วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

คุณสมบัติของผู้จะเป็นศาสดา

ในกกุธวรรคที่ผมยกมาแสดงในวันนี้นั้น เป็นนามของกกุธเทพบุตร ผู้ซึ่งในอดีตครั้งยังเป็นมนุษย์เป็นอุบาสกผู้อุปัฏฐากท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าพระสูตรแรกๆนั้นกล่าวถึงธรรมที่ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้มีความถึงพร้อมอันจะได้บรรลุธรรม ประเด็นนี้ย่อมเป็นสิ่งยืนยันแนวความคิดว่า บุคคลจะประสบความรู้ความสามารถอย่างเลิศนั้นต้องอาศัยความพยายาม ก็เหมือนกับท่านผู้อ่านเดินเข้าไปในร้านฟาสต์ฟู้ดแล้ว แต่ควานหาเงินในกระเป๋าไม่เจอก็ไม่มีใครให้ท่านผู้อ่านกินฟรีน่ะครับ ความคิดที่ว่าผลแห่งความพยายามไม่มี ความเพียรเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ การฆ่าผุ้อื่นเป็นเรื่องของอาวุธแล่นผ่านไปในอวัยวะผุ้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่บาปกรรมลักษณะนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ผมนำมากล่าวแล้วหลายต่อหลายหน แต่ว่าคนดีๆที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่นจริงๆนั้นมีครับ คือองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเอง แต่พระองค์มิได้ทรงใช้วิธีเอาเงินไปแจกคนยากไร้ แต่ทรงสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ผู้มีปัญญา มีจิตสะอาดจะรู้ตามได้เร็ว ขณะที่พระองค์เองเป็นแบบอย่างที่ดีเลิศทั้งด้านพระปัญญาและด้านคุณงามความดี ไม่ทรงอาศัยความรู้ของผู้อื่นเลย ทรงอาศัยความรู้ของพระองค์เองล้วนๆ ฯลฯ

