วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บุคคลที่จะบรรลุธรรมก็ต้องละซึ่งความถือตัว

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนการละกิเลสเพื่อความหลุดพ้น กิเลสข้อหนึ่งคือมานะ ได้แก่ความถือตัว ไม่ใช่ว่าละความถือตัวชนิดต้องลดตัวไปคบหาคนไม่ดีอะไรทำนองนั้นครับ อย่างพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อเวลาสร้างบารมี ตามพระไตรปิฎกกล่าวถึงจริยาของท่านเหล่านั้นว่า พึงเที่ยวไปในวัฏฏสงสารเพียงผู้เดียวประดุจนอแรด ทั้งนี้เพราะพุทธธรรมมุ่งหมายเอาที่ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นเป็นสำคัญ บุคคลที่จะสร้างบารมีนั้นท่านไม่เบียดเบียนใครครับ ผู้เบียดเบียนผู้อื่น บารมีเขาก็มีแต่จะถอยหลังเข้าคลอง ผู้สร้างบารมีละมานะก็โดยการเปิดเผยตัวตนของตัวเองตามความเป็นจริง ตนเองเคยทำความไม่ดีมาก็ไม่ปิดบัง ตนเองมีคุณธรรมอย่างไรก็ไม่โอ้อวดจนเกินความจริง ผมจะยกตัวอย่างเช่นท่านโก้วเล้ง นักเขียนชื่อดังผู้ล่วงลับที่อาจจะพลาดพลั้งทำความผิดมามาก ท่านเปิดเผยตัวตนของท่านเองอย่างหมดเปลือกในนิยายที่ท่านเขียน หรือเจ.อาร์.อาร์.โทลคีน ผู้เขียนเรื่องลอร์ดออฟเดอะริงนั้น เขียนหนังสือที่ทั้งถ่ายทอดทั้งความรู้ที่มีประโยชน์ ถ่ายทอดทั้งตัวตนของท่านเองอย่างหมดเปลือกเหมือนกัน การสร้างสมบารมีอย่างนี้ครับ เป็นหนทางที่ถูกต้อง กรณีพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้นั้น แต่ครั้งยังเป็นสุเมธดาบสได้ทอดร่างเป็นทางให้ให้พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านทางที่ยังทำไม่เสร็จ ในเบื้องลึกแล้ว ความรู้และบารมีทั้งหลายที่ท่านสุเมธดาบสสร้างสมมาได้ถ่ายทอดแก่พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น ความรู้นี้ได้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างมาก นี่คือความหมายที่แท้จริงของการที่สุเมธดาบสได้รับการพยากรณ์ความเป็นพระนิยตโพธิสัตว์ครับ กรณีพระศรีอาริยเมตไตรย์นั้น ท่านละมานะได้แน่ๆเพราะถึงขนาดตัดศีรษะตนเองบูชาพระพุทธเจ้า จีซัสไครสต์หรือพระเยซูคริสต์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งครับ

พระสูตรต่างๆมี่ยกมาวันนี้เป็นเรื่องการละมานะเป็นสำคัญ บุคคลเมื่อคิดจะหลุดพ้นต้องละมานะ ถ้าคิดจะโต้เถียงหรือจับผิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องนี้เป็นความโง่เขลาเบาปัญญาอย่างแท้จริง นอกจากจะเป็นไปโดนธรรมอันพิสดารอย่างแท้จริง ดังที่ท่านพระสารีบุตรกระทำในบางครั้ง ข้อนั้นเจตนาก็เพื่อประโชน์ในพระศาสนา อย่างเกสีสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าผู้ที่ไม่รับฟังธรรมของพระองค์โดยดี ไม่ว่าจะโดยวิธีละมุนละม่อมและวิธีรุนแรง(เช่นการแสดงถึงอบายภูมิ) พระองค์ย่อมทรงถือว่าบุคคลนี้ไม่ใช่ผู้ที่จะสั่งสอนได้ ตามพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสว่าก็ฆ่าเขาเสียเลย กล่าวคือไม่สั่งสอนไม่ตักเตือนอีก ซึ่งเป็นการฆ่าอย่างดีในพระอริยวินัย

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม13 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
*****************************************************
เกสีวรรคที่ ๒
เกสีสูตร
[๑๑๑] ครั้งนั้นแล สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรเกสี ท่านอันใครๆ ก็รู้กันดีแล้วว่าเป็นสารถี ผู้ฝึกม้า ก็ท่านฝึกหัดม้าที่ควรฝึกอย่างไร สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสีกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง ฯ พ. ดูกรเกสี ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่านไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ท่านจะทำอย่างไรกะมัน ฯ เก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ ไม่เข้าถึงการ ฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ก็ฆ่ามันเสียเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่าโทษมิใช่คุณอย่าได้มีแก่สกุลอาจารย์ของเราเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเป็นสารถีฝึกบุรุษชั้นเยี่ยม ก็พระผู้มีพระภาค ทรงฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างไร ฯ พ. ดูกรเกสี เราแล ย่อมฝึกบุรุษที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง ดูกรเกสี ในวิธีทั้ง ๓ นั้น การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธี ละม่อม คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีรุนแรง คือกายทุจริต เป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริต เป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้ การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้ง รุนแรง คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่ง มโนสุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ เทวดา เป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัย เป็นดังนี้ ฯ เก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของพระองค์ไม่เข้าถึงการฝึก ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง พระผู้มีพระภาค จะทำอย่างไรกะเขา ฯ พ. ดูกรเกสี ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของเราไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสียเลย ฯ เก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาตไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเลย ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสอย่างนี้ว่า ฆ่าเขาเสีย ฯ พ. จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าบุรุษที่ควร ฝึกใด ย่อมไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อม ทั้งรุนแรง ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้ พรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนก็ย่อมไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน ดูกรเกสี ข้อที่ตถาคต ไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารี ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลายก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน นี้เป็นการฆ่าอย่างดี ในวินัยของพระอริยะ ฯ เก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควร ว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้วิญญูชนก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน นั้นเป็นการฆ่าอย่างดีแน่นอน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๑
