วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พื้นฐานการประพฤติธรรม

พระสูตรในวันนี้กล่าวถึงการจะอบรมปัญญาให้เกิดขึ้นว่า ต้องมีพื้นฐานที่ดี คือ
1.เริ่มด้วยความไม่ยึดถือชนชั้นวรรณะ ไม่ถือว่าตนรู้มาก ไม่ทำตัวว่าเหนือคนอื่น ถึงรู้มากจริงก็ไม่ยึดมั่น ทำตัวเสมอคนอื่นๆ เพราะการบรรลุธรรมนั้นความจริงก็ไม่ขึ้นกับชนชั้นวรรณะ หากได้รับการร้องขอที่สมเหตุสมผลก็ยินดีให้คำแนะนำ แต่เมื่อแนะนำแล้วก็ไม่เย่อหยิ่งว่ารู้มาก ซึ่งเรื่องนี้เรียกว่า อภิสมาจาร คือเป็นธรรมที่ยังต้องศึกษาให้ยิ่งขึ้นไป
2.เมื่อตระหนักว่ายังต้องศึกษาอีกมาก ก็พอมีทางจะเป็นพระเสขะได้ เพราะความเป็นพระเสขะนั้นมีหลายระดับ และเป้าหมายคือความเป็นพระอเสขะ
3.เมื่อปฏิบัติตามหนทางเพื่อความเป็นพระอเสขะแล้ว จะสามารถรักษาศีลให้บริบูรณ์ได้
4.เมื่อมีศีลบริบูรณ์แล้ว จะอบรมทิฏฐิให้ตรงแน่วแน่ ถูกต้องยิ่งๆขึ้นได้
5.เมื่ออบรมทิฏฐิแล้ว อริยมรรคย่อมบริบูรณ์ได้ เพราะอริยมรรคมีองค์8นั้นมีที่สุดคือสัมมาสมาธิ การเกิดสมาธินั้นยากเย็นจริงๆ ในข้อนี้เพราะบุคคลหนุ่มสาวทั้งหลายเมื่อเติบโตขึ้น พัฒนาการตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ได้มาเอง ไม่ต้องลงทุนใช้ความพยายามคือการมีความสนใจในเพศตรงข้าม เมื่อมีกามสัญญาเกิด ในเรื่องนี้ก็คือกามฉันทะนิวรณ์ สมาธิย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยครับ แต่ที่สำคัญ ถ้าไม่มีอภิสมาจาริกวัตรตามข้อแรก ความบรรลุในสมาธิหรือแม้แต่ศีลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นไปไม่ได้เลย

ในเรื่องที่ว่าอ่านพระไตรปิฎกนั้นช่วยสร้างสมาธิอย่างไร ช่วยสร้างสมาธิว่า ตนเป็นผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าพระองค์ตรัสรู้โดยชอบแล้วจริง เรียกว่าพุทธานุสสติ มีความเลื่อมใสในธรรมว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เรียกว่าธัมมานุสสติ ได้ใคร่ครวญในธรรมที่ศึกษา เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ได้ตั้งจิตว่าเมื่อเข้าใจในธรรมว่า เมื่อศึกษาจนพอมีความเข้าใจแล้วจะแสดงธรรมให้ผู้อื่นรู้ตาม ไม่เก็บไว้แต่ผู้เดียว ด้วยต้องการจะเผยแผ่ธรรมให้ผู้อื่นได้เข้าใจตาม การกระทำด้วยจิตเมตตาต้องการให้ผู้อื่นมีสติปัญญาในทางที่ถูกนั้นย่อมเป็นเมตตาพรหมวิหาร เฉพาะเมตตาพรหมวิหารนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ได้บรรลุปฐมฌานแล้วครับ โดยเฉพาะพระไตรปิฎกนั้นผู้ศึกษาย่อมทราบว่ามีนัยอันวิจิตรพิสดาร ซ่อนความหมายไว้มากมาย ผู้ศึกษาโดยตั้งจิตไว้โดยชอบดังกล่าวแล้วย่อมได้ปัญญาเป็นธรรมดาครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*****************************
ปัญจังคิกวรรคที่ ๓
๑. คารวสูตรที่ ๑
[๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ไม่มีความประพฤติเสมอในเพื่อนพรหมจรรย์ จักบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตร ให้บริบูรณ์นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่บำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญธรรมของพระเสขะ ให้บริบูรณ์นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่บำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์แล้ว จักรักษาศีลให้บริบูรณ์นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์แล้ว จักอบรมสัมมาทิฐิให้บริบูรณ์นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่อบรมสัมมาทิฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักเจริญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง มีความประพฤติเสมอในเพื่อนพรหมจรรย์ จักบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุบำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์แล้ว จักรักษาศีลให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุรักษาศีลให้บริบูรณ์แล้ว จักอบรมสัมมาทิฐิให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุอบรมสัมมาทิฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักเจริญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. คารวสูตรที่ ๒
[๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ไม่มีความประพฤติเสมอในเพื่อนพรหมจรรย์ จักบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ได้นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่บำเพ็ญธรรม คือ อภิสมา-จาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์ได้นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่บำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์แล้ว จักรักษาศีลขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่รักษาศีลขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักเจริญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่เจริญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุมีที่เคารพ มีที่ยำเกรง มีความประพฤติเสมอในเพื่อนพรหมจรรย์ จักบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุบำเพ็ญธรรมของพระเสขะให้บริบูรณ์แล้ว จักรักษาศีลขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุรักษาศีลขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักเจริญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุเจริญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. อุปกิเลสสูตร