เพราะเหตุใดผมจึงกล่าวถึงเรื่องนี้ สาเหตุก็เพราะเนื้อหาพระสูตรครับ กกุธเทพบุตรนั้นมีรูปกายใหญ่โตราวกับเขตคามสองสามตำบล แต่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด ท่านมาแจ้งแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะซึ่งท่านเคารพนับถือว่า พระเทวทัตประกาศตนแล้วว่าจะปกครองสงฆ์แทนพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการกระทำอันเลวร้ายถึงที่สุดอย่างนี้ ฤทธิ์อันเกิดจากฌานของพระเทวทัตได้เสื่อมไปพร้อมๆกับความมีจิตใจที่เดิมยังพอมีความสะอาดอยู่บ้าง พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกร มหาโมคคัลลานะ เธอกำหนดรู้ด้วยใจแล้วหรือว่ากกุธเทพบุตรนั้น เมื่อกล่าวคำใดแล้ว คำนั้นเป็นคำอันเชื่อถือได้ ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลรับรองในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร โมคคัลลานะ เธอจงรักษาคำนั้น บัดนี้ โมฆบุรุษนั้นจะแสดงตัวตนออกให้ได้ทราบโดยชัดเจน ดูกร โมคคัลลานะ ศาสดาในโลกนี้อันเป็นชนนอกศาสนา เป็นปุถุชน มีอยู่ 5 จำพวกคือ
- ศาสดาที่มีศีลไม่บริสุทธิ์ ทั้งสาวกของศาสดานั้นก็ทราบดีว่าเขาไม่มีศีลบริสุทธิ์ แต่ก็พากันมองข้ามไปเพราะความศรัทธาว่า คนเช่นศาสดาตนนั้นมิใช่จะมีมากนัก แต่แน่ละ เหล่าสาวกย่อมต้องคอยปกป้องความเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ของศาสดาตน ทั้งศาสดาตนนั้นก็คาดหวังการปกป้องจากสาวกในเรื่องที่ตนมีศีลไม่บริสุทธิ์
- ศาสดาที่มีการงานไม่บริสุทธิ์ ทั้งสาวกของศาสดานั้นก็ทราบดีว่าเขาไม่มีการงานบริสุทธิ์ แต่ก็พากันมองข้ามไปเพราะความศรัทธาว่า คนเช่นศาสดาตนนั้นมิใช่จะมีมากนัก แต่แน่ละ เหล่าสาวกย่อมต้องคอยปกป้องความเป็นผู้มีการงานไม่บริสุทธิ์ของศาสดาตน ทั้งศาสดาตนนั้นก็คาดหวังการปกป้องจากสาวกในเรื่องที่ตนมีการงานไม่บริสุทธิ์
- ศาสดาที่มีการสอนธรรมไม่บริสุทธิ์ ทั้งสาวกของศาสดานั้นก็ทราบดีว่าเขาไม่มีการสอนธรรมบริสุทธิ์ แต่ก็พากันมองข้ามไปเพราะความศรัทธาว่า คนเช่นศาสดาตนนั้นมิใช่จะมีมากนัก แต่แน่ละ เหล่าสาวกย่อมต้องคอยปกป้องความเป็นผู้มีการสอนธรรมไม่บริสุทธิ์ของศาสดาตน ทั้งศาสดาตนนั้นก็คาดหวังการปกป้องจากสาวกในเรื่องที่ตนมีการสอนธรรมไม่บริสุทธิ์
- ศาสดาที่มีความสอดคล้องต้องกันในธรรมไม่บริสุทธิ์ ทั้งสาวกของศาสดานั้นก็ทราบดีว่าเขาไม่มีความสอดคล้องต้องกันในธรรมที่บริสุทธิ์ แต่ก็พากันมองข้ามไปเพราะความศรัทธาว่า คนเช่นศาสดาตนนั้นมิใช่จะมีมากนัก แต่แน่ละ เหล่าสาวกย่อมต้องคอยปกป้องความเป็นผู้มีความสอดคล้องต้องกันในธรรมไม่บริสุทธิ์ของศาสดาตน ทั้งศาสดาตนนั้นก็คาดหวังการปกป้องจากสาวกในเรื่องที่ตนมีความสอดคล้องต้องกันในธรรมไม่บริสุทธิ์
- ศาสดาที่มีความรู้แจ้งในธรรมไม่บริสุทธิ์ ทั้งสาวกของศาสดานั้นก็ทราบดีว่าเขาไม่มีความรู้แจ้งในธรรมที่บริสุทธิ์ แต่ก็พากันมองข้ามไปเพราะความศรัทธาว่า คนเช่นศาสดาตนนั้นมิใช่จะมีมากนัก แต่แน่ละ เหล่าสาวกย่อมต้องคอยปกป้องความเป็นผู้รู้แจ้งในธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ของศาสดาตน ทั้งศาสดาตนนั้นก็คาดหวังการปกป้องจากสาวกในเรื่องที่ตนมีความรู้แจ้งในธรรมที่ไม่บริสุทธิ์

ดูกร โมคคัลลานะ พระองค์เองมีศีลบริสุทธิ์ และไม่ต้องการการปกป้องจากสาวกในเรื่องศีล พระองค์มีการงานบริสุทธฺ์ และไม่ต้องการการปกป้องจากสาวกเรื่องการงานเพื่อเลี้ยงชีพ พระองค์มีการสอนธรรมที่บริสุทธิ์ และไม่ต้องการการปกป้องจากสาวกเรื่องการสอนธรรม พระองค์มีความสอดคล้องต้องกันในธรรมที่บริสุทธิ์ และไม่ต้องการการปกป้องจากสาวกเรื่องความสอดคล้องต้องกันในธรรมที่พระองค์ตรัสสอน พระองค์มีความรู้แจ้งในธรรมที่บริสุทธิ์ และไม่ต้องการการปกป้องจากสาวกเรื่องความรู้แจ้งในธรรมอันบริสุทธิ์ของพระองค์

