วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ว่าด้วยเรื่องการปรารภความเพียร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงการปฏิบัติสอนสิ่งใดก็ตาม สิ่งนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น อาจจะในทางเพิ่มพูนปัญญา ไม่ต้องยึดกับความเห็นผิด หรือทรงกล่าวธรรมมีปาฏิหาริย์ เพื่อผู้ที่เข้าใจจะได้เพิ่มพูนความศรัทธา บรรเทาเสียได็ซึ่งวิจิกิจฉา หรือตรัสสรรเสริญคุณธรรมอันพิเศษของพระภิกษุบางรูปเพื่อจะได้เป็นแบบอย่างให้รูปอื่นๆปฏิบัติตาม ฯลฯ ล้วนทรงมีพระประสงค์ดีทั้งนั้น หากจะทรงตำหนิใครก็เพราะคนผู้นั้นไม่ดีจริงๆ ในเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยากเลยครับ พระพุทธวจนะอีกประการคือตรัสแนะนำการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นโดยตรง คือว่าด้วยเรื่องเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติคือการหลุดพ้นด้วยการเจริญสมาธิ เดิมทีในสมัยก่อนจะมีพระศาสนานี้ ฌานนั้นมีอยู่ในฤาษีบางท่าน แต่พระนิพพานนั้นไม่มีอยู่ในฤาษีเหล่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระศาสนา คำว่าเจโตวิมุตติจึงได้มีขึ้น คือพระองคค์ตรัสว่า ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมรู้เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง พิจารณาไตรลักษณ์ด้วยจิตที่มีสมาธิ ก็หลุดพ้นได้ ส่วนปัญญาวิมุตตินั้นอาศัยการพิจารณาพระไตรลักษณ์ล้วนๆ และพระสูตรในวันนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสสอนว่า เบื้องต้นการปฏิบัติให้ได้เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตตินั้นทำอย่างไร ใจความดังนี้ครับ
1.พิจารณาเห็นความไม่งามในกาย
2.พิจารณาเห็นความเป็นปฏิกูลในอาหาร
3.พิจารณาให้เห็นความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง คือรวมทั้งโลกสวรรค์ด้วย
4.พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
5.ความกำหนดไว้ในใจตลอดเวลาถึงความเป็นผู้ต้องถึงซึ่งความตายอย่างแน่แท้ ไม่ช้าก็เร็ว

จะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้นั้นมีจุดประสงค์คิอ
1.เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตระหนักถึงความจริงในความไม่เที่ยงอยู่โดยตลอด มีสติ ไม่ประมาท
2.เพื่อเจริญซึ่งปัญญาในพระไตรลักษณ์ ละกิเลสต่างๆลงได้โดยลำดับ
3.เพื่อผู้พิจารณาซึ่งไม่ประมาทนั้นจะปรารภความเพียรโดยไม่ขาดสายอยู่โดยเป็นนิจกาล

ในโยธาชีวสูตรสองพระสูตรนี้แหละที่ให้หลักการของการปรารภความเพียรเพื่อความหลุดพ้นของพระภิกษุ (ตามที่พระสูตรกล่าวไว้ครับว่าหมายเอาซึ่งพระภิกษุ มิใช่ฆราวาส) ว่าเปรียบเหมือนนักรบผู้สวมสอดเกราะกับทั้งอาวุธว่า ปรารภความเพียรให้ถึงที่สุดสัก5ครั้งเถิด แม้เห็นมาตุคามก็ไม่หวั่นไหว ได้ลาภสักการะก็ไม่หลงไหลคล้อยตาม จะถึงความหลุดพ้นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ง่ายครับ บางทีเกิดท้อขึ้นมาก็จะมาโทษพระผู้มีพระภาคเจ้า ความศรัทธาก็เป็นอันว่ารักษาไว้ไม่ได้ เปรียบเหมือนนักรบอาชีพผู้เสียชีวิตในสงคราม

ในอนาคตสูตรอีก4พระสูตรกล่าวถึงสิ่งที่พึงระลึกของพระภิกษุหลายประการ เช่นว่า เวลานี้เรายังมีสุขภาพดี ทั้งบิณฑบาตก็ไม่ลำบาก ไม่ใช่เวลาข้าวยากหมากแพง ไม่มีสงคราม ทั้งสงฆ์ก็สามัคคีกัน ทั้งพระธรรมคำสอนในพระศาสนาก็ยังดำรงอยู่ ฯลฯ เหตุใดที่ตนจะละความเพียรในเวลานี้ ไม่ปฏิบัติให้หลุดพ้น แต่ที่กล่าวนี้ผมไม่ได้กล่าวสอนภิกษุครับ ผมชี้แจงแก่ฆราวาสว่าพึงปรารภความเพียรเช่นเดียวกับพระภิกษุ คือเมื่อปรารถนาจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ หากสิ่งที่ทำนั้นไม่มีโทษ ก็พยายามให้หลายๆครั้ง ให้ได้เรียนรู้ ให้มีประสบการณ์ ก็คงสำเร็จได้สักวันหนึ่งครับ

พระสูตรวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

**********************************************
โยธาชีววรรคที่ ๓
๑. เจโตวิมุติสูตรที่ ๑
[๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำ ให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล และมีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมี ปัญญาวิมุติเป็นผล และมีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย ๑ ย่อมมีความ สำคัญว่าเป็นของปฏิกูล ในอาหาร ๑ ย่อมมีความสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลก ทั้งปวง ๑ ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑ ย่อมเข้าไปตั้งมรณ- *สัญญาไว้ในภายใน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล อันบุคคล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล และมีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้ มีเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เมื่อนั้น ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้น ได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะ ดังนี้บ้าง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอวิชชาเสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำ ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็น ผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้อย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้อย่างไร คือ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละชาติสงสารที่เป็นเหตุนำให้เกิดในภพใหม่ต่อไปได้ ถอน รากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อ ไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละตัณหา เสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้ เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนกลอนออกได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการเสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอด ด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอดกลอน ออกได้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะเสีย ได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้น อีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระ ลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะใดๆ อย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. เจโตวิมุติสูตรที่ ๒
[๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำ ให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล และมีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมี ปัญญาวิมุติเป็นผล และมีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ความสำคัญว่าไม่เที่ยง ๑ ความสำคัญว่าเป็นทุกข์ในสิ่งไม่เที่ยง ๑ ความสำคัญ ว่าเป็นอนัตตาในสิ่งที่เป็นทุกข์ ๑ ความสำคัญในการละ ๑ ความสำคัญในความ คลายกำหนัด ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล และมีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ ย่อม มีปัญญาวิมุติเป็นผล และมีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มี เจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เมื่อนั้น ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ ดังนี้ บ้าง ว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้ ดังนี้บ้าง ว่าเป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลง ได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะ ดังนี้บ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละอวิชชา เสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิด ขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละชาติสงสาร ที่เป็นเหตุนำให้เกิดในภพใหม่ต่อไปได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ รื้อเครื่องแวดล้อมได้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละตัณหาเสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็น เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้อย่างไร คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เสียได้ ถอนรากขึ้น แล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็น ธรรมดา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถอดกลอนออกได้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไกลจาก ข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะอย่างไร คือ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไกล จากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. ธรรมวิหาริกสูตรที่ ๑
[๗๓] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าผู้อยู่ในธรรมๆ ดังนี้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ ไม่ประกอบ ความสงบใจในภายใน เพราะการเรียนธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วย การเรียน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียน มาแล้ว แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออก เร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการแสดงธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียก ว่าเป็นผู้มากด้วยการแสดงธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมกระทำการสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีก ออกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการสาธยายธรรมนั้น ภิกษุ นี้เรียกว่า เป็นผู้มากด้วยการสาธยาย ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจ ซึ่งธรรม ตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการตรึกตาม ธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้มากด้วยการตรึกธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอย่อมไม่ปล่อยให้วันคืนล่วง ไป ไม่ละการหลีกออกเร้นอยู่ ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการ เล่าเรียนธรรมนั้น ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรมอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เราแสดงภิกษุ ผู้มากด้วยการเล่าเรียนธรรม แสดงภิกษุผู้มากด้วยการแสดงธรรม แสดงภิกษุผู้ มากด้วยการสาธยายธรรม แสดงภิกษุผู้มากด้วยการตรึกธรรม แสดงภิกษุผู้อยู่ใน ธรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุ กิจใดอันศาสดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล อนุเคราะห์ อาศัยความเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแก่เธอ ทั้งหลายแล้ว ดูกรภิกษุ นั่นโคนต้นไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงเพ่งฌาน อย่า ประมาท อย่าเป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอ ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. ธรรมวิหาริกสูตรที่ ๒
[๗๔] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าผู้อยู่ในธรรมๆ ดังนี้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ เธอย่อมไม่ทราบเนื้อความของธรรมนั้นที่ยิ่งขึ้นไปด้วย ปัญญา ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้มากด้วยการเรียน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม ฯลฯ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ เธอ ย่อมทราบชัดเนื้อความของธรรมนั้นที่ยิ่งขึ้นไปด้วยปัญญา ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้อยู่ใน ธรรมอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ ฯลฯ นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. โยธาชีวสูตรที่ ๑
[๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ นักรบอาชีพบางพวกในโลกนี้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นเท่านั้นย่อมหยุด นิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถเข้ารบได้ นักรบอาชีพบางพวกแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้เป็นนักรบอาชีพพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางพวกในโลกนี้ แม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทน ได้ แต่พอเห็นยอดธงข้าศึกเข้าเท่านั้นย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถเข้า รบได้ นักรบอาชีพบางพวกแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้เป็นนักรบอาชีพพวกที่ ๒ มีปรากฏ อยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางพวกในโลกนี้ แม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทน ได้ แม้เห็นยอดธงของข้าศึกก็อดทนได้ แต่พอได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกเข้า เท่านั้นย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถเข้ารบได้ นักรบอาชีพบางพวกแม้ เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้เป็นนักรบอาชีพพวกที่ ๓ มีปรากฎอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางพวกในโลกนี้ แม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อด ทนได้ แม้เห็นยอดธงของข้าศึกก็อดทนได้ แม้ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็ อดทนได้ แต่ว่าย่อมขลาดสะดุ้งต่อการสัมปหารของข้าศึก นักรบอาชีพบางพวกแม้ เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้เป็นนักรบอาชีพพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางพวกในโลกนี้ แม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็ อดทนได้ แม้เห็นยอดธงของข้าศึกก็อดทนได้ แม้ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็ อดทนได้ อดทนต่อการสัมปหารของข้าศึกได้ เขาชนะสงครามแล้ว เป็นผู้พิชิต สงคราม ยึดครองค่ายสงครามนั้นไว้ได้ นักรบอาชีพบางพวกแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้ เป็นนักรบอาชีพพวกที่ ๕ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในพวก ภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกัน ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นเท่านั้นย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ ทำให้แจ้งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอก คืนสิกขาเวียนมาเพื่อหินเพศ อะไรเป็นฝุ่นฟุ้งขึ้นของเธอ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีหญิงหรือกุมารีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามอย่างยิ่ง เธอได้ฟังดังนั้นแล้วย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ ทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อหินเพศ นี้ชื่อว่าฝุ่นฟุ้งขึ้นของเธอ นักรบอาชีพนั้นเห็น ฝุ่นฟุ้งขึ้นเท่านั้นย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถเข้ารบได้ แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้บุคคลผู้เปรียบด้วย นักรบอาชีพจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุแม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แต่ว่าเธอเห็นยอดธง ของข้าศึกเข้าเท่านั้น ย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ ไปได้ ทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อหินเพศ อะไรชื่อว่าเป็นยอดธงของข้าศึกของเธอ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ได้ฟังว่า ในบ้านหรือนิคมชื่อโน้น มีหญิงหรือกุมารีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบ ด้วยผิวพรรณงามอย่างยิ่ง แต่ว่าเธอย่อมได้เห็นด้วยตนเอง ซึ่งหญิงหรือกุมารีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามอย่างยิ่ง เธอเห็นแล้วย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ ทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อหินเพศ นี้ชื่อว่ายอดธงของข้าศึกของ เธอ นักรบอาชีพนั้นเห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แต่พอเห็นยอดธงของข้าศึกเข้า เท่านั้นย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถเข้ารบได้ แม้ฉันใด เรากล่าว บุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วย นักรบอาชีพจำพวกที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุแม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้เห็นยอดธงของ ข้าศึกก็อดทนได้ แต่พอเธอได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกเข้าเท่านั้นย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ ทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อหินเพศ อะไรชื่อว่าเป็นเสียงกึกก้อง ของข้าศึกของเธอ คือ มาตุคามเข้าไปหาภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้อยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่างเปล่า แล้วย่อมยิ้มแย้ม ปราศรัย กระซิกกระซี้ เย้ยหยัน เธอถูก มาตุคามยิ้มแย้ม ปราศรัย กระซิกกระซี้ เย้ยหยันอยู่ ย่อมหยุดนิ่ง