วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ความเป็นมาโดยย่อของพระไตรปิฎก



วันนี้ผมนำเอาเนื้อหาโดยย่อของพระไตรปิฎกมาลงในบล็อก ก็ขอหยุดเว้นระยะการนำเนื้อหาในพระไตรปิฎกมาลงชั่วคราว ท่านผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าเนื้อหาพระไตรปิฎกมีเท่านี้หรือ คำตอบคือไม่ใช่ครับ คำว่าพระไตรปิฎกนั้น ประกอบไปด้วยเนื้อหาใหญ่3ส่วน คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม กล่าวกันโดยรวมนั้นก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญานั่นเองครับ บางท่านอาจแย้งว่า พระสุตตันตปิฎกต่างหากที่น่าจะหมายถึงปัญญา เพราะศึกษาแล้วได้ความรู้ตั้งมากมาย เรื่องนั้นก็จริงครับ แต่ว่าท่านที่อ่านพระสุตตันตปิฎกด้วยตนเองมาพอสมควรย่อมทราบว่าได้สมาธิแบบพิเศษ และสมาธินั้นย่อมให้เกิดปัญญา และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า คำว่าศีล สมาธิ ปัญญานั้นควรแก่การเจริญเพื่อให้ได้ซึ่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ขึ้นในอีกระดับหนึ่ง อีกทั้งพระอภิธรรมนั้นมีจำนวนพระธรรมขันธ์มากถึง 42000 พระธรรมขันธ์ มากเท่ากับ พระวินัยและพระสูตรรวมกัน ดังนั้นก็ขอบอกเลยว่ายังอ่านพระสูตรและพระวินัยได้อีกหลายรอบ หากว่าบางทีผมไปอ้างถึงพระสูตรเดิมๆที่อธิบายไปแล้ว แต่อธิบายไปอีกแบบหนึ่งก็พึงทราบว่า จะถือเอาเป็นการเริ่มต้นศึกษากันใหม่ก็ได้ครับ แต่เวลานี้นั้นผมมีความเห็นว่าควรจะพักเนื้อหาจากพระไตรปิฎกสักสองสัปดาห์ครับ แต่เนื้อหาโดยรวมจะไม่ลดน้อยลง แต่ว่าผมคงจะมาทำบล็อกสัปดาห์ละ3วันสำหรับ2สัปดาห์นี้ครับ

เนื้อหาในวันนี้ผมนำมาจากตำราชื่อ "ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก" โดยคุณเสนาะ ผดุงฉัตร ผมนำเอาเนื้อหาเพียงบางส่วนมาลงครับ หนังสือเล่มนี้เป็นตำราของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะนำตำราของมหาวิทยาลัยมาลงในบล็อกทุกครั้งครับ เนื้อหาต่อๆไปจะเป็นหนังสือทางพระบวรพุทธศาสนาจากสำนักพิมพ์อื่นมาลงในบล็อกด้วยครับ ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มเนื้อหาผมก็ขอถวายอภิวาทองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นครับ
********************************************************************


ประวัติพระวินัยปิฎก

เริ่มแรกทีเดียว คำสอนของพระพุทธองค์ในส่วนที่เป็นข้อห้ามข้อบังคับของพระสงห์สาวกไม่ให้ประพฤติปฏิบัติล่วงละเมิด และปรับโทษ (อาบัติ) แก่ภิกษุล่วงละเมิดนี้ เป็นที่มาแห่งพระวินัยปิฎก พระวินัยนี้ทรงบัญญัติแล้วตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

ในยุคพุทธกาล พระอุบาลีเป็นผู้เชี่ยวชาญการทรงจำวินัย ต่อมาหลังพุทธปรินิพพานพระสงฆ์ประพฤตินอกธรรมวินัยละเมิดพุทธบัญญัติ เช่น สุทัตตภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย ห้ามไม่ให้ภิกษุทั้งหลายเศร้าโศกเสียใจ เพราะเมื่อไม่มีพระพุทธองค์แล้วพวกเราก็สะดวกจะทำอะไรก็ได้ตามความปรารถนา จนเป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่1 แม้สังคายนาครั้งที่2 ก็มีเหตุเนื่องมาจากพวกภิกษุวัชชีบุตรประพฤติย่อหย่อนพระวินัย โดยปฏิบัติตามวัตถุ10ประการ เช่น ตะวันบ่ายเกินเที่ยงไปแล้ว2นิ้ว ภิกษุฉันเพลได้ หรือภิกษุดื่มเหล้าดิบได้ หรือภิกษุรับเงินทองได้เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป "การล่วงละเมิดพุทธบัญญัติที่ทรงห้ามไว้ จนเป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อยหมวดหมู่เดียวกัน โดยมีพระเถระผู้ทรงจำวินัยเป็นผู้วินิจฉัย จึงเป็นที่มาของพระวินัยปิฎก"
********************
ความหมายของพระสุตตันตปิฎก

