะ ท่านทั้งหลายกล่าวธรรมดีแล้ว ท่านทั้งหลายปฏิบัติดีแล้วในโลก ท่านทั้งหลายละราคะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายละโทสะได้แล้ว ฯลฯ ท่านทั้งหลายละโมหะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายดำเนินไปดีแล้วในโลก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก พระผู้เป็นเจ้าอานนท์ประกาศธรรม โดยอเนกปริยายเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระ ภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึง สรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
[การตอบข้อธรรมของท่านพระอานนท์นั้น ท่านพระอานนท์ไม่เพียงแต่ทราบข้อธรรมเท่านั้น ท่านยังทราบในวิธีการตอบข้อธรรมอย่างสละสลวยเป็นที่น่าอัศจรรย์ ยังความเลื่อมใสให้เกิดแก่ผู้รับฟัง ดังในพระสูตรนี้คฤหบดีท่านหนึ่งไต่ถามท่านพระอานนท์ว่า คนจำพวกไหนกล่าวธรรมดีแล้ว คนจำพวกไหนปฏิบัติดีแล้ว คนจำพวกไหนดำเนินไปดีแล้ว ท่านพระอานนท์ตั้งคำถามย้อนไปแก่คฤหบดีนั้นว่า ท่านมีความเห็นว่าผู้กล่าวการละราคะ โทสะ โมหะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวธรรมดีแล้วหรือไม่ ผู้ปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วหรือไม่ ผู้ละราคะ โทสะ โมหะเป็นผู้ดำเนินไปดีแล้วหรือไม่ คฤหบดีนั้นมีจิตชื่นชมในการวิสัชนาธรรมของท่านพระอานนท์จนถึงขนาดปวารณาตนเป็นอุบาสกผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต]
สักกสูตร
[๕๑๓] ๗๔. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกชนบท ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรง เป็นไข้ หายจากความไข้ไม่นาน ครั้งนั้นแล เจ้ามหานามศากยะเสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นานมาแล้ว ที่ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงอย่างนี้ว่า ญาณเกิดแก่ผู้มีใจเป็นสมาธิ หาเกิดแก่ผู้ที่มีใจไม่เป็นสมาธิไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมาธิเกิดก่อน ญาณ เกิดทีหลัง หรือว่าญาณเกิดก่อน สมาธิเกิดทีหลัง ลำดับนั้นแล ท่าน- *พระอานนท์ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นไข้ หายจากความไข้ไม่นาน ก็เจ้ามหานามศากยะนี้ทูลถามปัญหาที่ลึกซึ้งกะพระผู้มีพระภาค ถ้ากระไร เรา ควรนำเอาเจ้ามหานามศากยะหลีกไปในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วแสดงธรรม ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ จับพระพาหาเจ้ามหานามศากยะนำหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวกะเจ้ามหานามศากยะว่า ดูกรมหานามะ พระผู้มี พระภาคตรัสศีลที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสศีลที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ดูกรมหานามะ มีศีลที่เป็นของพระเสขะเป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรม วินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่า ศีลที่เป็นของพระเสขะ ดูกรมหานามะ ก็สมาธิที่เป็นของพระเสขะ เป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ เข้า- *จตุตถฌานอยู่ ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่าสมาธิที่เป็นของพระเสขะ ดูกรมหานามะ ก็ปัญญาที่เป็นของพระเสขะเป็นไฉน ดูกรมหานามะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดูกรมหานามะ นี้เรียกว่า ปัญญาที่เป็นของพระเสขะ ฯ ดูกรมหานามะ พระอริยสาวกนั้นแล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรมหานามะ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสศีลที่เป็นของพระ เสขะไว้ก็มี ตรัสศีลที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระเสขะ ไว้ก็มี ตรัสสมาธิที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระเสขะไว้ ก็มี ตรัสปัญญาที่เป็นของพระอเสขะไว้ก็มี ด้วยประการฉะนี้แล ฯ
[แม้ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงหายจากการประชวรใหม่ๆ เจ้ามหานามศากยะได้ทูลถามปัญหาข้อธรรมที่ลึกซึ้งแก่พระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์มีความเห็นว่าท่านควรจะแบ่งเบาธุระของพระผู้มีพระภาค โดยเจ้ามหานามะศากยะทูลถามว่า สมาธิเกิดก่อน หรือญาณเกิดก่อน ท่านพระอานนท์จับพระพาหาเจ้ามหานามะศากยะมาอีกทางหนึ่งแล้วอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติศีล สมาธิ ปัญญา ของพระเสขะซึ่งยังต้องศึกษาต่อไป กับศีล สมาธิ ปัญญา ของพระอเสขะผู้หลุดพ้นแล้ว ศีล สมาธิและปัญญาของพระเสขะนั้นระดับหนึ่ง หรืออีกระดับหนึ่ง (พระเสขะได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี) ส่วน ศีล สมาธิ ปัญญาของพระอเสขะนั้นอีกระดับหนึ่ง]
นิคัณฐสูตร
[๕๑๔] ๗๕. สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าอภัยลิจฉวีกับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี ได้พากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ยังที่อยู่ อภิวาทท่านพระอานนท์แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วเจ้าอภัยลิจฉวีได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ นิครณฐนาฏบุตร เป็นคนรูเห็นธรรมทุกอย่าง ย่อมปฏิญญาญาณ- *ทัสสนะไว้อย่างไม่มีส่วนเหลือว่า สำหรับเราจะเดิน จะยืน จะหลับและตื่น ก็ตาม ญาณทัสสนะก็ปรากฏชั่วกาลนิรันดร เขาบัญญัติว่า กรรมเก่าหมดไป เพราะความเพียรเผากิเลส ฆ่าเหตุได้เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ด้วยประการฉะนี้ จึงเป็นอันว่า เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงหมดไป เพราะทุกข์หมดไป เวทนา จึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเสื่อมไปโดยไม่เหลือ การล่วง ทุกข์ย่อมมีได้ด้วยความหมดจด ที่ให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งบุคคลจะพึง เห็นเองนี้ ด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส ไว้อย่างไร ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูกรเจ้าอภัย ความหมดจดที่ทำให้กิเลส เสื่อมไปโดยไม่เหลือ ๓ อย่างแล พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ ทั้งหลาย