สะทก- *สะท้าน ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ ทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลใน สิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อหินเพศ นี้ชื่อว่าเสียงกึกก้องของข้าศึกของเธอ นักรบอาชีพนั้นแม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้เห็นยอดธงของข้าศึกก็อดทนได้ แต่พอได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกเข้าเท่านั้นย่อมหยุดนิ่ง สะทกสะท้าน ไม่ สามารถเข้ารบได้ แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้ เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในพวก ภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุแม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้เห็นยอดธงของ ข้าศึกก็อดทนได้ แม้ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็อดทนได้ แต่ว่าย่อมขลาดต่อ การสัมปหารของข้าศึก อะไรชื่อว่าเป็นการสัมปหารของข้าศึกของเธอ คือ มาตุคาม เข้าไปหาภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้อยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่างเปล่า แล้วย่อม นั่งทับ นอนทับ ข่มขืน เธอถูกมาตุคามนั่งทับ นอนทับ ข่มขืนอยู่ ไม่บอกคืน สิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพล ย่อมเสพเมถุนธรรม นี้ชื่อว่าการ สัมปหารของข้าศึกของเธอ นักรบอาชีพนั้นแม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้เห็น ยอดธงของข้าศึกก็อดทนได้ แม้ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็อดทนได้ แต่ว่า ย่อมขลาดต่อการสัมปหารของข้าศึก แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๔ มี ปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุแม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้เห็นยอดธงของ ข้าศึกก็อดทนได้ แม้ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็อดทนได้ อดทนการสัมปหาร ของข้าศึกได้ เขาชนะสงครามแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม ยึดครองค่ายสงครามนั้น ไว้ได้ อะไรชื่อว่าชัยชนะในสงครามของเธอ คือ มาตุคามเข้าไปหาภิกษุในธรรม- *วินัยนี้ ผู้อยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่างเปล่า แล้วย่อมนั่งทับ นอนทับ ข่มขืน เธอถูกมาตุคามนั่งทับ นอนทับ ข่มขืนอยู่ ไม่พัวพัน ปลดเปลื้อง หลีกออกได้ แล้วหลีกไปตามความประสงค์ เธอย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่างเปล่า ย่อมนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอย่อมละอภิชฌาในโลกเสีย มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก อภิชฌา เธอย่อมละความประทุษร้าย คือ พยาบาท มีจิตไม่พยาบาทอยู่ เป็น ผู้มีความเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาท เธอย่อมละถิ่นมิทธะ ปราศจากถิ่นมิทธะอยู่ เป็นผู้มีอาโลกสัญญา มี สติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถิ่นมิทธะ เธอย่อมละอุทธัจจะกุกกุจจะ มีจิตไม่ฟุ้งซ่านอยู่ เป็นผู้มีจิตสงบ ณ ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะ- *กุกกุจจะ เธอย่อมละวิจิกิจฉา เป็นผู้ข้ามพ้นวิจิกิจฉาอยู่ หมดความสงสัยในธรรม ทั้งหลาย ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา เธอละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็น เครื่องเศร้าหมองแห่งใจ ทำปัญญาให้ทุรพลได้แล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุ จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัส ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว แล้วอย่างนี้ เธอย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เธอย่อมรู้ชัดตามความ เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้ อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตของเธอย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จาก ภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้น แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก นี้ชื่อว่าชัยชนะในสงครามของเธอ นักรบ อาชีพนั้น แม้เห็นฝุ่นฟุ้งขึ้นก็อดทนได้ แม้เห็นยอดธงของข้าศึกก็อดทนได้ แม้ ได้ยินเสียงกึกก้องของข้าศึกก็อดทนได้ อดทนต่อการสัมปหารของข้าศึกได้ เขา ชนะสงครามแล้ว เป็นผู้พิชิตสงครามแล้ว ยึดครองค่ายสงครามนั้นไว้ได้ แม้ ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ นี้คือบุคคล ผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๕ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. โยธาชีวสูตรที่ ๒
[๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมฆ่าเขาตายทำลายเขาได้ นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ ญาติ เขากำลังถูกนำไปยังไม่ถึงหมู่ญาติ ทำกาละเสียในระหว่างทาง นักรบอาชีพ บางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๒ มีปรากฏอยู่ ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ ญาติ หมู่ญาติย่อมพยาบาลรักษาเขา เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ได้ทำกาละ ด้วยอาพาธนั้น นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพ จำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ ญาติ หมู่ญาติย่อมพยาบาลรักษาเขา เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ก็ได้หาย จากอาพาธนั้น นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพ จำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมชนะสงครามแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม ยึดครองค่ายสงครามไว้ได้ นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็น นักรบอาชีพจำพวกที่ ๕ มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ บุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกัน ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือ นิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้าน หรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต มีสติไม่ ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอได้เห็นมาตุคามนุ่งห่มลับๆ ล่อๆ ในบ้านหรือใน นิคมนั้น เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่มลับๆ ล่อๆ ราคะย่อมขจัดจิตของเธอ เธอ มีจิตอันราคะขจัดแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความทุรพล เสพเมถุน- *ธรรม นักรบอาชีพนั้นถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมฆ่าเขาตาย ทำลาย เขาได้ แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ใน พวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่ รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอได้ เห็นมาตุคามนุ่งห่มลับๆ ล่อๆ ในบ้านหรือนิคมนั้น เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่ม ลับๆ ล่อๆ ราคะย่อมขจัดจิตของเธอ เธอมีจิตอันราคะขจัดแล้ว ย่อมเร่าร้อน กาย เร่าร้อนจิต เธอจึงคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราควรไปอารามบอกพวกภิกษุว่า อาวุโส ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ถูกราคะครอบงำแล้ว ไม่สามารถประพฤติ พรหมจรรย์สืบต่อไปได้ จักทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขา เวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอกำลังเดินไปอาราม ยังไม่ทันถึงอาราม ก็ทำให้แจ้ง ซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ในระหว่าง ทาง นักรบอาชีพนั้นถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ญาติ เขากำลังถูกนำไปยังไม่ถึงหมู่ญาติ ทำกาละเสียในระหว่างทาง แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคล บางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวก ที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่ รักษากาย ไม่รักษาวาจา ... บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอไปสู่ อารามบอกพวกภิกษุว่า อาวุโส ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ... บอกคืนสิกขาเวียน มาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ พวกเพื่อนพรหมจรรย์จึงกล่าวสอน พร่ำสอนเธอว่า อาวุโส กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับ แค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยร่าง กระดูก มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้น เนื้อ มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิง มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์ มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยของขอยืม มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก ... กาม ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยดาบและของมีคม มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยหอกและหลาว มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยโพรงไม้มีงู มีทุกข์มาก มีความ คับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ขอท่านผู้มีอายุ จงยินดียิ่งในพรหมจรรย์ จงอย่าทำ ให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอ อันพวกเพื่อนพรหมจรรย์กล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับ แค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ก็จริง แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์สืบ ต่อไปได้ จักทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อ เป็นคฤหัสถ์ นักรบนั้นถือดาบและโล่ห์ ฯลฯ เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ก็ได้ตายเพราะอาพาธนั้น แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบาง คนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่ รักษากาย ไม่รักษาวาจา ... บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เพื่อไปอาราม บอกพวกภิกษุว่า อาวุโส ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ... บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อ เป็นคฤหัสถ์ พวกเพื่อนพรหมจรรย์จึงกล่าวสอน พร่ำสอนเธอว่า อาวุโส กาม ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้น มาก มีโทษยิ่งใหญ่ กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยร่างกระดูก ... เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ ... เปรียบด้วยคบเพลิง ... เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง ... เปรียบด้วยความฝัน ... เปรียบด้วยของขอยืม ... เปรียบด้วยผลไม้ ... เปรียบด้วย ดาบและของคม ... เปรียบด้วยหอกและหลาว ... เปรียบด้วยโพรงไม้มีงู มีความยินดี น้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ขอท่านมีผู้อายุจงยินดียิ่งใน พรหมจรรย์ จงอย่าทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อ เป็นคฤหัสถ์ เธออันพวกเพื่อนพรหมจรรย์กล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จึงกล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโส ข้าพระเจ้าจักขะมักเขม้น จักทรงไว้ จักยินดียิ่ง