วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แบบอย่างของภิกษุผู้มักน้อย

พระสูตรวันนี้ขอกล่าวถึงอุบาสกในพระบวรพุทธศาสนาว่า ควรพิจารณาพระภิกษุอย่างไรว่าน่าเลื่อมใส ทั้งนี้บุคคลเมื่อทำบุญ หากประสงค์จะให้ได้บุญมาก ก็ควรพิจารณาดูว่า ภิกษุรูปใดหนอ อันเราเมื่อถวายทานแล้วอย่างนี้โดยปัจจัยที่เรามีจำกัด แต่ผลทานของเรานั้นจักมีผลมาก นำสุขมาแก่เราทั้งโลกนี้และโลกหน้า เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ เหตุการณ์เคยมีมาแล้วว่าอุบาสกท่านหนึ่งกระทำมหาทาน คือถวายทานแก่ชนเป็นอันมาก ทุกๆวันจนตลอดชีวิต แต่ผลทานที่ได้รับนั้นกลับน้อยกว่าผลทานที่อุบาสกอีกท่านหนึ่งถวายทานแก่ท่านพระอนุรุทธ์เถระเพียงครั้งเดียว จะเห็นว่าพระสูตรทั้งหมดในวันนี้นั้นว่าด้วยเรื่องจริยาของพระสงฆ์อันควรแก่ความเลื่อมใสทั้งสิ้นครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ตติยปัณณาสก์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

************************************
ตติยปัณณาสก์
ผาสุวิหารวรรคที่ ๑
๑. เวสารัชชกรณสูตร
[๑๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้า แห่งภิกษุผู้เสขะ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็น ผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นผู้ปรารภความเพียร ๑ เป็นผู้มี ปัญญา ๑ ความครั่นคร้ามใด ย่อมมีแก่ผู้ไม่มีศรัทธา ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่ มีแก่ผู้มีศรัทธา ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่ง ภิกษุผู้เสขะ ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ทุศีล ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มี ศีล ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ได้ศึกษาน้อย ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้เป็น พหูสูต ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้ เสขะ ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้เกียจคร้าน ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้ ปรารภความเพียร ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้า แห่งภิกษุผู้เสขะ ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้มีปัญญาทราม ความครั่นคร้ามนั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้มีปัญญา ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้ว กล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้ว กล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. สังกิตสูตร
[๑๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รังเกียจสงสัยว่าเป็นปาปภิกษุ แม้จะเป็นผู้มีอกุปปธรรม ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้คบหาหญิงแพศยา ย่อมเป็นผู้คบ หาหญิงหม้าย ย่อมเป็นผู้คบหาสาวเทื้อ ย่อมเป็นผู้คบหาบัณเฑาะก์ ย่อมเป็นผู้คบหา ภิกษุณี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่ รังเกียจสงสัยว่าเป็นปาปภิกษุ แม้จะเป็นผู้มีอกุปปธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. โจรสูตร
[๑๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อม ตัดที่ต่อบ้าง ย่อมปล้นทำลายบ้าง ย่อมทำการปล้น เฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ตีชิงในทางเปลี่ยวบ้าง องค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ มหาโจรในโลกนี้เป็นผู้อาศัย ที่ไม่ราบเรียบ ๑ เป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ ๑ เป็นผู้อาศัยคนมีกำลัง ๑ เป็นผู้ใช้จ่าย โภคทรัพย์ ๑ เป็นผู้เที่ยวไปคนเดียว ๑ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่ไม่ราบเรียบอย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้อาศัยที่ลุ่มแห่งแม่น้ำ หรือที่ไม่ราบเรียบแห่งภูเขา ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่ไม่ราบเรียบอย่างนี้แล ก็มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ อย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้อาศัยที่รกชัฏแห่งหญ้าบ้าง ที่รกชัฏแห่ง ต้นไม้บ้าง ฝั่งน้ำบ้าง ป่าใหญ่บ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ อย่างนี้แล ก็มหาโจรเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ ย่อม อาศัยพระราชาบ้าง มหาอำมาตย์แห่งพระราชาบ้าง เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจะกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเรา พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชา เหล่านี้จักช่วยว่าความให้ ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเขา พระราชาหรือ มหาอำมาตย์แห่งพระราชาเหล่านั้นก็ช่วยว่าความให้แก่เขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างนี้แล ก็มหาโจรย่อมแจกจ่ายโภคทรัพย์อย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เขาย่อมมีความคิดอย่าง นี้ว่า ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเรา เราจักจ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่อง นั้น ถ้าใครกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเขา เขาย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่อง นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างนี้แล ก็มหาโจรเป็น ผู้เที่ยวไปคนเดียวอย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้ทำโจรกรรมคนเดียว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาย่อมปรารถนาว่า เรื่องลับของเราอย่าได้แพร่งพราย ไปภายนอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวอย่างนี้แล มหาโจรผู้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล ย่อมตัดที่ต่อบ้าง ย่อมปล้นทำลายบ้าง ย่อม ปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ตีชิงในทางเปลี่ยวบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้น เหมือนกันแล ปาปภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูก กำจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ มีข้อที่วิญญูชนจะพึงติเตียน และย่อมประสบ บาปเป็นอันมาก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ อาศัยกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ ๑ เป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ ๑ เป็นผู้อาศัยคนมีกำลัง ๑ เป็น ผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ ๑ เป็นผู้เที่ยวไปคนเดียว ๑ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยกรรมที่ไม่สม่ำเสมออย่างไร คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ไม่ สม่ำเสมอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยกรรมที่ไม่สม่ำเสมออย่างนี้แล ก็ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏอย่างไร คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นมิจฉาทิฐิ ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฐิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏอย่างนี้ แล ก็ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างไร คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น ผู้อาศัยพระราชาบ้าง มหาอำมาตย์แห่งพระราชาบ้าง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเรา พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชา เหล่านี้ จักช่วยว่าความให้ ถ้าใครกล่าวหาเรื่องบางอย่างแก่เธอ พระราชาหรือ มหาอำมาตย์แห่งพระราชาเหล่านั้น ย่อมช่วยว่าความให้แก่เธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างนี้แล ก็ปาปภิกษุเป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างไร คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบาง อย่างกะเรา เราจักแจกจ่ายลาภกลบเกลื่อนเรื่องนั้น ถ้าใครกล่าวหาเรื่องบางอย่าง กะเธอ เธอย่อมแจกจ่ายลาภกลบเกลื่อนเรื่องนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุ เป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างนี้แล ก็ปาปภิกษุเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวอย่างไร คือ ปาป ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอยู่ชนบทชายแดนรูปเดียว เธอเข้าไปหาสกุล (บ้าน ญาติโยม) ในชนบทนั้น ย่อมได้ลาภ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้เที่ยวไป คนเดียวอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ มีข้อที่วิญญูชนจะพึง ติเตียน และประสบบาปเป็นอันมาก ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. สุขุมาลสูตร
[๑๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ ย่อม ชื่อว่าเป็นสมณะละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฯ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถูกขอร้องจึงใช้จีวรมาก ไม่ถูกขอร้องใช้จีวร น้อย ถูกขอร้องจึงบริโภคบิณฑบาตมาก ไม่ถูกขอร้องบริโภคบิณฑบาตน้อย ถูก ขอร้องจึงใช้เสนาสนะมาก ไม่ถูกขอร้องใช้เสนาสนะน้อย ถูกขอร้องจึงใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารมาก ไม่ถูกขอร้องใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารน้อย ฯ ๒. อนึ่ง เธอย่อมอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์ เหล่านั้น ย่อมประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรมอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่ เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมประพฤติต่อเธอด้วยวจีกรรมอันเป็นที่พอใจเป็น ส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมประพฤติต่อเธอด้วยมโนกรรมอัน เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งที่ควรนำ เข้าไปอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ฯ ๓. อนึ่ง เวทนามีดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็ดี มีลม เป็นสมุฏฐานก็ดี ที่เกิดเพราะสันนิบาตก็ดี ที่เกิดเพราะฤดูเปลี่ยนแปรก็ดี ที่เกิด เพราะการบริหารไม่เสมอก็ดี ที่เกิดเพราะความแก่ก็ดี ที่เกิดเพราะผลกรรมก็ดี ย่อมไม่บังเกิดแก่เธอมาก เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย ฯ ๔. เธอเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน ฯ ๕. เธอย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นสมณะละเอียด อ่อนในหมู่สมณะ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวผู้ใดว่า เป็น สมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวกะเรา นั่นเทียวว่า เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เพราะว่า เราถูกขอร้องจึงใช้ จีวรมาก ไม่ถูกขอร้องใช้จีวรน้อย ถูกขอร้องจึงบริโภคบิณฑบาตมาก ไม่ถูกขอ ร้องบริโภคบิณฑบาตน้อย ถูกขอร้องจึงใช้เสนาสนะมาก ไม่ถูกขอร้องใช้เสนาสนะน้อย ถูกขอร้องจึงใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารมาก ไม่ถูกขอร้องใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารน้อย และเราย่อมอยู่ร่วมกับภิกษุเหล่าใด ภิกษุเหล่านั้นย่อม ประพฤติต่อเราด้วยกายกรรม อันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็น ส่วนน้อย ย่อมประพฤติต่อเราด้วยวจีกรรมอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่ เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมประพฤติต่อเราด้วยมโนกรรมอันเป็นที่พอใจเป็น ส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งที่ควรนำเข้าไปอันเป็นที่พอใจ เป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย และเวทนามีดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่เกิดเพราะสันนิบาตก็ดี ที่เกิด เพราะฤดูเปลี่ยนแปรก็ดี ที่เกิดเพราะการบริหารไม่เสมอก็ดี ที่เกิดเพราะความแก่ ก็ดี ที่เกิดเพราะผลกรรมก็ดี ย่อมไม่บังเกิดแก่เรามาก เราเป็นผู้มีอาพาธน้อย เราเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมี ในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญา วิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึง กล่าวผู้ใดว่า เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าว โดยชอบ พึงกล่าวเรานั่นเทียวว่า เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. ผาสุวิหารสูตร