[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง ซึ่งเป็นเหตุให้ทองเศร้าหมองแล้ว ย่อมไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่สุกใส เสียเร็ว จะทำเป็นเครื่องประดับไม่ได้ มี ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ เหล็ก ๑ โลหะ ๑ ดีบุก ๑ตะกั่ว ๑ เงิน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้ทองเศร้าหมองแล้ว ย่อมไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่สุกใส เสียเร็ว จะทำเป็นเครื่องประดับไม่ได้ เมื่อใด ทองพ้นจากสิ่งเศร้าหมอง ๕ ประการนี้ ย่อมอ่อน ใช้การได้ สุกใส ทนทาน จะทำเป็นเครื่องประดับก็ได้ คือ ช่างทองต้องการเครื่องประดับชนิดใดๆ เช่น แหวน ตุ้มหู สร้อยคอ สังวาลย์ ก็ทำได้ตามต้องการ ฉันใด อุปกิเลสแห่งจิต ซึ่งเป็นเหตุให้จิตเศร้าหมองแล้ว ย่อมไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่ผ่องใส เสียเร็ว ไม่ตั้งมั่นโดยชอบเพื่อความหมดสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็มี ๕ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน อุปกิเลส ๕ ประการเป็นไฉนคือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑อุปกิเลสแห่งจิต ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้จิตเศร้าหมองแล้ว ย่อมไม่อ่อนใช้การไม่ได้ ไม่ผ่องใส เสียเร็ว ไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความหมดสิ้นไปแห่งอาสวะ แต่เมื่อใด จิตพ้นจากอุปกิเลส ๕ ประการนี้ ย่อมอ่อน ใช้การได้ผ่องใส ทนทาน ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความหมดสิ้นไปแห่งอาสวะ และภิกษุจะน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งได้ด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จในธรรมนั้นๆ โดยแน่นอน ถ้าภิกษุหวังอยู่ว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระ-*อาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จในอิทธิวิธีนั้นๆ โดยแน่นอน ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงฟังเสียง ๒ อย่าง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จในทิพโสตนั้นๆ โดยแน่นอน ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็พึงรู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็พึงรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็พึงรู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็พึงรู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็พึงรู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าหรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็พึงรู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็พึงรู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็พึงรู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จในเจโตปริยญาณนั้นๆ โดยแน่นอนถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้างสองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้างสามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้างแสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆมีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จในบุพเพนิวาสานุสติญาณ นั้นๆ โดยแน่นอนถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์กำลังเคลื่อน กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ถือมั่นการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นสัมมาทิฐิ ถือมั่นการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ สัตว์เหล่านั้น เมื่อตายไปเขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังเคลื่อน กำลังอุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จในจุตูปปาตญาณนั้นๆ โดยแน่นอน ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จในเจโตวิมุติปัญญาวิมุตินั้นๆ โดยแน่นอน ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. ทุสสีลสูตร
[๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิของภิกษุผู้ทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะ ของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มีนิพพิทา และวิราคะ ของภิกษุผู้มียถาภูตญาณวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว เมื่อนิพพิทาและวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะ ของภิกษุผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว แม้กะเทาะของต้นไม้นั้น ก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้เปลือกก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้กระพี้ก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้แก่นก็ไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิของภิกษุผู้ทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาและวิราคะ ของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสนะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว เมื่อนิพพิทาและวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะ ของภิกษุผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยขาดแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลายสัมมาสมาธิของภิกษุผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่นิพพิทาและวิราคะ ของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อนิพพิทาและวิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะ ของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิพพิทาและวิราคะ ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ที่กิ่งและใบบริบูรณ์ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ถึงความบริบูรณ์แม้เปลือกก็ถึงความบริบูรณ์ แม้กระพี้ก็ถึงความบริบูรณ์ แม้แก่นก็ถึงความบริบูรณ์ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิของภิกษุผู้มีศีล ถึงพร้อม-ด้วยศีล ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณ-ทัสสนะ ของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยเมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาและวิราคะของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อนิพพิทาและวิราคะมีอยู่วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิพพิทาและวิราคะ ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. อนุคคหสูตร