จักไม่กระทำ ให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ณ บัดนี้ นักรบนั้นถือดาบและโล่ห์ ... เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ก็ได้หายจาก อาพาธนั้น แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มี อยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต รักษา กาย รักษาวาจา รักษาจิต มีสติตั้งมั่นสำรวมอินทรีย์ เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ถือโดยนิมิต ย่อมไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและ โทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟัง เสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วย กาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือโดยนิมิต ย่อมไม่ถือโดย อนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุ ให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว ย่อม เสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง ย่อมนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอย่อมละอภิชฌาในโลกเสีย ฯลฯ เธอละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพลได้แล้วสงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่น ไหวแล้วอย่างนี้ เธอย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เธอย่อมรู้ชัดตามความ เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก นักรบอาชีพนั้นถือ ดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่งแล้ว เข้าสนามรบ เขาชนะสงครามแล้ว เป็น ผู้พิชิตสงคราม ยึดครองค่ายสงครามนั้นไว้ได้ แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบ ฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบ อาชีพจำพวกที่ ๕ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบ ด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ
จบสูตรที่ ๖
๒. อนาคตสูตรที่ ๑
[๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อ บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ภัย ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุผู้อยู่ป่าในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราอยู่ในป่า ผู้เดียว งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เพราะการกัดต่อย แห่งสัตว์เหล่านั้น เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภ ความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง ธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคตข้อ ที่ ๑ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยัง ไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราอยู่ใน ป่าผู้เดียว เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว พึงพลาดล้มลง ภัตตาหารที่ฉันแล้วไม่ย่อย ดี ของเราพึงกำเริบ เสมหะพึงกำเริบ หรือลมมีพิษเพียงดังศัตราพึงกำเริบ เพราะ เหตุนั้นๆ เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้อยู่ป่าเห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๒ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ... ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เรา อยู่ในป่าผู้เดียว เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว พึงพบสัตว์ร้าย คือสีหะ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หรือเสือดาว สัตว์เหล่านั้นพึงทำร้ายเราถึงตาย เพราะการทำร้าย นั้น เราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ... ภิกษุ ผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๓ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ... ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราอยู่ใน ป่าผู้เดียว เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว เราพึงพบคนร้าย ผู้มีกรรมอันทำแล้ว หรือมี กรรมยังไม่ได้ทำ คนร้ายเหล่านั้นพึงปลงเราจากชีวิต เพราะการปลงนั้น เราพึง ทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๔ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ... ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราอยู่ใน ป่าผู้เดียว เมื่อเราอยู่ในป่าผู้เดียว ในป่าย่อมมีพวกอมนุษย์ดุร้าย อมนุษย์เหล่า นั้นพึงปลงชีวิตเรา เพราะการปลงชีวิตนั้นเราพึงทำกาละ พึงมีอันตรายแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ ป่าเห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๕ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ด เดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง ธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่า เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ เพื่อถึง ธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ ทำให้แจ้ง ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. อนาคตสูตรที่ ๒
[๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ก็ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อ บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ภัย ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้ เรายังเป็นหนุ่ม แน่น มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ ตั้งอยู่ในปฐมวัย ถึง กระนั้น ก็มีสมัยที่ชราย่อมจะถูกต้องกายนี้ได้ ก็ผู้ที่แก่แล้ว ถูกชราครอบงำแล้ว จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำได้ง่าย จะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า และป่าชัฏ ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย ก่อนที่ธรรมอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่ น่าพอใจนั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อ บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง เสียก่อนที เดียว ซึ่งเราประกอบแล้ว แม้แก่ก็จักอยู่สบาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เห็น ภัยในอนาคตข้อที่ ๑ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง ไม่ได้ทำให้แจ้ง ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้ เรามีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ ร้อนนัก ขนาดกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร แต่ย่อมมีสมัยที่พยาธิจะถูกต้อง กายนี้ ก็ผู้ที่ป่วยไข้อันความป่วยไข้ครอบงำแล้ว จะมนสิการคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย ... ซึ่งเราประกอบแล้ว แม้ป่วยไข้ก็จักอยู่สบาย ภิกษุเห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๒ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ... ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้แล ข้าวกล้าดี บิณฑบาตก็หาได้ง่าย สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ แต่ก็ย่อมมีสมัยที่มีข้าวแพง ข้าวกล้าไม่ดี บิณฑบาตหาได้ยาก ไม่สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ อนึ่ง ใน สมัยข้าวแพง พวกมนุษย์ย่อมหลั่งไหลไปในที่ที่มีอาหารดี ในที่นั้นย่อมมีการอยู่ คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีการอยู่พลุกพล่านกัน เมื่อมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ อยู่ พลุกพล่านกัน จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย ... ซึ่งเรา ประกอบแล้ว ก็จักอยู่สบายแม้ในเวลาทุพภิกขภัย ภิกษุผู้เห็นภัยในอนาคตข้อ ที่ ๓ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ... ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้แลมนุษย์ทั้งหลายย่อม เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดังน้ำนมกับน้ำ มองดูกัน ด้วยนัยน์ตาแสดงความรักอยู่ แต่ย่อมมีสมัยที่มีภัย มีความปั่นป่วนในดง ประชาชน วุ่นวายและเมื่อมีภัย พวกมนุษย์ย่อมหลั่งไหลไปในที่ที่ปลอดภัย ในที่นั้นย่อม มีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีการอยู่พลุกพล่านกัน เมื่อมีการอยู่คลุกคลีด้วย หมู่คณะ อยู่พลุกพล่านกัน จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำได้ ง่าย ... ซึ่งเราประกอบแล้วก็จักอยู่สบายแม้ในสมัยที่มีภัย ภิกษุผู้เห็นภัยใน อนาคตข้อที่ ๔ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ... ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้แลสงฆ์เป็นผู้พร้อม เพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศร่วมกัน อยู่ผาสุก แต่ก็ย่อมมี สมัยที่สงฆ์แตกกัน ก็เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำได้ง่าย จะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า และป่าชัฏ ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย ก่อนที่ธรรมอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจนั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบ ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อ ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ซึ่งเราประกอบแล้ว ก็จักอยู่สบายแม้ในเมื่อ สงฆ์แตกกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เห็นภัยในอนาคตข้อที่ ๕ นี้ ควรเป็นผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรม ที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ด เดี่ยวอยู่ เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง ธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ฯ
จบสูตรที่ ๘
๙. อนาคตสูตรที่ ๓
[๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ยังไม่บังเกิดใน ปัจจุบัน แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้น เธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้ว พึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น ภัยในอนาคต ๕ ประการเป็นไฉน คือ ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรม จิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ก็ จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรม จิต ไม่อบรมปัญญาเพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้าง ธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ข้อที่ ๑ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอ ทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่ อบรมปัญญา จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตร เหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่ อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่ อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ก็จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำ แม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรม กาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้าง วินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๒ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิด ในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละ ภัยนั้น ฯ อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่ อบรมปัญญา เมื่อแสดงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิดก็จักไม่รู้สึก เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรม ย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๓ นี้ ซึ่งยังไม่ บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่ อบรมปัญญา พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้ง เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรม เมื่อพระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรม เหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบท กวี มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต เมื่อพระสูตรเหล่านั้น อันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักตั้งจิตเพื่อรู้ จักฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน เพราะเหตุดังนี้ แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการ ลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๔ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้ว พึง พยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ภิกษุผู้เถระก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วง ละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อ บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ประชุมชน รุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง แม้ประชุมชนนั้นก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมี เพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภัยในอนาคต ข้อที่ ๕ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาล ต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึง พยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น ฯ
จบสูตรที่ ๙
๑๐. อนาคตสูตรที่ ๔
[๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ซึ่งยังไม่บังเกิด ในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น ๕ ประการเป็นไฉน คือ ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบจีวรดีงาม เมื่อชอบจีวรดีงาม ก็ จักละความเป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร จักละเสนาสนะอันสงัดคือป่าและป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคมและราชธานี และจักถึงการแสวงหาไม่สมควร อัน ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุจีวร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๑ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้ เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบบิณฑบาตที่ดีงาม เมื่อชอบบิณฑบาตที่ดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ละเสนา- *สนะอันสงัดคือป่าและป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคม และราชธานี แสวง หาบิณฑบาตที่มีรสอันเลิศด้วยปลายลิ้น และจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร ไม่ เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อ ที่ ๒ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้นอันเธอ ทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบเสนาสนะดีงาม เมื่อชอบเสนาสนะดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ละเสนาสนะ อันสงัดคือป่าและป่าชัฏ จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคม และราชธานี และจักถึง การแสวงหาอันไม่สมควร ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๓ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาล ต่อไป ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้อยู่คลุกคลีด้วยภิกษุณี นางสิกขมานา และสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลีด้วยภิกษุณี นางสิกขมานา และสมณุทเทส พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติ พรหมจรรย์ จักต้องอาบัติเศร้าหมองบางอย่าง หรือจักบอกคืนสิกขาเวียนมา เพื่อเป็นคฤหัสถ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๔ นี้ ซึ่งยังไม่ บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้คลุกคลีด้วยอารามิก- *บุรุษ และสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ และสมณุทเทส พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ประกอบการบริโภคของที่สะสมไว้มี ประการต่างๆ จักกระทำนิมิตแม้อย่างหยาบที่แผ่นดินบ้าง ที่ปลายของเขียวบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๕ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดใน กาลต่อไป ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล ซึ่งยังไม่บังเกิดใน บัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยเหล่านั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบโยธาชีวรรคที่ ๓
---------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. เจโตวิมุติสูตรที่ ๑ ๒. เจโตวิมุติสูตรที่ ๒ ๓. ธรรมวิหาริก- *สูตรที่ ๑ ๔. ธรรมวิหาริกสูตรที่ ๒ ๕. โยธาชีวสูตรที่ ๑ ๖. โยธา- *ชีวสูตรที่ ๒ ๗. อนาคตสูตรที่ ๑ ๘. อนาคตสูตรที่ ๒ ๙. อนาคต- *สูตรที่ ๓ ๑๐. อนาคตสูตรที่ ๔ ฯ
----------
**************************************************
ท่านผู้อ่านโปรดคลิกที่ลิงค์นี้ครับ http://hawk.blogth.com/17384/%C7%E8%D2%B4%E9%C7%C2%E0%C3%D7%E8%CD%A7%A1%D2%C3%BB%C3%D2%C3%C0%A4%C7%D2%C1%E0%BE%D5%C2%C3.html

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น