[๑๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วย เมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑ เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบ ด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑ เข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑ มีศีลอันไม่ ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหา และทิฐิไม่เกี่ยวเกาะ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ๑ มีทิฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก ย่อมนำออกเพื่อความสิ้นไป แห่งทุกข์โดยชอบ แห่งผู้กระทำ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและ ลับหลัง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. อานันทสูตร
[๑๐๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่โฆสิตารามใกล้เมืองโกสัม พี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์พึงอยู่เป็นผาสุก เพราะเหตุเท่าไรหนอแล ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วย ตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นในเพราะอธิศีล แม้เพราะเหตุเท่านี้ ภิกษุสงฆ์พึงอยู่ เป็นผาสุก ฯ
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่นซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์พึงอยู่ เป็นผาสุก พึงมีอยู่หรือ
พ. พึงมีอานนท์ แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นในเพราะอธิศีล และเป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ ใส่ใจผู้อื่น แม้เพราะเหตุเท่านี้ ภิกษุสงฆ์พึงอยู่เป็นผาสุก ฯ
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่นซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์พึงอยู่ เป็นผาสุก พึงมีอยู่หรือ
พ. พึงมีอานนท์ แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นในเพราะอธิศีล เป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ใส่ใจ ผู้อื่น และเป็นผู้ไม่มีชื่อเสียง ย่อมไม่สะดุ้งเพราะความไม่มีชื่อเสียงนั้น แม้ เพราะเหตุเท่านี้ ภิกษุสงฆ์พึงอยู่เป็นผาสุก ฯ
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่นซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์พึงอยู่ เป็นผาสุก พึงมีอยู่หรือ
พ. พึงมี อานนท์ แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นในเพราะอธิศีล เป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ใส่ใจ ผู้อื่น เป็นผู้ไม่มีชื่อเสียง ย่อมไม่สะดุ้งเพราะความไม่มีชื่อเสียงนั้น และเป็นผู้ ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็น เครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน แม้เพราะเหตุเท่านี้ ภิกษุสงฆ์พึงอยู่เป็นผาสุก ฯ
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปริยายแม้อื่นซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์พึงอยู่ เป็นผาสุก พึงมีอยู่หรือ
พ. พึงมี อานนท์ แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นในเพราะอธิศีล ฯลฯ เป็นผู้ได้ตามความ ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่ สบายในปัจจุบัน และย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุสงฆ์พึงอยู่เป็นผาสุก ดูกรอานนท์ อนึ่งเราย่อมกล่าว ได้ว่า ธรรมเครื่องอยู่เป็นผาสุกอย่างอื่น ที่ดีกว่าหรือประณีตกว่าธรรมเครื่องอยู่ เป็นผาสุกเช่นนี้ ย่อมไม่มี ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. สีลสูตร
[๑๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำ อัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ๑ เป็น ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสนะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อม เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำ อัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. อเสขิยสูตร
[๑๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของ พระอเสขะ ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ เป็นผู้ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อัน เป็นของพระอเสขะ ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติญาณทัสนขันธ์อันเป็นของพระ อเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อม เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
จบสูตรที่ ๘
๙. จาตุทิสสูตร
[๑๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ ย่อม เป็นผู้ควรเที่ยวไปได้ในทิศทั้ง ๔ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศีล เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วย อาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก ทรง จำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามใน เบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ๑ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้ได้ตามความ ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาณ ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่ สบายในปัจจุบัน ๑ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรเที่ยวไป ได้ในทิศทั้ง ๔ ฯ
จบสูตรที่ ๙
๑๐. อรัญญสูตร
[๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ควร เพื่อเสพอาศัยเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าและป่าชัฏ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ ได้สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรม ทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ เป็นผู้ปรารภความ เพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความ บากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายใน ปัจจุบัน ๑ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ควรเพื่อเสพอาศัยเสนาสนะ ที่สงัด คือ ป่าและป่าชัฏ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบผาสุวิหารวรรคที่ ๑
----------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. เวสารัชชกรณสูตร ๒. สังกิตสูตร ๓. โจรสูตร ๔. สุขุมาลสูตร ๕. ผาสุวิหารสูตร ๖. อานันทสูตร ๗. สีลสูตร ๘. อเสขิยสูตร ๙. จาตุทิสสูตร ๑๐. อรัญญสูตร ฯ
-----------------
*******************************
ท่านผุ้อ่านโปรดคลิกที่ลิงค์นี้ครับ http://hawk.blogth.com/17533/%E1%BA%BA%CD%C2%E8%D2%A7%A2%CD%A7%C0%D4%A1%C9%D8%BC%D9%E9%C1%D1%A1%B9%E9%CD%C2.html

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น