เพื่อการล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความเสื่อมสูญแห่งทุกข์และ โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง ความหมดจด ๓ อย่าง เป็นไฉน คือ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย และสัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไป โดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้ได้บรรลุจะ พึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อัน วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ ๒. ภิกษุนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้แล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ เข้าจตุตถฌานอยู่ เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย และสัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำ ให้สิ้นไปโดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้บรรลุ จะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ ๓. ภิกษุนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้แล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย สัมผัสถูกต้องกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลส เสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ ดูกรเจ้าอภัย ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมโดยไม่เหลือ ๓ อย่าง นี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าว ล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความเสื่อมสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อ บรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง เมื่อท่านพระอานนท์ได้กล่าวอย่างนี้แล้ว เจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีได้พูดกะเจ้าอภัยลิจฉวีว่า ดูกรอภัยเพื่อนรัก ทำไมท่านจึง ไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่านพระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า เจ้า อภัยลิจฉวีตอบว่า เพื่อนรัก ไฉนเราจักไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน พระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า ผู้ใดไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของ ท่านพระอานนท์โดยความเป็นคำสุภาษิต ความคิดของผู้นั้นพึงเสื่อม ฯ
[เจ้าอภัยลิจฉวี และเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี ได้มากล่าวแก่ท่านพระอานนท์ว่า ศาสดาของพวกนิครนถ์กล่าวธรรมไว้น่าสนใจว่า ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายมาจากการละการสร้างกรรมใหม่ที่ไม่ดี ชดใช้กรรมเก่าที่ไม่ดีด้วย ท่านพระอานนท์อธิบายอย่างหลักแหลมและแจ่มแจ้งว่า นิครนถ์นั้นไม่ได้ทราบเลยว่าหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องที่จะละการสร้างกรรมใหม่ที่ไม่ดี และปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมเมื่อผลกรรมเก่าแสดงผลนั้นทำอย่างไร ข้อปฏิบัตินั้นคือศีล คือการละการทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ สมาธิได้แก่การบรรลุฌานขั้นต่างๆ เพราะผู้ได้ฌานเมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเข้าถึงพรหมโลก กรรมอันจะพาไปบังเกิดในอบายนั้นไม่สามารถให้ผล และปัญญา เพื่อละกิเลสทั้งหลายอันเป็นการตัดอบายภูมิทั้งหลายเสียได้เด็ดขาด หนทางเพื่อให้เกิดปัญญานั้นคือวิปัสสนา]
สมาทปกสูตร
[๕๑๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ท่าน ทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนใดและคนเหล่าใดเป็นมิตร อำมาตย์ ญาติ หรือสาโลหิต พึงสำคัญว่าเป็นคำที่ควรฟัง คนเหล่านั้น อันท่านทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้ง อยู่เสมอ พึงให้ดำรงอยู่ ในฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ๑. พึงชักชวน พึงให้ตั้งอยู่เสมอ พึงให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอย่าง ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ฯ ๒. พึงชักชวน พึงให้ตั้งอยู่เสมอ พึงให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอย่าง ไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ... อันวิญญู- *ชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ ๓. พึงชักชวน พึงให้ตั้งอยู่เสมอ เพื่อให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใส อย่างไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติ ดีแล้ว ... เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งกว่า ฯ ดูกรอานนท์ มหาภูต ๔ คือ ปฐวีธาตุ ๑ อาโปธาตุ ๑ เตโชธาตุ ๑ วาโย- *ธาตุ ๑ พึงเป็นอย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่ หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย นี้ความเป็นอื่นในข้อนั้น ข้อที่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น จักเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือเปรตวิสัย นี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกร อานนท์ มหาภูต ๔ คือ ปฐวีธาตุ ๑ อาโปธาตุ ๑ เตโชธาตุ ๑ วาโยธาตุ ๑ พึงเป็น อย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวใน พระธรรม ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย ฯลฯ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย นี้ความ เป็นอย่างอื่นในข้อนั้น ข้อที่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่น ไหว ในพระสงฆ์นั้น จักเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือเปรตวิสัย นี้ไม่ เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ ท่านทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนใด และคนเหล่า ใด เป็นมิตร อำมาตย์ ญาติหรือสาโลหิต พึงสำคัญว่าเป็นคำที่ควรฟัง คนเหล่า นั้น อันท่านทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้งอยู่เสมอ พึงให้ดำรงอยู่ในฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ
[หน้าที่ของพระอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกประการคือ การปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของพระภิกษุรูปอื่น และคอยชักชวนคฤหัสถ์ทั้งหลายที่มีจิตศรัทธาให้ถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธาคุทั้งหลายคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นองค์ประกอบแห่งรูปทั้งหลายยังจะแปรเป็นอย่างอื่นไปได้ แต่ว่าผู้มีจิตเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วจะไปสู่อบายภูมิ4นั้นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้เลย]
นวสูตร
[๕๑๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ภพ ภพ ดังนี้ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกร อานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุจักไม่มีแล้ว กามภพพึงปรากฏบ้าง หรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง วิญญาณประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างเลวของสัตว์ พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึง มีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในรูปธาตุ จัก ไม่มีแล้ว รูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณจึงชื่อว่า เป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง วิญญาณประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างกลางของ สัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในอรูปธาตุจักไม่ มีแล้ว อรูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง วิญญาณประดิษฐานแล้วเพราะธาตุอย่างประณีต ของ สัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการ- *ฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุดังกล่าว มาฉะนี้แล ฯ
ภวสูตร
[๕๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ภพ ภพ ดังนี้ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุจักไม่มีแล้ว กามภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ท่าน พระอานนท์ทูลว่า ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ อย่างเลวของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วย ประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผล ให้ในรูปธาตุจักไม่มีแล้ว รูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ อย่างกลางของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วย ประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ อรูปธาตุจักไม่มีแล้ว อรูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ อย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ภพย่อมมีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ฯ
[พระพุทธอุปัฏฐากต้องคอยไตร่ตรองข้อสงสัยอันชนทั้งหลายต้องการทราบโดยทั่วไป ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอธิบายแล้ว ชนทั้งหลายก็จะได้บรรเทาความสงสัยโดยทั่วกัน ในพระสูตรนี้ ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภพ เกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภพนั้นเกิดจากการกระทำกรรมนั้นเอง สำหรับผู้ที่ยังละอวิชชาไม่ได้ ถ้าบุคคลไม่ก่อกรรมโดยอาศัยธรรมธาตุอันเลวของตน การกำเนิดในกามภพย่อมไม่เกิดขึ้น ถ้าบุคคลไม่ก่อกรรมโดยอาศัยธรรมธาตุอันปานกลางของตน การกำเนิดในรูปภพย่อมไม่เกิดขึ้น ถ้าบุคคลไม่ก่อกรรมโดยอาศัยธรรมธาตุอันดีของตน การกำเนิดในอรูปภพย่อมไม่เกิดขึ้น]
สีลัพพตสูตร
[๕๑๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ มีการบำรุงดี มีผลทุกอย่างไปหรือ ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ ในปัญหาข้อนี้ ไม่ควรแก้แต่แง่เดียว ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น จงจำแนกไป ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อบุคคลนั้นเสพศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี อกุศลธรรมเจริญมากยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี เห็นปานนั้นไม่มีผล และเมื่อเขาเสพศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ซึ่งมีการบำรุงดี อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญมากยิ่งขึ้น ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี เห็นปานนั้นมีผล ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลธรรมปริยายนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพอ พระทัยลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์คิดว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา จึงลุก จากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคพอพระอานนท์หลีกไปได้ไม่นาน ได้รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ยังเป็นพระเสขะ แต่จะหาผู้ที่เสมอเธอทางปัญญาไม่ได้ง่าย เลย ฯ
[ในบางครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงสอบถามท่านพระอานนท์เพื่อจะทรงทราบความเห็นบางอย่าง ดังในพระสูตรนี้ ท่านพระอานนท์ผู้ยังเป็นพระเสขะ สามารถทูลตอบคำถามพระผู้มีพระภาคได้เป็นที่พอพระทัย ถึงขนาดพระองค์ตรัสชมเชยว่าท่านพระอานนท์นี้ยังเป็นพระเสขะ แต่จะหาผู้มีปัญญาเสมอด้วยเธอนั้นมิใช่ง่ายเลย กล่าวคือท่านพระอานนท์ไตร่ตรองถึงการเผยแผ่พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว สามารถทราบถึงเหตุผลบางประการได้ด้วยปัญญาของท่านเอง ซึ่งข้อนี้เป็นผลดีที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพระผู้มีพระภาคเจ้า]
คันธสูตร