ชวสูตร
[๑๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชาประกอบ ด้วยองค์ ๔ ประการ ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น ย่อมถึงการนับว่า เป็นราชพาหนะ องค์ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ซื่อตรงประการ ๑ ว่องไวประการ ๑ อดทนประการ ๑ สงบเสงี่ยมประการ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น ย่อมถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ฉันนั้นเหมือนกันแล ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ซื่อตรงประการ ๑ ว่องไวประการ ๑ อดทน ประการ ๑ สงบเสงี่ยมประการ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควร ทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ฯ
จบสูตรที่ ๒
ปโตทสูตร
[๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ๔ จำพวกนี้มีปรากฏ อยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ พอเห็น เงาปะฏักเข้าก็ย่อมสลด ถึงความสังเวชว่า วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุ อะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย ตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ ๑ มี ปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เห็นเงาปะฏักแล้ว ย่อมไม่สลด ไม่ถึงความสังเวชเลยทีเดียว แต่เมื่อถูกแทงด้วยปะฏักที่ขุมขน จึงสลด ถึงความสังเวชว่า วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัว ในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เห็นเงาปะฏัก แล้วย่อมไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช แม้ถูกแทงด้วยปะฏักที่ขุมขนก็ไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช แต่เมื่อถูกแทงด้วยปะฏักถึงผิวหนังจึงสลด ถึงความสังเวชว่า วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นม้า อาชาไนยตัวเจริญที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เห็นเงาปะฏัก ก็ไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช แม้ถูกแทงด้วยปะฏักที่ขุมขนก็ไม่สลด ไม่ถึง ความสังเวช แม้ถูกแทงด้วยปะฏักถึงผิวหนังก็ไม่สลด ไม่ถึงความสังเวช แต่เมื่อ ถูกแทงด้วยปะฏักถึงกระดูก จึงสังเวช ถึงความสลดว่า วันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้าจัก ให้เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้า อาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นม้าอาชาไนยตัวเจริญ ที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก ฉันนั้นเหมือนกัน ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้นมีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา เขาย่อมสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้ โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และ เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ม้าอาชาไนยตัวเจริญพอเห็นเงาปะฏักย่อมสลด ถึงความสังเวช แม้ฉันใด เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้เปรียบฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เจริญที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา แต่เขา เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยาเอง เขาจึงสลด ถึงความสังเวช เพราะเหตุนั้น เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ม้าอาชาไนยตัวเจริญถูกแทงด้วยปะฏักที่ขุมขนย่อมสลด ถึงความสังเวช แม้ฉันใด เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้เปรียบฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนย ผู้เจริญบางคนในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เจริญที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา และไม่ได้ เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยาเอง แต่ญาติหรือสาโลหิตของเขา ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา เขาจึงสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น เป็นผู้ สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้โดยแยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ม้าอาชาไนยตัว เจริญถูกแทงผิวหนังจึงสลด ถึงความสังเวช แม้ฉันใด เรากล่าวบุรุษอาชาไนย ผู้เจริญนี้เปรียบฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เจริญที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีหญิงหรือชายถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยา และไม่ได้ เห็นหญิงหรือชายผู้ถึงความทุกข์ หรือทำกาลกิริยาเอง ทั้งญาติหรือสาโลหิตของเขา ก็ไม่ถึงทุกข์ หรือทำกาลกิริยา แต่เขาเองทีเดียว อันทุกขเวทนาเป็นไปทางสรีระ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะนำชีวิตไปเสีย ถูกต้องแล้ว เขาจึงสลด ถึงความสังเวชเพราะเหตุนั้น เป็นผู้สลดแล้วเริ่มตั้งความเพียรไว้โดย แยบคาย มีใจเด็ดเดี่ยว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้ง แทงตลอดด้วยปัญญา ม้าอาชาไนยตัวเจริญถูกแทงด้วยปะฏักถึงกระดูก จึงสลด ถึงความสังเวช แม้ฉันใด เรากล่าวบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้เปรียบฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ แม้เห็นปานนี้ก็มี นี้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เจริญที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษ อาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