[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิ อันองค์ ๕ อนุเคราะห์แล้ว ย่อมเป็นธรรมมีเจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ และเป็นธรรมมีปัญญา-วิมุติ เป็นผล มีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ องค์ ๕ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ สัมมาทิฐิอันศีลอนุเคราะห์แล้ว อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว อันการสนทนาธรรมอนุเคราะห์แล้ว อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิอันองค์ ๕ เหล่านี้แล อนุเคราะห์แล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ และมีปัญญาวิมุตติเป็นผล มีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. วิมุตติสูตร
[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้นอาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรมในธรรมนั้นตามที่พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่เธอ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติกายย่อมสงบผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ก็แต่ว่าภิกษุย่อมแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรมในธรรมนั้น ที่ภิกษุแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ...เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๒ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๓ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมตรึกตรองใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุตรึกตรองใคร่ครวญธรรมตามที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๔ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ ก็แต่ว่า สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่เธอเล่าเรียนสมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญาเมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้นอาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แลซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. สมาธิสูตร
[๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีปัญญารักษาตน มีสติเจริญสมาธิหาประมาณมิได้เถิด เมื่อเธอมีปัญญารักษาตน มีสติ เจริญสมาธิหาประมาณมิได้อยู่ ญาณ ๕ อย่าง ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน ญาณ ๕ อย่างเป็นไฉนคือ ญาณย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตนว่า สมาธินี้มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป ๑ สมาธินี้เป็น อริยะ ปราศจากอามิส ๑ สมาธินี้อันคนเลวเสพไม่ได้ ๑สมาธินี้ละเอียด ประณีต ได้ด้วยความสงบระงับ บรรลุได้ด้วยความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น และมิใช่บรรลุได้ด้วยการข่มธรรมที่เป็นข้าศึก ห้ามกิเลสด้วยจิตอันเป็นสสังขาร ๑ ก็เราย่อมมีสติเข้าสมาธินี้ได้ มีสติออกจากสมาธินี้ได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีปัญญารักษาตน มีสติ เจริญสมาธิอันหาประมาณมิได้เถิด เมื่อเธอทั้งหลายมีปัญญารักษาตน มีสติ เจริญสมาธิอันหาประมาณมิได้อยู่ ญาณ ๕ อย่างนี้แล ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. อังคิกสูตร
[๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนานหรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริดแล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณสีตัวซึ่งซึมไปจับติดทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออกฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐข้อที่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขที่เกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกที่มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตกด้านเหนือ และฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วจะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในกออุบล กอบัวหลวง หรือกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอด ตลอดเง่าไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๓ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีสุขไม่มีทุกข์ เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสและโทมนัสก่อนๆ ได้มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขา ที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญาเปรียบเหมือนคนอื่นพึงเห็นคนอื่น คนยืนพึงเห็นคนนั่ง หรือคนนั่งพึงเห็นคนนอนฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดีแทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุจะโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่โดยแน่นอน เปรียบเหมือนหม้อน้ำตั้งอยู่บนที่รอง เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากพอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลัง พึงเอียงหม้อน้ำนั้นไปรอบๆ น้ำก็พึงกระฉอกออกมาได้หรือ ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนสระน้ำที่ภูมิภาคอันราบเรียบ กว้างสี่เหลี่ยม กั้นด้วยทำนบเต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากพอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลังพึงเปิดทำนบสระนั้นทุกๆด้าน น้ำก็พึงไหลออกมาได้หรือ
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนรถม้าที่เทียมแล้วจอดอยู่ทางใหญ่ ๔ แยก มีพื้นราบเรียบมีประตักวางไว้ข้างบน คนฝึกม้าผู้ขยันชำนาญในการฝึกขึ้นขี่รถนั้นแล้ว ถือเชือกด้วยมือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา พึงขับรถให้เดินหน้าบ้าง ให้ถอยหลังบ้าง ได้ตามต้องการ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ พึงใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๘