[๕๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้ ฟุ้งไป แต่ตามลมอย่างเดียว ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นหอม ๓ อย่างนั้นเป็นไฉน คือ กลิ่นที่ราก ๑ กลิ่นที่แก่น ๑ กลิ่นที่ดอก ๑ กลิ่นหอม ๓ อย่างนี้แลฟุ้งไปแต่ตาม ลมอย่างเดียว ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ พระเจ้าข้า กลิ่นหอมชนิดที่ฟุ้งไปตามลมก็ ได้ ฟุ้งทวนลมไปก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ ยังจะมีอยู่หรือ พระผู้- *มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ กลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลม ก็ได้ ฟุ้งทั้งไปตามลมและทวนลมก็ได้ มีอยู่ ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลม ก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้ เป็นไฉน ฯ พ. ดูกรอานนท์ สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมใดในโลกนี้ ถึงพระ- *พุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจาก การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาด จากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็น มลทิน มีไทยธรรมเครื่องบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน สมณพราหมณ์ ทุกทิศย่อมกล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึง พระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจาก การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาด จากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีไทยธรรมเครื่องบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่ การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน อยู่ครองเรือน แม้เทวดาทั้งหลายก็กล่าว สรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็น สรณะ ฯลฯ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการแจกจ่ายทาน ดูกรอานนท์ กลิ่นหอม นี้นั้นแล ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลม ก็ได้ ฯ กลิ่นดอกไม้ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นกระลำพัก ก็ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นสัตบุรุษ ฟุ้งทวนลมไปได้ เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปทุกทิศ ฯ
[ดังในพระสูตรที่แล้ว ท่านพระอานนท์ย่อมช่วยเหลือพระเถระทั้งหลายมีท่านพระสารีบุตร ที่จะช่วยหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังที่จะมาเผยแผ่พระบวรพุทธศาสนา ดังในพระสูตรนี้เป็นการสรรเสริญผู้เคารพในพระรัตนตรัย มีศีล และจาคะ ซึ่งสมณพราหมณ์และเทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญประหนึ่งกลิ่นหอมที่ฟุ้งกระจายไปได้ทั้งตามลมและทวนลม]
จูฬนีสูตร
[๕๒๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟัง มาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมา- *สัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรง สามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง พระผู้มีพระภาคตรัส ตอบว่า ดูกรอานนท์ นั้นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ฯ ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ใน พรหมโลก ทำให้พ้นแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มี- *พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้ แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ใน พรหมโลก ทำให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วย พระสุรเสียง ฯ พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกร อานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ทำให้พันโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระ- *สุรเสียง ฯ พ. ดูกรอานนท์ เธอได้ฟังเรื่องพันโลกธาตุ เพียงเล็กน้อย ฯ อา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลเวลาแห่ง เทศนาที่พระองค์จะพึงตรัส ภิกษุทั้งหลายได้สดับธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค แล้ว จักทรงจำไว้ ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกร อานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศ สว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์ พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มี อปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มี มหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มี เทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพัน หนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มี พรหมโลกพันหนึ่ง ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลก คูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุ อย่างกลางมีล้าน จักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ดูกรอานนท์ ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย ฯ อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่ พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร ฯ พ. ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่าง ใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้น พระตถาคตพึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุ อย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้ แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า เป็น ลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้ กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้า ศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสกะท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นเจ้าจักพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกรอุทายี ก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง ฯ
[ในพระสูตรนี้ท่านพระอานนท์ได้แสดงถึงความศรัทธาแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ด้วยอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน การจะเผยแผ่พระบวรพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นในโลกนั้นมิใช่ง่ายเลย แต่พระผู้มีพระภาคนั้นทรงมีอานุภาพยิ่งใหญ่ มีฤทธานุภาพมาก จะทรงกระทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน สำหรับเรื่องจักรวาลนั้นก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าศึกษาครับ]
จบอานันทวรรคที่ ๓
---------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ฉันนสูตร ๒. อาชีวกสูตร ๓. สักกสูตร ๔. นิคัณฐสูตร ๕. สมาทปกสูตร ๖. นวสูตร ๗. ภวสูตร ๘. สีลัพพตสูตร ๙. คันธสูตร ๑๐. จูฬนีสูตร ฯ ----------------
************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น