คำว่า "สุตต" หรือ "สุตตันต" หมายถึงเส้นด้ายหรือเส้นบรรทัด เพราะเส้นด้ายหรือเส้นบรรทัดก็เป็นของสำคัญของช่างไม้ ฉันใด พระสูตรก็ถือว่าเป็นแนวทางดำเนินชีวิตของคน ฉันนั้น เส้นด้ายใช้ร้อยดอกไม้ให้เป็นระเบียบได้ ฉันใด พระสูตรก็เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฉันนั้น
********************
ความเป็นมาของพระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก หมายถึง พระคัมภีร์ที่บันทึกและรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในส่วนที่เป็นข้อปฏิบัติที่เรียกว่า ธรรมะ นอกจากกล่าวถึงธรรมทั่วๆไปแล้ว ยังกล่าวถึงประวัติและเรื่องราวนั้นๆประกอบด้วยพระสุตตันตปิฎกมีความสำคัญมากทีเดียวสำหรับชาวพุทธ เพราะถ้าไม่มีพระสุตตันตปิฎกสำหรับบันทึกและรวบรวมพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะอันตรธานสูญหายไป ตกหล่น หรืออาจะมีข้อผิดเพี้ยนจากต้นฉบับเดิมก็ได้ ดังเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา อ้างหลักธรรมในลัทธิของตนเองว่าเป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ทำสังคายนาครั้งที่3 ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรม เป็นความจริงตามธรรมชาติ สามารถที่จะพิสูจน์ได้ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสถานที่ ธรรมะเป็นของมีอยู่แล้วในโลก ไม่ว่าพระพุทธองค์จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมะคือสัจธรรมมีอยู่แล้ว ใครก็ตามถ้าบำเพ็ญบารมีแก่กล้า สามารถตัดกิเลสตัณหาทั้งปวงออกได้ ตรัสรู้อย่างพระพุทธเจ้า ย่อมได้ชื่อว่าพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์มาก สามารถช่วยผู้ประพฤติธรรมให้บรรลุจุดมุ่งหมาย และช่วยให้เขามีความสุขความสงบด้วย ดังสุภาษิต ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจารี แปลว่า ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธัมมจารี สุขัง เสติ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข


ประวัติพระสุตตันตปิฎก


เมื่อสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีสาวกสำคัญหลายองค์ที่สามารถทรงจำหมวดธรรมะ (พระสูตร) ต่างๆได้ เช่น พระอานนทเถระ พระโสณกุฏิกัณณะ และพระสารีบุตรเป็นต้น ในการจำหมวดธรรมะ ถ้าองค์ไหนเชี่ยวชาญในส่วนไหน ตอนไหน ก็ทรงจำส่วนนั้น ตอนนั้น เช่น สามารถท่องจำพระสูตรยาวๆได้ เรียกว่า ทีฆภาณกะ แปลว่า ผู้สวดคัมภีร์หมวดยาว ผู้สามารถท่องจำพระสูตรขนาดกลางได้ เรียกว่า มัชฌิมภาณกะ แปลว่า ผู้สวดคัมภีร์ขนาดกลาง และได้มีการแบ่งงานกันท่องจำพระสุตตันตปิฎก จนมีสำนักท่องจำเกิดขึ้น เจ้าของสำนักก็เป็นพระเถระและมีลูกศิษย์ไปเล่าเรียนท่องจำด้วย การท่องจำในสมัยพุทธกาลเป็นเหตุให้พระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นระเบียบหมวดหมู่ และมีความหมายไม่ผิดเพี้ยนไปจากพุทธประสงค์


เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัย โดยอาศัยมูลเหตุต่างๆกัน ร้อยกรอง จัดระเบียบและชำระให้ถูกต้องตามความหมายเดิม สังคายนาครั้งที่1-2 ยังเรียกว่าสังคายนาพระธรรมวินัยอยู่ ตามอรถกถาบอกว่า พระไตรปิฎกมีมาแล้วตั้งแต่การทำสังคายนาครั้งที่1 เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันสรุปได้ว่า ประวัติพระสุตตันตปิฎกมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่พระเถระทั้งหลายท่องจำหมวดธรรมะต่างๆจนถึงหลังพุทธปรินิพพาน มีการทำสังคายนาครั้งที่1เป็นต้นมา
************************
กำเนิดพระอภิธรรม