จบสูตรที่ ๓
นาคสูตร
[๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบด้วย องค์ ๔ ย่อมเป็นช้างควรแก่พระราชา เป็นช้างต้น ย่อมถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะ องค์ ๔ เป็นไฉน คือ ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ในโลกนี้ เป็นสัตว์ สำเหนียก ๑ กำจัดได้ ๑ อดทน ๑ ไปได้เร็ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้าง ตัวประเสริฐของพระราชาเป็นสัตว์สำเหนียกอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้าง ตัวประเสริฐของพระราชา ในโลกนี้ ย่อมเอาใจใส่มนสิการถึงเหตุการณ์ที่นาย- *ควาญช้างจะให้กระทำ ที่ตนเคยทำก็ตาม ไม่เคยทำก็ตาม ประมวลเหตุการณ์ ทั้งหมดไว้ด้วยใจ คอยเงี่ยโสตสดับอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐ ของพระราชา เป็นสัตว์สำเหนียกอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้างตัวประเสริฐของพระราชา เป็นสัตว์กำจัดได้ อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ในโลกนี้ เข้าสู่สงคราม แล้ว ย่อมกำจัดช้างบ้าง พลช้างบ้าง ม้าบ้าง พลม้าบ้าง รถบ้าง พลรถบ้าง พลเดินเท้าบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชาเป็นสัตว์ กำจัดได้อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้างตัวประเสริฐของพระราชาเป็นสัตว์อดทนอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ในโลกนี้ เข้าสู่สงครามแล้ว เป็นสัตว์อดทนต่อการประหารด้วยหอก ต่อการประหารด้วยดาบ ต่อการประหาร ด้วยหลาว ต่อเสียงระเบ็งเซ็งแซ่แห่งกลอง บัณเฑาะว์และสังข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชาเป็นสัตว์อดทนอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ช้างตัวประเสริฐของพระราชา เป็นสัตว์ไปได้เร็ว อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชาในโลกนี้ นายควาญช้าง จะใช้ไปสู่ทิศใด ตนจะเคยไปหรือไม่เคยไปก็ตาม ย่อมเป็นสัตว์ไปสู่ทิศนั้น เร็วพลันทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา เป็นสัตว์ ไปได้เร็วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบ ด้วยองค์ ๔ นี้แล ย่อมเป็นสัตว์ควรแก่พระราชา เป็นช้างต้น ถึงการนับว่าเป็น ราชพาหนะ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ สำเหนียก ๑ กำจัดได้ ๑ อดทน ๑ ไปได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ สำเหนียกอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จดจำ กระทำธรรมวินัยนี้อันพระตถาคต ประกาศแล้ว ทรงแสดงอยู่ ไว้ในใจ ประมวลธรรมวินัยทั้งปวงไว้ด้วยใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สำเหนียกอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้กำจัดได้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ซึ่งกามวิตกอันบังเกิดขึ้นแล้ว กระทำให้พินาศ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ซึ่งพยาบาทวิตก อัน บังเกิดขึ้นแล้ว กระทำให้พินาศ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อม บรรเทาซึ่งวิหิงสาวิตก อันบังเกิดขึ้นแล้ว กระทำให้พินาศ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ซึ่งธรรมอันเป็นบาปอกุศล อันบังเกิดขึ้นแล้ว กระทำให้พินาศ ให้ถึงความไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้กำจัดได้ อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย สัมผัสแห่ง เหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีปรกติอดทนต่อคำกล่าว อันหยาบคาย ร้ายกาจ ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ต่อทุกขเวทนาเป็นไปทางสรีระ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะนำชีวิตไปเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อดทนอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ไปได้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทิศใด ที่ตนไม่เคยไป โดยกาลนานนี้ คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืน อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เป็นผู้ ไปสู่ทิศนั้นได้เร็ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไปได้อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของ ต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มี นาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ฯ
จบสูตรที่ ๔
ฐานสูตร
[๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ มีเหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฉิบหาย ๑ มีเหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ ๑ มีเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อ ความฉิบหาย ๑ มีเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเหตุ ๔ ประการนั้น เหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่าไม่ควร ทำโดยส่วนทั้งสองทีเดียว คือ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ไม่ควรทำแม้โดยเหตุเพื่อทำ สิ่งที่ไม่พอใจ ย่อมสำคัญว่า ไม่ควรทำแม้โดยเหตุที่เมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความ ฉิบหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่าไม่ควรทำโดยส่วน ทั้งสองทีเดียว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเหตุเพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ พึงทราบคนพาลและบัณฑิตได้ ในเพราะกำลังของบุรุษ ในเพราะความเพียรของบุรุษ ในเพราะความบากบั่นของบุรุษ คนพาลย่อมไม่ สำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้เพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ดังนี้ เขาย่อมไม่กระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขาไม่ กระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้ เพื่อทำสิ่งที่ไม่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้ เมื่อทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ดังนี้ เขาย่อมกระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขากระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำ เข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย พึงทราบคนพาลและบัณฑิต ในเพราะกำลังของ บุรุษ ในเพราะความเพียรของบุรุษ ในเพราะความบากบั่นของบุรุษ คนพาล ย่อมไม่สำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้เพื่อทำสิ่งที่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อ ทำเข้าย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ดังนี้ เขาย่อมกระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขา กระทำอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า เหตุนี้ เพื่อทำสิ่งที่พอใจก็จริง ถึงอย่างนั้น เหตุนี้เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฉิบหาย ดังนี้ เขาย่อมไม่กระทำเหตุนั้น เหตุนั้นอันเขาไม่กระทำอยู่ ย่อมเป็น ไปเพื่อประโยชน์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และเหตุนั้นเมื่อทำเข้า ย่อม เป็นไปเพื่อประโยชน์ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ควรทำโดยส่วนทั้ง ๒ ทีเดียว คือ ย่อม สำคัญว่า ควรทำโดยเหตุเพื่อทำสิ่งที่พอใจ และโดยเหตุที่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็น ไปเพื่อประโยชน์ เหตุนี้ บัณฑิตย่อมสำคัญว่า ควรทำโดยส่วนทั้ง ๒ ทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕
อัปปมาทสูตร
[๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละกายทุจริต จงเจริญ กายสุจริต และอย่าประมาทในการละกายทุจริตและการเจริญกายสุจริตนั้น จงละ วจีทุจริต จงเจริญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจีทุจริตและการเจริญ วจีสุจริตนั้น จงละมโนทุจริต จงเจริญมโนสุจริต และอย่าประมาทในการละ มโนทุจริตและการเจริญมโนสุจริตนั้น จงละมิจฉาทิฐิ จงเจริญสัมมาทิฐิ และอย่า ประมาทในการละมิจฉาทิฐิและการเจริญสัมมาทิฐินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาล ใดแล ภิกษุละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโน ทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฐิ เจริญสัมมาทิฐิได้แล้ว ในกาลนั้น เธอย่อม ไม่กลัวต่อความตาย อันจะมีในภายหน้า ฯ
จบสูตรที่ ๖
อารักขสูตร
[๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติ เครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ในฐานะ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ๑ จิตของเราอย่าขัดเคือง ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ๑ จิตของเราอย่าหลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง ความหลง ๑ จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ๑ ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย ในกาลใดแล จิตของภิกษุไม่กำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะปราศจากความกำหนัด จิตของภิกษุไม่ขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความ ขัดเคือง เพราะปราศจากความขัดเคือง จิตของภิกษุไม่หลงในธรรมเป็นที่ตั้ง แห่งความหลง เพราะปราศจากความหลง จิตของภิกษุไม่มัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้ง แห่งความมัวเมา เพราะปราศจากความมัวเมา ในกาลนั้น เธอย่อมไม่หวาดเสียว ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้ง และย่อมไม่ไปแม้เพราะเหตุแห่งถ้อยคำ ของสมณะ ฯ
จบสูตรที่ ๗
สังเวชนียสูตร
[๑๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวช แห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้ ๔ แห่งเป็นไฉน คือ สถานที่ควรเห็น ควร ให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธาว่า พระตถาคตประสูติ ณ ที่นี้ ๑ พระ- *ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตทรงประกาศธรรมจักร อันยอดเยี่ยม ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตร ผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๘
ภยสูตรที่ ๑
[๑๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ชาติภัย ๑ ชราภัย ๑ พยาธิภัย ๑ มรณภัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๙
ภยสูตรที่ ๒
[๑๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ อัคคีภัย ๑ อุทกภัย ๑ ราชภัย ๑ โจรภัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบเกสีวรรคที่ ๒
---------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. เกสีสูตร ๒. ชวสูตร ๓. ปโตทสูตร ๔. นาคสูตร ๕. ฐานสูตร ๖. อัปปมาทสูตร ๗. อารักขสูตร ๘. สังเวชนียสูตร ๙. ภยสูตรที่ ๑ ๑๐. ภยสูตรที่ ๒ ฯ
----------
*************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น