๙. จังกมสูตร
[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการจงกรม ๕ ประการนี้๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑ อาหารที่กินดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑ สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรม ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๙
[พระสูตรนี้ว่าด้วยเรื่องการเดินจงกรม คือตั้งสติ พิจารณาข้อธรรมโดยอาการเดินไปมา ก็ถือว่าเป็นการทำสมาธิครับ ซึ่งการเดินจงกรมนั้นก็ควรทำในที่ที่จัดไว้สำหรับการเดินจงกรมโดยเฉพาะ ไม่เช่นนั้นจะดูว่าแปลกสักหน่อยครับ]
๑๐. นาคิตสูตร
[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศลชื่ออิจฉานังคละ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้บ้านพราหมณคาม ชื่ออิจฉานังคละ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้พราหมณคามชื่ออิจฉานังคละ ก็เกียรติศัพท์อันงามของท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตามทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น เป็นการดีแล ดังนี้ ครั้งนั้นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีไป จึงพากันถือของเคี้ยวของฉันเป็นจำนวนมาก เข้าไปทางไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ครั้นแล้ว ได้ยืนชุมนุมกันที่ซุ้มประตูด้านนอก ส่งเสียงอื้ออึง สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระนาคิตะว่า ดูกรนาคิตะ ก็พวกใครส่งเสียงอื้ออึงอยู่นั้น คล้ายพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละเหล่านั้น พากันถือของเคี้ยวของฉันเป็นจำนวนมาก มายืนประชุมกันที่ซุ้มประตูด้านนอก เพื่อถวายพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฯ
พ. ดูกรนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้นพึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะ และการสรรเสริญ ฯ
นา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับ ขอพระสุคตจงทรงรับ บัดนี้ เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคจะทรงรับ พระผู้มีพระภาคจักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ เหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา น้ำก็ย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ฉันใดพระผู้มีพระภาคจักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบทก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศีลและปัญญาของพระผู้มีพระภาค ฯ
พ. ดูกรนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่อยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้นพึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะ และการสรรเสริญ ดูกรนาคิตะ อาหาร ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมมีอุจจาระและปัสสาวะเป็นผล นี้เป็นผลแห่งอาหารนั้น ความรักมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาส ที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่รักแปรปรวนเป็นอื่นเป็นผล นี้เป็นผลแห่งความรักนั้น ความเป็นของปฏิกูลในอสุภนิมิต ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้ขวนขวายการประกอบตามอสุภนิมิต นี้เป็นผลแห่งการประกอบตามอสุภนิมิตนั้นความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะ ๖ อยู่ นี้เป็นผลแห่งการพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะนั้นความเป็นของปฏิกูลในอุปาทาน ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความเกิด และความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้เป็นผลแห่งการพิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์นั้น ฯ
[ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จถึงโกศลชนบท ที่ตำบลชื่ออิจฉานังคละ ชนทั้งหลายมีพวกพราหมณ์และเหล่าคฤหบดีได้ทราบกิตติศัพท์อันขจรขจายไปดังนี้ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ทรงตรัสรู้ในพระธรรมอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ ทรงกระทำโลกมนุษย์และเทวโลกให้สว่างไสวด้วยพระธรรมอันดี ทรงยังชนทั้งหลายให้รู้ตามได้ตามแต่อุปนิสัยของตน ชนเหล่าดังกล่าวได้นำเอาของขบเคี้ยวและอาหารมีข้าวและน้ำตลอดจนลาภสักการะ มารอเข้าเฝ้า ต่างส่งเสียงอื้ออึง พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระนาคิตะซึ่งเวลานั้นอุปัฏฐากถึงเสียงอื้ออึงนั้นว่าที่ดังราวกับเสียงคนหาปลานั้นคือเสียงอะไรหรือ ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า เป็นเสียงชาวบ้านพากันมาสักการะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับ ขอจงทรงโปรดชนเป็นอันมากเหล่านั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นาคิตะ พระองค์ไม่ปรารถนาในยศ ทั้งยศก็ไม่ใช่ของพระองค์ ตราบใดที่ชนทั้งหลายยังละซึ่งความสุขจากธรรมอันพระองค์ตรัสรู้ไม่ได้ อันเป็นสุขที่สุขุม ลุ่มลึก ละเอียด เป็นสุขอันเกิดจากวิเวก จากความสันโดษ ไม่ได้ทราบในฌานอันพระองค์ได้ทรงบรรลุแล้วโดยไม่ลำบาก เป็นสุขที่ไม่อิงในลาภ ทรัพย์สมบัติ ตลอดจนสุขในปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจในธรรม ละเสียได้ซึ่งความสุขอันไม่สะอาด ความสุขในการดื่มกิน ความสุขในความรักอันมีความโศกเศร้า ความคับแค้นใจเป็นส่วนมาก มีความเป็นสุขแต่เพียงส่วนน้อย ตลอดจนได้ทราบถึงความสุขในการเห็นความไม่เที่ยงในอายตนะ6 ความเป็นปฏิกูลของสังขารทั้งหลาย]

จบปัญจังคิกวรรคที่ ๓
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. คารวสูตรที่ ๑ ๒. คารวสูตรที่ ๒ ๓. อุปกิเลสสูตร๔. ทุสสีลสูตร ๕. อนุคคหสูตร ๖. วิมุตติสูตร ๗. สมาธิสูตร ๘. อังคิกสูตร ๙. จังกมสูตร ๑๐. นาคิตสูตร ฯ
**************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น