กำเนิด หรือ ความเป็นมาของพระอภิธรรมนั้น ปรากฏว่าเกิดพร้อมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งท่านกล่าวเป็นตำนานไว้ว่า ขณะพุทธองค์ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ ผินพระพักตร์สู่ปราจีนทิศ เมื่อพระอาทิตย์ยังมิอัสดงคตนั่นแล ทรงกำจัดมารและพลมารได้แล้ว ทรงบรลุบุพเพนิวาสญาณในปฐมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณในมัชฌิมยาม ทรงรู้แจ้งแทงตลอดสัพพัญญุตญาณประดับด้วยพระพุทธคุณทั้งปวง มีทศพลญาณและจตุเวสารัชชญาณเป็นต้น โดยเฉพาะในอวสานของปัจฉิมยาม ทรงประสบมหาสมุทรแห่งนัยของพระอภิธรรม (ทะเลหลวงแห่ง (อภิธรรม)นัย)นี้แล้ว และมีเรื่องเล่าความตรงกันหลายแห่งไว้ในคัมภีร์อรรถกถาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระอภิธรรมิก(คือ พระผู้ทรงรอบรู้ทรงจำพระอภิธรรม) พระองค์แรก เพราะว่าเมื่อประทับอยู่เหนือพระบัลลังก์ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธินั้น ได้ทรงรู้แจ้งแทงตลอดพระอภิธรรมแล้ว และในสัปดาห์ที่4 ภายหลังตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เทวดาทั้งหลายได้นิรมิตเรือนแก้ว (รตนฆระ) ขึ้นไว้ทางทิศพายัพของต้นพระศรีมหาโพธิ พระบรมศาสดาเสด็จไปประทับนั่งโดยบัลลังก์ในเรือนแก้วนั้น แล้วทรงตรวจเลือกพระอภิธรรมปิฎกทั้ง7ปกรณ์ และในพระอภิธรรมปิฎก7ปกรณ์นั้น ทรงตรวจเลือกพระสมันตปัฏฐานอนันตนัยเป็นพิเศษ ผ่านไปตลอด1สัปดาห์(ดูแผนผัง สัตตมหาสถาน)

ในอรรถกถาชื่ออัฏฐสาลินี เล่าขยายความไว้ว่า ภายหลังที่พระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ ณ โพธิบัลลังก์แล้ว ในสัปดาห์ที่1ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว ทรงพิจารณาทบทวนพระธรรมที่ทรงรู้แจ้งแทงตลอด และเสวยวิมุตติสุขอยู่ตลอด7วัน ในสัปดาห์ที่2เสด็จลุกขึ้นจากบัลลังก์ประทับยืนทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์โดยไม่ทรงกระพริบพระเนตร (ณ อนิมิสสเจดีย์)ตลอด7วัน จนพวกเทวดาพากันปริวิตก และเพื่อระงับวิตกของเทวดาทั้งหลาย พระบรมศาสดาจึงเสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศแล้วทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จลงจากอากาศระหว่างโพธิบัลลังก์กับที่ประทับยืนทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์ ทรงพระดำเนินจงกรมไปมาอยู่ (ณ รัตนจงกรมเจดีย์) ตลอดเวลา7วัน ครั้นในสัปดาห์ที่4เสด็จเข้าประทับในเรือนแก้ว (รตนฆระ) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพของโพธิบัลลังก์) แล้วทรงกำหนดพิจารณาพระปกรณ์ทั้ง7พระคัมภีร์ ดังกล่าวถึงในปัญหากรรม ข้างหน้า และเล่าต่อไปว่า เมื่อพระบรมศาสดาทรงกำหนดพิจารณาพระธัมมสังคณีอยู่ในเรือนแก้วนั้น พระรัศมียังมิได้พวยพุ่งออกจากพระสรีระ ถึงแม้เมื่อทรงกำหนดพิจารณาวิภังคปกรณ์,ธาตุกถา ,ปุคคลปัญญัติ,กถาวัตถุ และยมกปกรณ์ พระรัศมีทั้งหลายก็ยังหาได้พวยพุ่งออกจากพระสรีระไม่

แต่เมื่อพระบรมศาสดาทรงกำหนดพิจารณาหยั่งลงสู่(พระสมันตปัฏฐาน) มหาปกรณ์ เริ่มทรงกำหนดพิจารณา "เหตุปัจจโย อารัมมณปัจจโย อธิปปติปัจจโย ฯลฯ อวิคตปัจจโย"ดังนี้ ในขณะนั้น ทันทีที่พระบรมศาสดาทรงกำหนดพิจารณาพระสมันตปัฏฐาน24 พระสัพพัญญุตญาณก็ได้โอกาสหยั่งลงในมหาปกรณ์โดยเฉพาะแต่ทางเดียว..... เมื่อพระบรมศาสดาทรงกำหนดพิจารณาพระธรรมที่ละเอียดสุขุมตามสบายพระทัย ด้วยพระสัพพัญญุตญาณซึ่งได้โอกาสแล้วอย่างนี้ พระรัศมีมีวรรณะ6คือ นิล(เขียวคราม) เหลือง แดง ขาว มัญเชฏฐะ และประภัสสร ก็พวยพุ่งออกจากพระพุทธสรีระ

****************************

(ยังมีต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น