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

************************************************
กกุธวรรคที่ ๕
๑. สัมปทาสูตรที่ ๑
[๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธาสัมปทา สีลสัมปทา สุตสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. สัมปทาสูตรที่ ๒
[๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สีลสัมปทา สมาธิสัมปทา ปัญญาสัมปทา วิมุตติสัมปทา วิมุตติญาณทัสสนสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. พยากรณสูตร
[๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การพยากรณ์อรหัต ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความเป็นผู้เขลา เพราะความ เป็นผู้หลง ๑ บุคคลผู้มีความอิจฉาลามก ผู้ถูกความอิจฉาครอบงำ ย่อมพยากรณ์ อรหัต ๑ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑ บุคคล ย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความสำคัญว่าได้บรรลุ ๑ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต โดยถูกต้อง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การพยากรณ์อรหัต ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. ผาสุสูตร
[๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ๑ บรรลุทุติยฌาน มีความ ผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ๑ ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ๑ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ๑ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้า ถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. อกุปปสูตร
[๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม แทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้บรรลุอัตถปฏิสัมภิทา ๑ เป็นผู้ได้บรรลุธรรม ปฏิสัมภิทา ๑ เป็นผู้ได้บรรลุนิรุตติปฏิสัมภิทา ๑ เป็นผู้ได้บรรลุปฏิภาณปฏิสัม- *ภิทา ๑ ย่อมพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบต่อกาลไม่นานนัก ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. สุตสูตร
[๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เสพ- *อานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบต่อกาลไม่นานนัก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจ น้อย เลี้ยงง่าย ยินดียิ่งในบริขารแห่งชีวิต ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบ ความเป็นผู้ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ๑ ย่อมเป็นผู้มีความง่วงนอนน้อย ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑ ย่อมเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรม ทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ ย่อมพิจารณาจิต ตามที่หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ แล เสพอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่ นานนัก ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. กถาสูตร
[๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เจริญ อานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจ น้อย เลี้ยงง่าย ยินดียิ่งในบริขารแห่งชีวิต ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบ ความเป็นผู้ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ๑ ย่อมเป็นผู้มีความง่วงนอนน้อยประกอบความ เพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑ ย่อมเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายแก่ธรรมเครื่องโปร่งจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ๑ ย่อมพิจารณาจิตตามที่ หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่ นานนัก ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. อรัญญสูตร
[๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ทำให้ มากซึ่งอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นาน นัก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย ยินดียิ่งในบริขารแห่งชีวิต ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ๑ ย่อมเป็นผู้มีความง่วงนอนน้อย ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑ ย่อมเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้อยู่ใน เสนาสนะอันสงัด ๑ ย่อมพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ทำให้มากซึ่งอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ฯ
จบสูตรที่ ๘
๙. สีหสูตร

[๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีหมฤคราชออกจากที่อยู่ในเวลาเย็น แล้ว ย่อมเยื้องกราย เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วออก เที่ยวไปหากิน สีหมฤคราชนั้น ถ้าแม้จะจับช้าง ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่พลาด ถ้าแม้จะจับกระบือ ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่พลาด ถ้าแม้จะจับโค ย่อมจับโดย แม่นยำ ไม่พลาด ถ้าแม้จะจับเสือเหลือง ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่พลาด ถ้า แม้จะจับเหล่าสัตว์เล็กๆ โดยที่สุดกระต่ายและแมว ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่ พลาด ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสีหมฤคราชนั้นคิดว่า ทางหากินของเราอย่า พินาศเสียเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าสีหะนั้นแล เป็นชื่อแห่งตถาคตอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ที่ตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัทนี้แล เป็นสีหนาทของตถาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ตถาคตจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมแสดง โดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ย่อม แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสิกา ทั้งหลาย ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่ ปุถุชนทั้งหลาย ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ โดยที่สุดแม้แก่ คนขอทานและพรานนก ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะตถาคตเป็นผู้หนักในธรรม เคารพในธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๙
๑๐. กกุธสูตร
[๑๐๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตารามใกล้เมือง โกสัมพี ก็สมัยนั้นแล บุตรเจ้าโกลิยะนามว่ากกุธะ ผู้อุปัฏฐากท่านพระมหา- *โมคคัลลานะ กระทำกาละไม่นาน ได้บังเกิดในหมู่เทพชื่อว่าอโนมยะหมู่หนึ่ง เป็นผู้ได้อัตภาพ [ใหญ่] เหมือนคามเขตในแว่นแคว้นมคธสองสามหมู่ เพราะ การได้อัตภาพนั้น เขาย่อมไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ครั้งนั้น แล กกุธเทพบุตรได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืน อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเทวทัต เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ และพระเทวทัตได้เสื่อมจาก ฤทธิ์นั้น พร้อมกับจิตตุปบาท ครั้นกกุธเทพบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาทท่าน พระมหาโมคัลลานะ ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น ลำดับนั้น ท่านพระมหา โมคคัลลานะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุตรแห่งเจ้าโกลิยะ นามว่ากกุธะผู้อุปัฏฐากข้าพระองค์ กระทำกาละไม่นาน ได้บังเกิดในหมู่เทพชื่อ ว่าอโนมยะหมู่หนึ่ง เป็นผู้ได้อัตภาพ [ใหญ่] เหมือนคามเขตในแว่นแคว้นมคธ สองสามหมู่ เพราะการได้อัตภาพนั้น เขาย่อมไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน ครั้งนั้น กกุธเทพบุตรได้เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเทวทัตเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ พระเทวทัตได้ เสื่อมจากฤทธิ์นั้น พร้อมกับจิตตุปบาท กกุธเทพบุตรครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาทข้าพระองค์ ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโมคคัลลานะ ก็กกุธเทพบุตรเธอกำหนด รู้ใจด้วยใจดีแล้วหรือว่า กกุธเทพบุตรกล่าวสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมเป็นอย่างนั้น ทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น ฯ
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กกุธเทพบุตรข้าพระองค์กำหนดรู้ใจด้วยใจดี แล้วว่า กกุธเทพบุตรกล่าวสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมเป็นอย่างนั้นทีเดียว ไม่เป็น อย่างอื่น ฯ
พ. ดูกรโมคคัลลานะ เธอจงรักษาวาจานั้น บัดนี้ โมฆบุรุษนั้นจักทำ ตนให้ปรากฏด้วยตนเอง ดูกรโมคคัลลานะ ศาสดา ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ใน โลก ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มี ศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขา อย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราจักบอกพวกคฤหัสถ์ก็ ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเราจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่าง ไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน- *ปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองจักปรากฏด้วยกรรม นั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยศีล และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวัง เฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยศีล ฯ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ ย่อม ปฏิญาณว่า เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ อาชีวะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้า หมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ อาชีวะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้า หมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกพวกคฤหัสถ์ ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเรา จะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่างไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ศาสดานี้ จักทำกรรมใด เขาเองจักปรากฏด้วยกรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดา เช่นนี้โดยอาชีวะ และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดย อาชีวะ ฯ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์ ผ่อง แผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มี ธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนา ของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกพวกคฤหัสถ์ ก็ ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเราจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่าง ไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน- *ปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ท่านศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองก็จักปรากฏด้วย กรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยธรรมเทศนา และศาสดา เช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากสาวกโดยธรรมเทศนา ฯ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ไวยากรณ์ของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มีไวยากรณ์ ไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ไวยากรณ์ของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกพวกคฤหัสถ์ ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจ ของท่าน ก็พวกเราจักกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่างไรได้ อนึ่ง มหาชน ย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองจักปรากฏด้วยกรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษา ศาสดาเช่นนี้โดยไวยากรณ์ และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากพวก สาวกโดยไวยากรณ์ ฯ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่อง แผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มี ญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกพวก คฤหัสถ์ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเราจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของ ท่านนั้นอย่างไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองจักปรากฏ ด้วยกรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยญาณทัสสนะ และ ศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยญาณทัสสนะ ดูกรโมคคัล- *ลานะ ศาสดา ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ ดูกรโมคคัลลานะ เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีศีล บริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเรา โดยศีล และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยศีล เราเป็นผู้มีอาชีวะ บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ อาชีวะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยอาชีวะ และเราก็ไม่หวังเฉพาะการ รักษาจากพวกสาวกโดยอาชีวะ เราเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยธรรมเทศนา และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจาก พวกสาวกโดยธรรมเทศนา เราเป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็น ผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ไวยากรณ์ของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวก สาวกย่อมไม่รักษาเราโดยไวยากรณ์ และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจากพวก สาวกโดยไวยากรณ์ เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มี ญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยญาณทัสสนะ และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจาก พวกสาวกโดยญาณทัสสนะ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบกกุธวรรคที่ ๕
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. สัมปทาสูตรที่ ๑ ๒. สัมปทาสูตรที่ ๒ ๓. พยากรณสูตร ๔. ผาสุสูตร ๕. อกุปปสูตร ๖. สุตสูตร ๗. กถาสูตร ๘. อรัญญสูตร ๙. สีหสูตร ๑๐. กกุธสูตร ฯ
จบทุติยปัณณาสก์
-----------
*********************************************************
ท่านผู้อ่านโปรดคลิกที่ลิงค์นี้ครับ http://hawk.blogth.com/17437/%A4%D8%B3%CA%C1%BA%D1%B5%D4%A2%CD%A7%BC%D9%E9%A8%D0%E0%BB%E7%B9%C8%D2%CA%B4%D2.html

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น